ต่างภาษา ต่างสัญชาติ รับสิทธิประกันสังคม ทั่วถึง เท่าเทียม

สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เผย พนักงานลูกจ้างแรงงานต่างด้าวไม่ว่าจะสัญชาติ ลาว กัมพูชา และเมียนมา ที่มีเอกสารการทำงานถูกต้อง เข้าระบบการทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน  หากประสบเหตุจากการทำงาน สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพสามารถรับสิทธิประโยชน์ประกันสังคมอย่างทั่วถึง ครอบคลุม

แรงงานต่างด้าวสัญชาติ ลาว กัมพูชา และเมียนมา หากจะได้สวัสดิการและความคุ้มครองจากสำนักงานประกันสังคมนั้น จะต้องเป็นแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ต้องผ่านการพิสูจน์สัญชาติ และมีเอกสารใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) และ หนังสือเดินทาง (Passport) หรือเอกสาร แสดงตัวแทนหนังสือเดินทาง เช่น บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรชมพู) ต้องแจ้งขึ้นทะเบียน การเป็นลูกจ้างตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 และเป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างได้รับหลักฐานเอกสารครบถ้วน สำหรับอัตราการนำส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม กำหนดให้ผู้ประกันตนต้องนำส่งเงินสมทบในอัตราร้อยละ 5 จากค่าจ้างรายเดือน ซึ่งค่าจ้างที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบของผู้ประกันตน กำหนดเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท เมื่อลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 และได้นำส่งเงินสมทบจะได้รับความคุ้มครองใน 7 กรณี ได้แก่ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน

ทั้งนี้ กรณีลูกจ้างต่างด้าวประสบเหตุบาดเจ็บจากการทำงาน จนสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพ ก็สามารถได้รับสิทธิเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู ณ ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน ได้เช่นเดียวกับแรงงานไทย ซึ่งก็จะให้การฟื้นฟูให้สามารถกลับไปช่วยเหลือตนเองได้ในมาตรฐานเดียวกัน

Advertisment

สอดคล้องกับคำบอกเล่าของ นาย Vin Vat อายุ 34 ปี ชาวกัมพูชา ผู้เข้ารับการฟื้นฟูที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานปทุมธานี ได้ให้ข้อมูลว่า ประสบอุบัติเหตุจากจากการโดนเหล็กแม่พิมพ์ปั๊มจนกระดูกข้อมือแตกละเอียดขณะทำงาน ต้องทำการรักษาโดยการตัดมือ ส่งผลให้สูญเสียอวัยวะสำคัญ แต่ด้วยเป็นผู้ประกันตนประกันสังคม จึงสามารถรับสิทธิจากกองทุนเงินทดแทน ทั้งในเรื่องของเงินทดแทนค่าสูญเสียอวัยวะ และเข้ารับการฟื้นฟู พร้อมทั้งได้รับมือเทียมทดแทนอวัยวะที่สูญเสียไป ซึ่งนอกจากจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจแล้ว ยังมีหน่วยงานกลางที่ช่วยประสานงานกับนายจ้าง เพื่อให้สามารถกลับเข้าทำงานกับนายจ้างเดิมได้ หลังเข้ารับการฟื้นฟู ส่งผลให้ไม่ต้องรู้สึกเคว้งคว้าง หรือถูกทอดทิ้ง ทั้งที่ไม่ได้เป็นคนไทย ทำให้เห็นคุณค่าของสิทธิประกันสังคมอย่างยิ่ง เพราะเป็นหลักประกันที่ช่วยให้มีทางออกในการใช้ชีวิต สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ไม่เป็นภาระของครอบครัว

และทั้งหมดนี้คือสิทธิประโยชน์ ที่ลูกจ้างจะได้รับเมื่อประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน

หากมีข้อสงสัยสามารถตรสจสอบ หรือติดตามข่าวสารสำนักงานประกันสังคมผ่านทางช่องทางต่าง ๆ ได้ที่

Website : www.sso.go.th

Advertisment

Facebook: สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน

Instagram: sso_1506

Twitter: @sso1506

YouTube : สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน

Hotline: 1506 (ตลอด 24 ชั่วโมง)

LINE : @SSOTHAI

TikTok : @SSONEWS1506