“อภิชาต” ในพระบรมราโชวาท ร.9 “เลือกตั้งใต้หลักประชาธิปไตยใน รธน.”

สัมภาษณ์พิเศษ

“ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดี และคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”

เป็นพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระราชทานไว้ในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จังหวัดชลบุรี 11 ธันวาคม 2512

คือเครื่องเตือนใจที่น้อมใส่เกล้าฯมาใช้ในการทำงานของ “อภิชาต สุขัคคานนท์” รองประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ คนที่ 2 อดีตประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และอดีตผู้พิพากษา

Q : ภูมิใจได้เป็นข้าราชการในพระองค์

Advertisment

“อภิชาต” เล่าผ่านประชาชาติธุรกิจ ถึงการน้อมนำพระบรมราโชวาทมาเป็นหลักในการทำงานตั้งแต่ครั้งเป็นผู้พิพากษาว่า ผมดีใจที่ได้เกิดมาในรัชสมัยของพระองค์ท่าน โดยเฉพาะได้ทำหน้าที่ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ เป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง ตั้งแต่เกิดมาก็เห็นพระราชกรณียกิจต่าง ๆ พระองค์ท่านก็เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับพสกนิกร

“พอเราได้มาเป็นนักกฎหมาย เป็นผู้พิพากษา มีหน้าที่ให้ความยุติธรรมแก่ประชาชน พระองค์ท่านก็อยู่ในหัวใจของเรา โดยเฉพาะในช่วงเวลานั้นที่มีการพระราชทานปริญญาบัตร พระองค์ท่านยังพระราชทานด้วยพระองค์เอง เราก็ภูมิใจมาก ตั้งแต่นิติศาสตรบัณฑิต เนติบัณฑิตไทย จนกระทั่งการเข้าเฝ้าฯเมื่อเริ่มเข้ารับราชการตุลาการ พระองค์ท่านทรงมีพระราชดำรัสต่าง ๆ กับคณะตุลาการที่เข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณ เป็นความภาคภูมิใจที่ได้เข้าเฝ้าละอองธุลีพระบาท และเราก็รับคำสอนจากพระองค์ท่านยึดถือมาปฏิบัติด้วยความตั้งใจตลอดมา”

“พระราชดำรัสของพระองค์ท่านได้พระราชทานให้แก่ผู้พิพากษาหลายครั้ง ซึ่งผมได้น้อมนำมาปฏิบัติ โดยเฉพาะหลักการทรงงานของพระองค์ท่าน รวมถึงหลักการทรงงานของพระองค์ท่าน การตัดสินคดีความต่าง ๆ ที่ตัดสินภายใต้พระปรมาภิไธยของพระองค์ท่าน เราต้องตัดสินด้วยความยุติธรรม ด้วยความซื่อตรง และทำหน้าที่เราให้ดีที่สุด เพราะการที่เราได้ขึ้นไปนั่งบนบัลลังก์ถือว่าเราทำหน้าที่แทนพระองค์ท่าน เราต้องมีข้อนี้อยู่ในใจของเราตลอดมาตอนเป็นผู้พิพากษา”

“และการพิพากษาคดีต่าง ๆ ทำในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ เป็นความภูมิใจอย่างที่สุด ผมถึงตั้งใจสอบเข้ามาเป็นผู้พิพากษาให้ได้ เพราะคุณพ่อก็เป็นผู้พิพากษา เห็นการทำงานของผู้พิพากษามาตั้งแต่เล็กแต่น้อย อยู่ในใจของเรา จึงเป็นผู้พิพากษามา 33 ปี จนอายุครบ 60 ปี”

Advertisment

Q : หลักอำนวยความยุติธรรม

“…กฎหมายนั้นไม่ใช่ตัวความยุติธรรม เป็นแต่เพียงเครื่องมืออย่างหนึ่ง สำหรับใช้ในการรักษาและอำนวยความยุติธรรมเท่านั้น การใช้กฎหมายจึงต้องมุ่งหมายใช้เพื่อรักษาความยุติธรรมไม่ใช่เพื่อรักษาตัวบทของกฎหมายเอง และการรักษาความยุติธรรมในแผ่นดิน ก็มิได้มีวงแคบอยู่เพียงแค่ขอบเขตของกฎหมาย หากต้องขยายออกไปให้ถึงศีลธรรมจรรยาตลอดจนเหตุและผลตามความเป็นจริงด้วย…” พระบรมราโชวาท ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานให้แก่เนติบัณฑิตยสภา สมัยที่ 33 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2524

“อภิชาต” ได้น้อมนำหลักข้อนี้มาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

“กฎหมายต้องเป็นเรื่องสำคัญที่สุดจะไปฝืนกฎหมายก็เป็นไปไม่ได้ แต่ต้องให้ความเป็นธรรม บางทีบางเรื่องที่ยกเป็นตัวอย่าง เช่น ลักขนุนสาธารณะริมคลองหลอดเอาไปให้ลูกกินเพราะความยากจน เราต้องเห็นใจเขา เพราะเขาทำด้วยความจำเป็นครอบครัวแม้ไม่ถูกต้องที่ไปขโมยของสาธารณะ แต่ก็มีเหตุผลน่าปรานี เรื่องนี้การใช้ดุลพินิจของศาลก็ออกไปทางที่ให้ความกรุณาแก่จำเลย”

“ดังนั้น เราต้องให้ความเป็นธรรมได้ในขอบเขตของกฎหมาย เพราะกฎหมายให้ดุลพินิจแก่ผู้พิพากษาอยู่แล้ว อย่างเช่น กฎหมายวางโทษจำคุกไม่เกิน… ปี เราก็สามารถใช้ดุลพินิจเรื่องการกำหนดโทษให้เกิดความเป็นธรรมได้ เช่นเดียวกับตอนที่เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัว ซึ่งกฎหมายสำหรับเด็ก เยาวชน ไม่รุนแรงเหมือนของผู้ใหญ่ เราต้องให้โอกาสกลับตัวเป็นคนดี มีผู้ปกครองดูแล ก็ว่ากล่าวตักเตือนไป”

“ประมวลกฎหมายอาญาระบุว่า เด็กอายุกว่า 7 ปีแต่ยังไม่เกิน 14 ปีกระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ไม่ต้องรับโทษ กฎหมายมองความอ่อนเยาว์ของอายุ มีการแบ่งเป็นระดับ 14-17 ปีก็มีโทษอีกระดับหนึ่ง ดังนั้น ศาลจะสามารถใช้วิธีการสำหรับเด็กมาใช้กับเยาวชนอายุมากขึ้นได้ ให้โอกาสเต็มที่ เพราะคนที่มีอายุน้อยจะได้กลับตัวเป็นคนดี ไม่มีโทษจำคุกเป็นชนักติดตัวไปจนกระทั่งบรรลุนิติภาวะแล้วจึงจะได้รับโทษเต็มอัตรา”

Q : จากผู้พิพากษามาเป็น กกต.

ครั้นเมื่อการเมืองถึงจุดวิกฤตในปี 2549 และเกือบจะถึงทางตัน แบ่งฝ่ายในการเมืองเรียกร้องนายกฯ พระราชทาน โดยใช้มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ และพระองค์ทรงมีพระราชดำรัสแก่ ผู้พิพากษาประจำศาล สำนักงานศาลยุติธรรม เฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 โดยให้ศาลไปช่วยแก้วิกฤตครั้งนั้น

