ประกันสังคมก้าวหน้า โพสต์ X ส่อแววยกเลิกเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม

เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม
Photo: Element5 Digital/unsplash

ประกันสังคมก้าวหน้าโพสต์ลง “X” (เอ็กซ์) ว่า กระทรวงแรงงานเสนอร่างกฎหมายยกเลิกเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ส่อแววหวั่นกลับไปใช้ระบบแต่งตั้งเหมือนเดิม ต้องรอฟังข้อเท็จจริงจากกระทรวงแรงงานอีกครั้ง

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ภายหลังจากที่กระทรวงแรงงานออกคำสั่งแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) ชุดใหม่อย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา กำหนดแต่งตั้งกรรมการจากผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ที่มาจากการเลือกตั้ง ฝ่ายละ 7 คน ซึ่งเป็นการมีกรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนที่มาจากการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก

ทั้งนี้ “ประกันสังคมก้าวหน้า” (@welfarestateTH) ได้โพสต์ลง “X” (เอ็กซ์) เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ว่า “ด่วน! หลังจากที่ฝ่ายอำนาจเก่าพ่ายแพ้อย่างหนักในการ #เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ที่ผ่านมา ล่าสุดกระทรวงแรงงานได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับที่ให้บอร์ดใช้ระบบแต่งตั้งเหมือนเดิม ไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาบรรจุลงในวาระ ครม.แล้ว หาก ครม.เห็นชอบจะเข้าสู่กระบวนการสภา”

โดยในโพสต์ประกันสังคมก้าวหน้าได้ยกภาพมาแสดงรายละเอียดเป็น มาตรา 3 ที่ให้ยกเลิกความในวรรค 3 ของมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“หลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายผู้ประกันตน หญิงและชาย คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส”

ประกันสังคมก้าวหน้า
ที่มา : X ประกันสังคมก้าวหน้า

ต่อมาช่วงเย็นวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 “ประกันสังคมก้าวหน้า” ได้โพสต์ลง “X” อีกครั้ง ระบุว่า “ข้อสังเกตถึงความพยายามยกเลิกระบบ #เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม โดยผู้ประกันตนอาจถูกผลักดันโดยกลุ่มอำนาจเก่าของกระทรวงแรงงานที่ฝังรากอยู่มาอย่างยาวนาน ฝากรัฐมนตรีคนปัจจุบันทบทวนกฎหมายประกันสังคมฉบับสอดไส้นี้ อย่าปล่อยให้การมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนต่อกองทุนลดลงไปมากกว่านี้เลย !”

ประกันสังคมก้าวหน้า
ที่มา : X ประกันสังคมก้าวหน้า

รอฝั่งกระทรวงแรงงานชี้แจง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายละเอียดข้อเท็จจริงจะต้องรอฟังฝั่งกระทรวงแรงงานออกมาให้คำตอบ เพื่อความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในฐานะที่ถูกพูดถึงในโพสต์ของประกันสังคมก้าวหน้า

ทั้งนี้ การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมชุดใหม่เป็นการทำตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ซึ่งที่ผ่านมาบอร์ดประกันสังคมมาจากการเลือกตั้งจากระบบของผู้แทนของสหภาพแรงงานเลือก แต่พอมีรัฐประหารปี 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งยุบบอร์ดเดิม แล้วแต่งตั้งบอร์ดใหม่มาแทน จนได้มามีการเลือกตั้งเมื่อ 24 ธันวาคม 2566 หลังจากที่ไม่เคยทำมาราว 9 ปี

ความสำคัญของบอร์ดประกันสังคม

คณะกรรมการประกันสังคมจะเข้ามาจัดการและดูแล “กองทุนประกันสังคม” โดยตัวเลขเงินสะสมของกองทุน ณ เดือนกรกฎาคม 2566 มีเงินสะสมอยู่กว่า 2.37 ล้านล้านบาท รวมดอกผลการลงทุนเฉพาะเดือนมกราคมถึงกรกฎาคมที่ 31,940 ล้านบาท ส่วนเงินสะสมกองทุนเงินทดแทนมีเงิน 76,470 ล้านบาท รวมดอกผลจากการลงทุน 1,247 ล้านบาท และมีสมาชิกที่เป็นสถานประกอบการกว่า 510,000 แห่ง และผู้ประกันตนกว่า 24.5 ล้านคน

จึงมีผลต่อสิทธิประโยชน์ที่ทุกคนพึงได้รับ โดยมีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญ ดังนี้

1.เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการในการประกันสังคม พิจารณาให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีในการตราพระราชกฤษฎีกา การออกกฎกระทรวง และระเบียบต่าง ๆ

2.วางระเบียบโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับการรับเงินการจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินของกองทุน

3.วางระเบียบโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุน

4.พิจารณางบดุลและรายงานการรับจ่ายเงินของกองทุน และรายงานผลการปฏิบัติงานประจําปีของสํานักงาน ในส่วนที่เกี่ยวกับการประกันสังคม

5.ให้คําปรึกษาและแนะนําแก่คณะกรรมการอื่นหรือสํานักงาน

6.ปฎิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมาย หรือตามที่รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานมอบหมาย

คุณสมบัติผู้สมัครเข้าบอร์ดประกันสังคม

สำนักงานประกันสังคมได้กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นคณะกรรมการประกันสังคม ดังนี้

  1. มีสัญชาติไทย
  2. อายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ นับถึงวันปิดสมัครรับเลือกตั้ง
  3. ส่งเงินสมทบติดต่อกันไม่น้อยกว่า 36 เดือน นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
  4. ไม่เป็นคนวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ
  5. ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
  6. ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย หรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย ทุจริต
  7. ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
  8. ไม่เคยต้องคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
  9. ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือเลิกจ้างจากหน่วยงานของรัฐ หรือสถานประกอบกิจการของเอกชน เพราะทุจริตต่อหน้าที่
  10. ไม่เป็นคู่สัญญา หรือมีประโยชน์ได้เสียในกิจการที่เป็นคู่สัญญา หรือมีธุรกิจเกี่ยวข้องกับสำนักงาน ไม่ว่าทางตรงและทางอ้อม
  11. ไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือกรรมการ ที่ปรึกษาของพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี