4 มาตรการหลักเพื่อให้แนวโน้มผู้ป่วย และผู้มีความเสี่ยงโควิด-19 ลดลง

คอลัมน์ สุขภาพดีกับรามาฯ อ.พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด

มาตรการหลักเพื่อให้แนวโน้มผู้ป่วยและผู้มีความเสี่ยงในการติดโรคโควิด-19 ในประเทศไทยและทั่วโลกลดลง หรือ เรียกกันว่า flatten the curve เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 มีความรุนแรงมากขึ้นเข้าระยะที่สามในประเทศไทย และมีแนวโน้มผู้ป่วยใหม่เพิ่มมากขึ้นวันละประมาณ 100 คน ส่งผลต่อระบบสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคมเป็นอย่างมาก หมอจึงขอย้ำมาตรการที่สำคัญที่ทำได้ง่าย ดังต่อไปนี้

1.มาตรการ hand hygiene การล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ตั้งแต่ร้อยละ 70 เป็นต้นไป โดยล้างอย่างน้อย 20 วินาทีให้ทั่วมือ โดยเน้น 5 ขั้นตอนหลักดังนี้ 1.ฝ่ามือกับฝ่ามือรวมทั้งซอกนิ้ว 2.ฝ่ามือกับหลังมือรวมทั้งซอกนิ้ว 3.เล็บและซอกเล็บทั้งสองข้างโดยถูกับฝ่ามือหรือหลังมือ 4.นิ้วหัวแม่มือ 5.ข้อมือ โดยทั้งหมดนี้ทำสองข้างสลับกันไป อย่าลืมถอดเครื่องประดับหรือล้างรอบเครื่องประดับ เช่น แหวน หรือสร้อยข้อมือให้สะอาดด้วย ที่สำคัญคือ หากใช้แอลกอฮอล์เจล กรุณาตรวจสอบคุณภาพ เนื่องจากในท้องตลาดเริ่มมีแอลกอฮอล์เจลที่มีความเข้มข้นไม่ถึงเกณฑ์หรือใช้สารอื่น ๆ ทดแทนที่อาจเป็นอันตรายได้

2.มาตรการ social distancing หรือการเว้นระยะห่างทางสังคม หรืออีกคำหนึ่งที่ใช้กันมากคือ physical distancing หรือการเว้นระยะห่างทางกายภาพระหว่างบุคคล คือพยายามให้ห่างจากผู้อื่น อย่างน้อย 1.5 ถึง 2 เมตร เพราะมีการศึกษาวิจัยมาแล้วว่า การแพร่กระจายเชื้อละอองฝอยจากการไอจามอาจไปไกลถึง 1.5 เมตร หรือมากกว่านั้นหากไอจามอย่างรุนแรง ดังนั้น การรักษาระยะห่างทำให้ลดการรับเชื้อ นอกจากนี้ ละอองฝอยจากการไอจามหรือสารคัดหลั่งต่าง ๆ อาจตกบริเวณร่างกายหรือเสื้อผ้าของผู้ติดเชื้อ ทำให้การอยู่ใกล้ชิดกันเกิดการสัมผัสและเมื่อเราจับตา จมูก หรือปาก จะทำให้เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย

งดเว้นกิจกรรมที่รวมกลุ่มกัน เช่น กิจกรรมร้องเพลงหมู่ ซึ่งพบรายงานในสหรัฐอเมริกาว่ามีคนติดมากกว่า 40 คนในจำนวน 60 คนแม้ว่าจะอยู่ห่างกันและล้างมือสม่ำเสมอแล้ว อีกส่วนหนึ่งคือการลดการพูดคุยขณะอยู่ในที่แออัดหรือในที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เช่น ในลิฟต์ หรือรถโดยสารสาธารณะ โดยเฉพาะหากใส่หน้ากากผ้าบางชนิดหรือหน้ากากอนามัยที่ไม่ได้มาตรฐาน น้ำลายหรือสารคัดหลั่งอาจซึมออกมาที่ด้านนอกของหน้ากาก ทำให้ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ขณะนี้มีรายงานพบว่า การติดเชื้อโดยที่มีการทานอาหารร่วมกัน ดื่มเครื่องดื่มแก้วเดียวกันเพิ่มอัตราการติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้น การรับประทานอาหารแยกกันห่าง ๆ หรือหลายจังหวัดให้ทานอาหารเฉพาะซื้อกลับไปรับประทานที่บ้าน ไม่ให้รับประทานที่ร้านอาหาร หรือทานที่ร้านอาหารโดยเว้นที่นั่งให้ห่างกันก็มีความสำคัญ

3.มาตรการ visitor restriction หรือการลดผู้มาเยี่ยมเยียน ทั้งในสถานพยาบาลและในบ้านเรือน เนื่องจากโควิด-19 มีการระบาดทั่วไปเป็นจำนวนมาก ขณะนี้ในประเทศไทยพบว่ามีผู้ป่วยหลายรายติดมาจากผู้มาเยี่ยมเยียนเดินทางมาจากต่างประเทศหรือในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ภายหลัง ทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อโดยเจ้าของบ้านหรือผู้ป่วยในสถานพยาบาลไม่ได้ระวังตัวมาก่อน อย่างไรก็ตาม หากรักษาระยะห่างทางสังคม และสุขอนามัยส่วนบุคคลโดยเฉพาะการล้างมือเป็นประจำจะช่วยได้ส่วนหนึ่ง

4.การจำกัดการเข้าออกของผู้ที่เดินทางมาจากประเทศหรือพื้นที่เสี่ยง ที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่อง หรือมีมาตรการที่รองรับ เช่น มีการกักตัวผู้ที่เดินทางเข้ามา 14 วัน และการกักตัวของผู้ที่มีความเสี่ยงหรือสัมผัสผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 โดยมีมาตรการในการดูแลติดตามกำกับอย่างใกล้ชิด ร่วมกับความซื่อสัตย์ต่อตนเอง และความรับผิดชอบต่อสังคมมีความสำคัญมาก จะช่วยลดความเสี่ยงต่อคนในครอบครัว ชุมชน สังคม ไปถึงระดับประเทศ รวมทั้งลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย

หมายเหตุ : อ.พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล