บ้านไร่ไออรุณ สืบสานพระราชปณิธาน ร.๙

หลายคนคงรู้จัก “บ้านไร่ไออรุณ” บ้านที่เกิดจากแนวความคิดของสถาปนิกหนุ่มที่ยอมทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างในเมืองใหญ่ เพียงเพื่อกลับมาใช้ชีวิตแบบพอเพียงที่บ้านเกิดกับพ่อแม่ในตำบลกะเปอร์ อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง

กล่าวกันว่าความพอเพียงของเขาจะไม่ได้รับการพูดถึงเลย หากสิ่งที่เขาทำจะเกิดประโยชน์แต่เฉพาะบ้านของเขาเพียงครอบครัวเดียว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเขากลับทำให้ชุมชนโดยรอบ คนรุ่นใหม่ในเมือง หรือแม้แต่องค์กรน้อยใหญ่มากมาย ล้วนต่างได้รับแรงบันดาลใจอันเป็นพลังบวกจากสิ่งที่เขาสร้างขึ้น จนกลายเป็นบุคคลต้นแบบด้านการใช้ชีวิตแบบพอเพียง ด้วยการใช้สิ่งที่มีอยู่ในหมู่บ้านทั้งหมด นำมาต่อยอด และขยายผลสู่วงกว้างในที่สุด

“วิโรจน์ ฉิมมี” ผู้ก่อตั้งบ้านไร่ไออรุณ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเขาไม่มีความรู้มากนักเกี่ยวกับทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง เพราะเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยทำงาน ผมก็เป็นมนุษย์เงินเดือนคนหนึ่งที่ทำงาน รับเงินเดือน ใช้จ่ายไปกับสิ่งของล่อตาล่อใจมากมายในเมืองหลวง ทั้งยังเป็นหนี้บัตรเครดิต ใช้หนี้ วนเวียนอยู่อย่างนั้น

“จนวันหนึ่ง ผมหวนคิดถึงความปรารถนาที่แท้จริงของตัวเอง คิดถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมตัดสินใจเรียนคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี จ.ปทุมธานี บวกกับความฝันในวัยเยาว์ที่อยากสร้างบ้านสวย ๆ ให้พ่อแม่อยู่ โดยมีผม และน้องสาวอยู่ด้วยกันในบ้านหลังนั้น ไม่ใช่การทำงานอย่างเอาเป็นเอาตายในเมืองใหญ่อย่างที่ผ่านมา เพราะบ้านที่พ่อแม่อยู่เป็นกระท่อมหลังน้อย และตอนนั้นเริ่มทรุดโทรมแล้ว พอทุกครั้งที่กลับบ้าน ผมเห็น ก็ทำให้คิดว่ากระท่อมหลังนี้ไม่มีแม้แต่เงาของเราเอง”

ตรงนี้คือ “จุดเปลี่ยน” ที่ทำให้ “วิโรจน์” ตัดสินใจกลับบ้าน พร้อมกับตั้งปณิธานในใจว่า…เราจะนำความรู้ไปพัฒนาบ้านเกิด

Advertisment

“วิโรจน์” บอกว่าจากคนที่แทบไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงเลย แต่เมื่อเริ่มก่อตั้งบ้านไร่ไออรุณ จึงค้นพบว่าสิ่งเหล่านี้สามารถเชื่อมโยงไปสู่ทฤษฎีนี้ได้โดยตรง แต่กระนั้น เราจะต้องรู้จักตนเองก่อน

“เพราะเมื่อรู้จักตนเองแล้ว จะทำให้รู้จักความพอประมาณ เพราะบ้านไร่ไออรุณ เกิดขึ้นด้วยหลักการพัฒนาจากพื้นที่ที่มี ไม่ใช่การเปลี่ยนพื้นที่ที่มีให้เป็นอย่างอื่น ตรงนี้ทำให้ผมค้นพบความมีเหตุผล รู้ถึงความจำเป็นของการดำเนินธุรกิจ ที่นี่จึงไม่มีการกู้เงิน หรือทำอะไรเกินกำลัง แม้จะมีอุปสงค์จากภายนอกถั่งโถมเข้ามาอย่างหนักก็ตาม แต่เราก็มีภูมิคุ้มกันตัวเอง”

“เพราะภูมิคุ้มกันดีที่สุดคือลูกค้า ที่ผ่านมามีกระแสต่าง ๆ มากมาย ทั้งความผิดพลาด ความไม่พร้อม หรือในแง่ความสะดวกสบายบางประการ แต่สิ่งที่ทำให้ผมยืนหยัด และมั่นใจต่อภูมิคุ้มกันคือลูกค้าเข้าใจ และชอบบ้านไร่ไออรุณในแบบที่เป็น ทำให้ที่นี่จึงยืนหยัดอยู่ได้ โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงตามใคร ไม่ต้องตามกระแสใด ๆ”

“แต่การจะพอเพียงได้ สิ่งแรกคือเราต้องรู้จักตนเอง รู้ว่าเราชอบอะไร อยากทำอะไร ฝันอะไร แล้วตัวเองมีอะไร เมื่อรู้จักตนเอง เราจะประมาณตนได้ว่าเราจะทำหรือไม่ เกินกำลังหรือเปล่า ที่สุดเราจะมีภูมิคุ้มกันตัวเอง ทุกวันนี้ลูกค้าเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับเรา จนทำให้เราเป็นตัวของตัวเอง ลูกค้าชอบในแบบที่เราเป็น เขาไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เราเป็นอยู่”

Advertisment

แต่เมื่อมีกระแสความต้องการที่จะเข้ามาพักบ้านไร่ไออรุณค่อนข้างมาก จึงทำให้ใครหลายคนบอก “วิโรจน์” ว่าควรจะต้องขยายกิจการได้แล้ว ต้องลงทุนเพิ่ม อย่างไรเสียธนาคารยอมปล่อยกู้อยู่แล้ว เขายอมรับว่าโอกาสเปิดก็จริง แต่เขากลับไม่เลือกโอกาสแบบนั้น

“เพราะผมรู้ตัวเอง การรู้ตัวเองช่วยทำให้เราประมาณตนเองได้ ทั้งยังทำให้เรามีภูมิคุ้มกันจากคนอื่นด้วย เพราะคนอื่นหรือคนในชุมชนเขาก็จะช่วยเรา ช่วยทำให้เรารู้จักกับคำว่าแบ่งปัน เพราะทุกสิ่งที่เราทำ นอกเหนือจากคนในครอบครัวของเราที่ช่วยเหลือแล้ว คนในชุมชนเดียวกัน ยังเข้ามาช่วยเหลือเราด้วย โดยเฉพาะแรก ๆ ของการก่อตั้งบ้านไร่ไออรุณ จนทำให้ผมเริ่มเข้าใจหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กระทั่งนำมาปรับใช้กับธุรกิจในวันนี้”

“โดยเฉพาะเรื่องการแบ่งปัน ทุก ๆ เดือนผมจะไปพูดตามเวทีต่าง ๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่น้อง ๆ นักเรียน นักศึกษา ผมเชื่อว่าขอเพียงมีผู้ฟังสัก 1-2 คน ฟังแล้วกลับไปคิดต่อ ฟังแล้วกลับไปพัฒนาบ้านเกิดของเขา ก็นับว่าประสบความสำเร็จแล้วจากการพูดทุกเดือน และหากมีโมเดลแบบนี้ทุกตำบล ทุกจังหวัด สังคมของเราจะน่าอยู่มาก”

