“กำไรไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด” การประยุกต์เศรษฐกิจพอเพียงของบริษัทของเล่นไม้ยางพารา “แปลนครีเอชั่นส์”

“เศรษฐกิจพอเพียง” แนวปรัชญาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ถือเป็นแนวคิดสำหรับการดำเนินชีวิตที่สามารถปรับใช้ได้กับทุกคน ทุกภาคส่วน รวมไปถึงองค์กรธุรกิจต่างๆ ก็ยังสามารถประยุกต์หลักการนี้ไปใช้ในการดำเนินงานได้

“บริษัท แปลนครีเอชั่นส์ จำกัด” ผู้ผลิตสินค้าของเล่นเด็กจากไม้ยางพาราแบรนด์ “แปลนทอยส์” ก็ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจ SMEs ที่นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้มาปรับใช้ในการบริหารงาน จนได้รับรางวัลรองชนะเลิศถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประเภทธุรกิจขนาดกลางที่เหมาะสมจะเป็นตัวอย่างให้กับหน่วยงานธุรกิจ รวมทั้งผู้สนใจได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้

“ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” พูดคุยกับ “โกสินทร์ วิระพรสวรรค์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท แปลนครีเอชั่นส์ จำกัด ถึงแนวทางการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดย “โกสินทร์” เล่าให้ฟังว่า ถ้าดูในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง บริษัทมีการนำองค์ความรู้ทั้ง 3 ด้านของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ไม่ว่าจะเป็น การสร้างภูมิคุ้มกัน ความมีเหตุผล และความพอประมาณ ซึ่งถ้าหากดูในภาพรวม จะเห็นว่ามีการนำปรัชญาดังกล่าวมาใช้ใน 3 ด้าน ดังนี้

1.การพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยเน้นไปที่วัตถุดิบในการผลิต โดยจะใช้วัตถุดิบที่ดีเท่านั้น ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบาย Sustainable material คือใช้ไม้ยางพาราที่หมดอายุการให้น้ำยางแล้วเท่านั้นมาเป็นวัตถุดิบ โดยต้นยางพาราปกติมีอายุการให้น้ำยาง 25 ปี จากนั้นชาวสวนจะตัดทิ้ง ซึ่งบริษัทจะนำต้นยางส่วนนี้มาใช้ ถือเป็นการนำของเหลือใช้จากอุตสาหกรรมยางพารามาพัฒนาต่อ

“นอกจากนี้ เรายังไม่ได้คิดถึงแค่ตัวเราหรือธุรกิจเราอย่างเดียว แต่ยังใส่ใจไปถึงลูกค้าและพนักงานด้วย เนื่องจากไม้ยางเป็นไม้เนื้ออ่อน มีพวกแมลงหรือมอดกินเยอะ ทำให้โดยทั่วไปจะอัดสารเคมีเข้าไปในเนื้อไม้ แต่เรามองว่าเราทำของเล่นเด็ก สารเคมีดังกล่าวอาจเป็นอันตรายต่อเด็กได้ หรือแม้แต่ในกระบวนการผลิตที่พนักงานต้องหยิบจับและอยู่กับสารเคมี ก็อาจไม่ปลอดภัย เราจึงมีกระบวนการกำจัดสารเคมีออกแม้จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากขึ้นก็ตาม รวมถึงไม่ใช้สารเคมีในการผลิตด้วย ขณะเดียวกันวัสดุอื่นๆ อย่างกล่องกระดาษก็จะใช้เป็นกระดาษรีไซเคิล ส่วนหมึกพิมพ์ก็จะใช้หมึกที่เป็นซอยอิงค์ (soy ink) เป็นต้น” นายโกสินทร์กล่าว

ส่วนที่ 2 คือกระบวนการผลิตที่จะต้องเป็นกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน โดยมีการทำตามมาตรฐานทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นโรงงานที่ใช้มาตรฐาน ISO การดูแลบุคลากรที่ใช้มาตรฐาน SA8000 ทั้งนี้ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ของแปลนครีเอชั่นส์เน้นส่งออกเป็นหลักถึง 95% จึงให้ความสำคัญกับการทำตามมาตรฐานเป็นพิเศษ

ขณะเดียวกัน บริษัทยังให้ความสำคัญกับเรื่องการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง คือมีการนำของเล่นแต่ละชิ้นที่ผลิตมาวิเคราะห์ว่าปล่อยคาร์บอนออกไปเท่าไร จากนั้นจะหาหนทางปล่อยคาร์บอนให้น้อยลงในอนาคต

