“ในหลวง” โปรดเกล้าฯผู้แทนพระองค์ประกอบพิธีรื้อถอนพระเมรุมาศจำลอง

เมื่อเวลา 15.31 น. วันที่ 6 มกราคม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พล.อ.สุรยทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ประกอบพิธีรื้อถอนพระเมรุมาศจำลอง ณ พระลานพระราชวังดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร โอกาสนี้ พล.อ.สุรยุทธ์ วางพวงมาลัยหน้าพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ กราบ จากนั้นไปยังพลับพลาพิธี พล.อ.สุรยุทธ์ถวายความเคารพพระราชอาสน์ และนั่งเก้าอี้ที่จัดไว้

ครั้นถึงเวลาฤกษ์ระหว่างเวลา 15.39 น. พล.อ.สุรยุทธ์ ออกจากพลับพลาพิธีไปยังโต๊ะเครื่องบวงสรวง จุดเทียนทอง เทียนเงิน และจุดธูปที่โต๊ะเครื่องบวงสรวง จุดธูปหางปักที่เครื่องบวงสรวง จุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ กราบ จากนั้น พล.อ.สุรยุทธ์เข้าสู่พลับพลาพิธี ถวายความเคารพพระราชอาสน์ และนั่งเก้าอี้ ณ ที่เดิม ต่อมานายฉัตรชัย ปิ่นเงิน หัวหน้างานโหรพราหมณ์ อ่านโองการบวงสรวง เมื่ออ่านโองการบวงสรวงจบแล้ว พล.อ.สุรยุทธ์ไปยังชาลาหน้าพระเมรุมาศจำลอง สุหร่าย และรับค้อนจากเจ้าพนักงานพระราชพิธี ทุบ ที่ชาลาหน้าพระเมรุมาศ 3 ครั้ง แล้วโปรยดอกไม้

เวลาต่อมา พล.อ.สุรยุทธ์ไปยังบริเวณหน้าโต๊ะเครื่องบวงสรวง จับสายสูตร อัญเชิญนพปฎลเศวตฉัตรลงจากพระเมรุมาศจำลอง กราบที่หน้าโต๊ะเครื่องบวงสรวง ก่อนถวายความเคารพพระราชอาสน์ เสร็จพิธีและกลับ

อนึ่ง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างพระเมรุมาศจำลองขึ้น เพื่อให้พสกนิกรร่วมถวายดอกไม้จันทน์ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2560 ด้วยทรงพระราชอนุสรณ์คำนึงถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชนชาวไทยมาตลอดพระชนม์ชีพ และทรงปรารถนาที่จะให้ประชาชนชาวไทย ได้มีส่วนร่วมในการส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย ด้วยทรงรับรู้และเข้าพระราชหฤทัยถึงความรัก ความเทิดทูน ความจงรักภักดี และความอาลัยของปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าที่มีต่อพระองค์เช่นกัน

การนี้ จึงพระราชทานพระราชานุญาตให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดสร้างพระเมรุมาศจำลอง 85 แห่ง ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ โดยแผนกสถาปนิกในพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมศิลปากร ได้ร่วมกันจัดทำแบบก่อสร้างอย่างงดงามและสมพระเกียรติเช่นเดียวกับพระเมรุมาศองค์จริง โดยรูปแบบเป็นสถาปัตยกรรมไทยรูปทรงบุษบก ขนาดของฐานมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 16 เมตร มีองค์พระเมรุมาศตั้งอยู่กึ่งกลาง กว้าง 4 เมตร 50 เซนติเมตร ยาว 4 เมตร 50 เซนติเมตร ความสูงรวมตั้งแต่ฐานไปถึงยอดประมาณ 22 เมตร 35 เซนติเมตร โดยบริเวณกึ่งกลางประดับพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

ทั้งนี้ สำหรับพระเมรุมาศจำลอง ณ พระลานพระราชวังดุสิต มีความแตกต่างจากพระเมรุมาศจำลองอีก 84 แห่ง โดยเป็นแห่งเดียวที่ฉัตรยอดพระเมรุมาศจำลองเป็นนพปฎลเศวตฉัตร ซึ่งเป็นฉัตรสีขาว 9 ชั้น เนื่องจากตั้งอยู่ในเขตพระราชฐาน ส่วนอีก 84 แห่ง ยอดพระเมรุมาศจำลองเป็นนพปฎลสุวรรณฉัตร ซึ่งเป็นฉัตรสีทอง 9 ชั้น และยังเป็นพระเมรุมาศจำลององค์เดียวที่ทำจากไม้สักทองทั้งหลัง

ที่มา มติชนออนไลน์