“สำหรับเนื้อหาของการพูดคุย ผมจะเน้นการสร้างพลังบวก แม้ในหลวงรัชกาลที่ 9 จะไม่อยู่แล้วก็ตาม แต่ผมเชื่อว่าคำสอนของพระองค์ยังอยู่ และยังนำไปปรับใช้ได้เสมอ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเท่าไหร่ก็ตาม ผมจึงมีความเชื่อว่าหากคนรุ่นใหม่นำความรู้กลับไปพัฒนาบ้านเกิด สังคมจะต้องน่าอยู่แน่นอน แต่ทั้งนี้ การกลับไปพัฒนาบ้านเกิด ไม่ใช่การกลับไปทำตามเทรนด์ แต่จะต้องกลับไปพัฒนาจากสิ่งที่ตัวเองมี พัฒนาจากองค์ความรู้ ไม่ใช่การพัฒนาจากตัวเงิน ทั้งยังจะต้องทำให้เกิดรายได้กับชุมชนด้วย”

ส่วนในแง่การทำธุรกิจ “วิโรจน์” เชื่อว่าเราต้องมีความคิดสร้างสรรค์ด้วย ความพอเพียงไม่จำเป็นต้องอยู่อย่างอัตคัด ทุกอย่างต้องประยุกต์ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์แบบคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่แบบคนรุ่นเก่า แต่กระนั้น เราต้องนำความชำนาญของคนรุ่นเก่ามาประยุกต์กับสิ่งที่เราคิด วางแผนแบบคนรุ่นใหม่ ด้วยการสร้างความสมดุล เช่น การนำวัสดุท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้กับการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ โดยอาศัยภูมิปัญญาของพวกเขา

“ขณะเดียวกัน ก็ต้องใช้ไอเดียแบบเราเข้าไปผสมผสาน เพราะนักท่องเที่ยวในปัจจุบันชอบแนวไลฟ์สไตล์ เราจึงต้องปรับเทรนด์ให้ไปทางนี้ และออกแบบบ้านพักให้ดูกลมกลืนกับธรรมชาติ สอดรับกับความต้องการของพวกเขา แต่จะต้องไม่ฝืนธรรมชาติ ก็จะทำให้สิ่งที่เราคิด ฝัน รวมถึงสิ่งที่คนรุ่นเก่ามีความชำนาญอยู่ก่อนแล้วมีความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว”

“ฉะนั้น ถ้าถามว่าผมจะสืบสานพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 อย่างไร โดยเฉพาะเรื่องการถ่ายทอด และแบ่งปัน ผมอยากบอกว่าเป้าหมายที่จะทำต่อไปของบ้านไร่ไออรุณคือความตั้งใจที่จะพัฒนา และประชาสัมพันธ์ชุมชน อ.กะเปอร์ จ.ระนอง ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ด้วยการทำโชว์รูมงานจักสานแนวสร้างสรรค์, สินค้าเชิงเกษตร, เฟอร์นิเจอร์ที่พัฒนาร่วมกับคนในชุมชน”

“โดยผมจะเข้าไปช่วยพัฒนาด้านการออกแบบ ทั้งยังมีแผนสร้างโรงเรียนสอนศิลปะให้แก่เด็ก ๆ เพราะบ้านไร่ไออรุณมีวันนี้ได้ เพราะความคิดสร้างสรรค์ ผมจึงอยากมอบโอกาสนี้ให้แก่คนรุ่นถัดไป เพื่อให้พวกเขาเรียนในสิ่งที่ตนเองสนใจ แล้วนำกลับมาพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง ผมอยากให้คนรุ่นใหม่กลับบ้านเกิด เพื่อมาพัฒนาท้องถิ่นของตน โดยมีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว และใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่เป็นต้นทุน โดยมีความคิดสร้างสรรค์เป็นอาวุธ ด้วยการลดค่านิยมการไปทำงานในเมืองใหญ่ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในวงกว้าง”

“ตรงนี้เป็นสิ่งที่ผมหวังขณะนี้ และเป็นสิ่งที่ผมหวังจะสืบสานพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ตลอดไป”