“อภิชาต” เล่าว่า เมื่อพระองค์ทรงมีพระราชดำรัสเช่นนั้น ก็สำนึกในใจที่พระองค์ทรงให้ช่วยแก้วิกฤตของบ้านเมือง ซึ่งขณะนั้น ถ้าเป็นตุลาการไปก็จะเป็นผู้พิพากษาอาวุโส ทำหน้าที่ต่อจนถึงอายุ 70 ปี แต่พอดีในปี 2549 ช่วงปลาย ๆ การทำหน้าที่ ขณะนั้น กกต.ชุดเก่ากำลังมีปัญหา เป็นเหตุให้ต้องสรรหา กกต.ใหม่ ท่านวิชา (มหาคุณ อดีต ป.ป.ช.) เป็นคนคะยั้นคะยอให้มาเป็น กกต. เราก็เห็นว่าท่านวิชาท่านสมัคร แล้วเราก็ไปร่วมทำงานกับท่าน เพราะท่านวิชาเป็นคนตั้งใจทำงานเพื่อประเทศชาติ เป็นคนดีที่เรานิยมชมชอบอยู่ พอท่านชวนเราก็เอา..สมัครในนาทีสุดท้าย และได้รับเลือกเข้าไป

“แต่เมื่อไปถึงวุฒิสภาก็คัดเลือกอีกทีหนึ่งจากที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาเสนอไป 10 คน เหลือ 5 คน ท่านวิชาไม่ได้รับคัดเลือกเราเลยเข้าไปและเป็นประธาน กกต. ทำหน้าที่จนครบวาระ ซึ่งการที่ตัดสินใจเข้าไปรับหน้าที่ กกต. เพราะเห็นว่าตุลาการสมควรเข้าไปทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งด้วยความเป็นกลาง ไม่เข้าข้างใคร ฝ่ายไหน และเคยมีผู้พิพากษาเข้าไปเป็น กกต.อยู่แล้ว ตั้งแต่ท่านสวัสดิ์ โชติพาณิชย์ ท่านธีรศักดิ์ กรรณสูต ซึ่งท่านเป็นผู้พิพากษาที่เข้ามาช่วยราชการกองบังคับคดีล้มละลาย ผมเคยเป็นลูกน้องท่านธีรศักดิ์ ก็เห็นว่าตุลาการมาทำหน้าที่ กกต.ชุดแรก แล้วประสบความสำเร็จ วางรากฐาน กกต.ไว้เป็นอย่างดี จึงคิดว่าเราสามารถทำหน้าที่นี้สืบต่อจากท่านได้”

“และขณะนั้นที่มีวิกฤตการเมือง พระองค์ท่านตรัสว่าเป็นหน้าที่ของผู้พิพากษาที่ต้องรับผิดชอบต่อบ้านเมือง ต้องแก้วิกฤตบ้านเมือง การเลือกตั้งเป็นเรื่องสำคัญที่จะคัดคนเข้าสู่ตำแหน่งบริหาร เพราะฉะนั้นจึงต้องการคนที่เที่ยงธรรมเข้าไปทำหน้าที่ กกต. เราทำหน้าที่ตุลาการก็มีคุณสมบัติทำหน้าที่นี้ได้ โดยดูจากตุลาการในรุ่นก่อน ๆ ที่เข้ามาเป็น กกต.”

Q : คัดคนดีให้ปกครองบ้านเมือง

ด้วยเหตุนี้ทำให้ กกต.ชุดที่มี “อภิชาต” เป็นประธาน นับว่าเป็น กกต.ชุดแรกที่อยู่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี ได้ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปี 2556 และเป็น กกต.ชุดที่ต้องรับภาระการคลี่คลายวิกฤตการเมืองในปี 2549

“อภิชาต” ยอมรับว่า เราก็เข้าไปเจอปัญหาหนัก ๆ มีปัญหาแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แต่เราถือว่าทำหน้าที่ให้เป็นกลางที่สุด จัดการเลือกตั้งให้ได้คนดีที่สุดมาบริหารบ้านเมือง เราจึงยึดหลักนี้ เมื่อเป็นผู้พิพากษามาก่อน เราก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่มีทางเข้าข้างใคร ในใจของเราต้องยึดพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในทุก ๆ ครั้งที่ต้องตัดสินใจ ถือเป็นคำสั่งสอนให้เราทำหน้าที่ของเราที่จะต้องทำให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง การทำหน้าที่ กกต.เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะปัจจุบันจะเห็นแล้วว่าในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 กำหนดคุณสมบัติของ กกต.เพิ่มมากขึ้น ถือว่า กกต.ทำหน้าที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง เป็นองค์กรอิสระที่จะเป็นหลักในการคัดคนดีเข้ามาทำหน้าที่เพื่อบ้านเมือง

