เครือซีพีจับมือคณะวิศวฯ จุฬาฯ พัฒนาหลักสูตรสร้างบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัล

เครือซีพีจับมือคณะวิศวฯ จุฬาฯ พัฒนาหลักสูตรสร้างบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัล

เครือซีพี จับมือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาหลักสูตรแบบ Co-Creation สร้างบุคลากรด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล ให้นิสิตทุกชั้นปีได้เรียนรู้พร้อมลงมือปฏิบัติจริงผ่านการฝึกงานกับธุรกิจในเครือฯ แก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรและเพิ่มผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านรองรับยุคอุตสาหกรรม 4.0

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567  เครือเจริญโภคภัณฑ์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล (Bachelor of Engineering in Computer Engineering and Digital Technology) ภายใต้การจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) โดยศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นางสาวพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เป็นผู้ลงนาม มี ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหาร สำนักยุทธศาสตร์ข้อมูลและการสื่อสาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนองค์กรและการพัฒนากลยุทธ์ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรรถวิทย์ สุดแสง หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมออดิทอเรียม TRUELAB อาคาร 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้  มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล และส่งเสริมความร่วมมือเชิงลึกในการร่วมกันพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมระหว่างสถานประกอบการและสถาบันการศึกษา เนื่องจากในยุคอุตสาหกรรม 4.0 เป็นยุคที่ต้องการกำลังคนที่มีความรู้ในหลากหลายด้านเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน รองรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้กับสถานประกอบการ โดยเฉพาะวิศวกรคอมพิวเตอร์ ที่มีความรู้ทั้งด้านระบบฮาร์ดแวร์ซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์และเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลสมัยใหม่  แต่ระบบการศึกษาปัจจุบันผลิตกำลังคนที่มีความรู้ความสามารถและทักษะเฉพาะด้านไม่ทันต่อความต้องการ ทำให้สถานประกอบการประสบปัญหาการขาดแคลนกำลังคน ดังนั้น หากสามารถพัฒนารูปแบบความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมและการพัฒนากำลังคนด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเป็นระบบ ทั้งในด้านทัศนคติการทำงาน และระบบที่ทำให้เกิดการพัฒนาทักษะไปพร้อมกัน จะสามารถลดปัญหาการขาดแคลนกำลังคนด้านดิจิทัลในระดับประเทศได้

ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล

ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นการทดลองหลักสูตรรองรับการศึกษาที่ปรับมุมมองให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีแพลตฟอร์มแห่งการเรียนรู้มากขึ้น  โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เลือกเรียนตามความสนใจ ค้นหาความถนัดของตัวเองและดูความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งหลักสูตรนี้จะให้นิสิตเข้าร่วมฝึกงานกับบริษัทในเครือซีพีได้ตั้งเเต่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 1 ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ของระบบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยจากปกตินิสิตจะเข้าฝึกงานได้เมื่อศึกษาชั้นปีที่ 4 ทั้งนี้ ขอขอบคุณเครือซีพีที่เข้ามามีส่วนในการสร้างทรัพยากรบุคคล สร้างคนให้ทันต่อความต้องการของภาคส่วนต่าง ๆ และประชาคมโลก เพราะต้องยอมรับว่าในระบบการศึกษาการเรียนเชิงลึกต้องอาศัยความรู้และทักษะรอบด้าน การดึงภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนจึงมีความจำเป็นอย่างมาก ซึ่งเครือซีพีถือเป็นองค์กรที่มีความโดดเด่นในการให้ความสำคัญกับการศึกษาและการสร้างทรัพยากรมนุษย์ 

พิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล

นางสาวพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ต้องการกำลังคนด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลจำนวนมาก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กร ในการเดินหน้าสู่เป้าหมายการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการสร้างอาหารคน อาหารสมอง โอกาสในการเข้าถึงคุณค่า เพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคน เครือฯ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ เนื่องจากหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นรากฐานที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศด้านเทคโนโลยี และการสร้างทรัพยกรบุคคลยังมีผลต่อการพัฒนาประเทศมากที่สุด สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจตามหลักปรัชญา 3 ประโยชน์ ของเครือซีพี คือการทำประโยชน์ต่อประเทศชาติ สังคม และบริษัท ผ่านการสร้างคน สร้างอนาคต สร้างเครือข่าย การพัฒนาหลักสูตรแบบ Co-Creation ทำให้สามารถผลิตบัณฑิตที่มีทักษะและมีความรู้ด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล อีกทั้ง เป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษา ได้เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริงตลอดห่วงโซ่คุณค่าในสถานประกอบการของเครือซีพี เพื่อผลิตบัณฑิตให้ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมและตลาดแรงงาน รวมถึงต่อยอดองค์ความรู้และนวัตกรรมระหว่างภาคธุรกิจและภาคการศึกษา ยกระดับมาตรฐานการศึกษาและการวิจัยของประเทศไทย ซึ่งเครือซีพีมีธุรกิจครอบคลุมกว่า 20 ประเทศทั่วโลก จึงเป็นโอกาสที่นิสิตจะสามารถต่อยอดไปได้อีกในอนาคต ทั้งนี้ ได้มีการตั้งเป้ารับนิสิตเข้าร่วมโครงการจำนวน 630 คน ตลอดระยะเวลาของโครงการ 

สุพิชญา ภูมิมาตร

นางสาวสุพิชญา ภูมิมาตร นิสิตชั้นปีที่ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้เป็นนักศึกษาฝึกงานกับ ทรู คอร์ปอเรชั่น ตำแหน่งแอนดรอยด์ดีเวลลอปเปอร์ ซึ่งมีความหลากหลายทางเลือกให้ศึกษาหาความรู้ ทั้งแอปพลิเคชันทรูไอดี ทรูปลูกปัญญา และทรูมันนี่วอลเล็ท จึงมีความคาดหวังว่าจะได้พัฒนาทักษะในด้านต่าง ๆ ฝึกการทำงานเป็นทีมกับผู้ที่มีประสบการณ์ และการที่ได้รับโอกาสให้เข้าร่วมฝึกงานตั้งเเต่เรียนชั้นปีที่ 1 ทำให้มีเวลาค้นหาตัวเองเพื่อจะได้ทำในสิ่งที่ชอบ

เพิ่มเติมที่ : https://www.facebook.com/share/jJ1Ju5wiF859FX9A/?mibextid=WC7FNe