“โกสินทร์” ยังเล่าถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านที่ 3 ซึ่งก็คือเรื่องของการดูแลบุคลากร ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน, ลูกค้า, คู่ค้า นอกจากนี้ยังมีการทำกิจกรรม CSR ต่างๆ อยู่เสมอ เช่น เมื่อครั้งฉลองครบรอบ 30 ปีของบริษัท ก็มีการทำของเล่นเด็กพิการขึ้นมาแจกทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมปลูกป่าที่จัดขึ้นมาตลอด 20 ปี หรือการสร้างพิพิธภัณฑ์ของเล่นที่ จ.ตรัง และเปิดให้สาธารณชนเข้าชม มีกิจกรรมในช่วงวันเด็ก เป็นต้น ซึ่งเป็นความพยายามของแปลนครีเอชั่นส์ที่จะทำให้เติบโตไปทั้งสังคมและคนของบริษัทเอง

“ในแง่ของการบริหารคน เราใช้หลักการคือต้องทำให้คนมีความสุขในการทำงาน ที่โรงงานเรามีข้าวให้พนักงานกินฟรี แต่อาจจะต้องซื้อกับข้าวเอง เฉลี่ยแล้วในเดือนหนึ่งเราหุงข้าวให้พนักงานถึง 2 ตัน มีเศษของเหลือเราก็นำมาทำเป็นปุ๋ย นอกจากนี้ เรามีการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์ร้านค้า ซึ่งตรงนี้เขาสามารถที่จะมากู้เงิน เป็นการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของพนักงานด้วย นี่เป็นนโยบายหลักๆ 3 ด้านที่เราเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้”

กว่าจะเป็น SMEs ที่ก้าวมาถึงตรงนี้ได้ “โกสินทร์” ยอมรับว่าเป็นเพราะการยึดแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ทำให้การดำเนินงานอยู่บนทางสายกลาง

“บางช่วงเรามีออร์เดอร์เข้ามาเยอะมาก ซึ่งถ้าเราตอบรับไปกับกระแสนั้น เราคงต้องสร้างโรงงานใหม่ หรือทำอะไรก็ตามที่ไม่รู้ว่าจะเป็นผลดีในระยะยาวหรือเปล่า ซึ่งหากเราไม่เดินทางสายกลาง ไม่พอประมาณ ก็อาจจะมีปัญหาในภายหลังได้”

“โกสินทร์” ยังกล่าวถึงแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยว่า เป็นปรัชญาที่ดีอยู่แล้ว แต่คนไทยยังนำไปใช้กันไม่ค่อยถูกต้องเท่าไร โดยพระองค์ท่านทรงยกตัวอย่างชาวนาหรือเกษตรกร เนื่องจากคนไทยมีพื้นฐานของการเกษตรเป็นหลัก แต่คนมักไปตีความหมายว่าเศรษฐกิจพอเพียงคือเรื่องของการเกษตรอย่างเดียว ไม่ได้ดูแก่นแท้ว่าจริงๆ แล้วสามารถนำไปประยุกต์ใช้อะไรได้บ้าง โดยตนคิดว่าแนวคิดนี้เป็นปรัชญาโลกเลยก็ว่าได้ เพราะมีการพูดว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาของการดำเนินธุรกิจที่เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนจากฝั่งตะวันออก ขณะที่สหประชาชาติ หรือยูเอ็น มีการทำเรื่อง Sustainable Development ซึ่งใจความสำคัญคือเรื่องเดียวกัน แต่มีการพูดคนละมิติกัน อย่างไรก็ตาม มองว่าเศรษฐกิจพอเพียงมีรายละเอียดที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างจริงจังกว่า

“หลักตรงนี้ทำให้เรามองว่าการทำกำไรไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการทำกำไรก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากไม่สามารถทำกำไร ก็จะไม่สามารถต่อยอดไปทำสิ่งดีๆ ได้ แต่เราไม่ได้แสวงหากำไรเป็นที่ตั้งอันสูงสุด เพราะฉะนั้นตรงนี้จะไปมีผลในแง่ของการดำเนินธุรกิจ การกำหนดหลักการบางหลักการ เช่น ถ้าเรายึดกำไรสูงสุด ทำให้เราอาจไม่คำนึงถึงคุณภาพ กดขี่แรงงาน สุดท้ายก็จะไม่เกิดความยั่งยืนนั่นเอง” โกสินทร์กล่าวทิ้งท้าย