“แม้ว่าช่วงที่เป็น กกต.เจอวิกฤตการเมืองหนัก ๆ ที่ถามเรื่องท้อแท้คงไม่ท้อแท้ เราคิดว่าทำดีที่สุดแล้วเท่าที่สามารถทำได้ พยายามตั้งใจ แม้จะเกิดเหตุร้ายแรงขึ้นมา ตั้งแต่ที่บ้านถูกวางระเบิด… ไม่เช่นนั้นเราก็ลาออกไปแล้ว เพราะโดนคุกคาม โดนวางระเบิด ต้องระเห็จออกไปอยู่นอกบ้านตั้ง 3 เดือน ออกจาก กกต.ก็มีรถกวดตามไป แท็กซี่ไล่ตาม เจอหลายปัญหา แต่เราต้องสู้ต้องทำเพื่อบ้านเมือง ก็ตั้งใจที่สุด สามารถอยู่มาได้จนครบวาระ 7 ปีคนแรกของ กกต. ก็ดีใจที่ประชาชนเข้าใจการทำงานของ กกต.ชุดที่สามซึ่งมีผู้พิพากษาอยู่หลายคน ได้แนวทางการทำหน้าที่ของผู้พิพากษามาเป็นแบบอย่าง และทุกวันนี้ยังดีใจที่บ้านเมืองเราดีขึ้น ไม่มีการคุกคาม ทำร้าย แบ่งฝ่ายกันชัดเจนเหมือนแต่ก่อน ซึ่งความแตกต่างทางความคิดก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่เราทุกคนต้องช่วยกันทำให้บ้านเมืองเดินหน้าไปได้”

“รู้สึกว่าได้พยายามที่สุดแล้ว ที่จะให้คนไทยมีการเลือกตั้งที่ตรงไปตรงมา ทุกคนมีโอกาสตัดสินใจด้วยตนเอง ส่วนจะเห็นว่าใครดีก็ต้องตัดสินใจ เรื่องเลือกตั้งต้องให้คนเข้าใจว่าเลือกไปทำไม ประการสำคัญคือ เลือกให้นักการเมืองเข้าไปทำประโยชน์ให้บ้านเมืองได้ เป็นตัวแทนของเราเข้าไป แต่ไม่ใช่เลือกเพราะเห็นแก่เงินที่เขาให้ ที่ไม่ชอบเลยคือเอาเงินมาซื้อ คนไม่ดีแต่มีเงิน แต่น่าเสียดายที่เงินซื้อคนได้ และคนที่ไม่ดีเข้าไปแล้ว จะไปทำสิ่งที่ถูกต้องได้อย่างไร ก็คิดหาผลประโยชน์ บ้านเมืองเราไม่ควรจะมี”

“7 ปี พยายามที่สุดแล้ว คนไทยก็คงได้มีความเข้าใจที่ถูกต้องขึ้นในช่วงเวลาที่ผมอยู่ในตำแหน่งประธาน กกต. โดยเฉพาะเรื่องซื้อสิทธิ์ขายเสียงพยายามต่อสู้มาตลอด เลือกตั้งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยที่สำคัญ และเราก็กำลังจะมีการเลือกตั้งต่อไปในเร็ว ๆ นี้ พอมาเป็น กรธ.ก็นำประสบการณ์นี้มีส่วนในการร่างกฎหมายให้ สนช.พิจารณา เราก็ทำในสิ่งที่ถูกต้องที่สุดเพื่อประชาชนด้วยการยึดตามพระราชดำรัสของพระองค์ท่าน”