บริบท “ESG” ในภาคธุรกิจ 106 บริษัทพร้อมขับเคลื่อนเพื่อโลก

2คน ดีลอยท์

ดีลอยท์ ประเทศไทย เปิดเผยรายงานผลการสำรวจ “Thailand ESG and Sustainability Survey Report 2022” พบว่า บริษัทส่วนใหญ่เริ่มนำ ESG เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์ขององค์กร อีกทั้งยังมีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้โดยเฉพาะ รวมถึงอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจ

สำหรับรายงานนี้มาจากการสอบถามผู้บริหารระดับ C-suite และผู้บริหารในระดับต่าง ๆ จากบริษัทชั้นนำของประเทศไทยจำนวนกว่า 106 บริษัท ครอบคลุมภาคอุตสาหกรรมหลัก เช่น กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค, กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและทรัพยากร, กลุ่มธุรกิจการเงิน, กลุ่มเทคโนโลยี, กลุ่มวิทยาศาสตร์ชีวภาพและการแพทย์, กลุ่มพลังงาน และอื่น ๆ ในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน 2565

“กษิติ เกตุสุริยงค์” Sustainability & Climate Leader ดีลอยท์ ประเทศไทย และ “ดร.นเรนทร์ ชุติจิรวงศ์” ผู้อำนวยการบริหาร Clients and Markets ดีลอยท์ ประเทศไทย นำเสนอข้อมูลร่วมกันว่า ประเด็นด้าน ESG (Environment, Social และ Governance) หรือสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มนักลงทุนปัจจุบัน เพราะเป็นหนึ่งในประเด็นที่ใช้ในการตัดสินใจทางธุรกิจมากขึ้น ซึ่งการประเมินความเสี่ยง และเปิดรับโอกาสที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้าน ESG ขององค์กร เพื่อปกป้องผลประโยชน์ระยะยาวของธุรกิจ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จะมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น

กษิติ เกตุสุริยงค์
กษิติ เกตุสุริยงค์

ดีลอยท์จึงจัดสำรวจเกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อสะท้อนภาพธุรกิจ และการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในปัจจุบัน รวมถึงสะท้อนมุมมองผู้บริหารในเมืองไทยว่ามองเรื่องนี้อย่างไร โดยแบ่งรายละเอียดออกเป็น 4 ด้าน ดังต่อไปนี้

หนึ่ง ESG ในองค์กร เป็นการสำรวจภาพรวมขององค์กร ซึ่งพบว่าผู้บริหารระดับสูงของทุก ๆ องค์กรจะให้ความสำคัญ 2 เรื่องใหญ่ ๆ คือการตระหนักรู้เรื่อง ESG ในองค์กร และการพยายามนำ ESG เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์ขององค์กร ที่สำคัญ ยังมีแนวโน้มที่จะเน้นการรายงาน ESG ให้สอดคล้องกับกรอบการรายงานของ 56-1 One Report ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่ปรับปรุงประสิทธิภาพการเปิดเผยข้อมูล โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจตามกรอบของ ESG

อีกทั้งผู้บริหารส่วนหนึ่งมองว่าจะทำอย่างไรให้บริษัทได้รับการคัดเลือกเข้าไปอยู่ในลิสต์ของ Dow Jones Sustainability Index (DJSI) ด้วย

“นอกจากนั้นยังพบอีกว่า บางบริษัทจัดตั้งคณะกรรมการด้านความยั่งยืน หรือคณะกรรมการ ESG ขึ้นมาโดยเฉพาะ และได้กำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบแก่คณะกรรมการเพื่อผลักดันประเด็นความยั่งยืนของบริษัท ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งบทบาทของคณะกรรมการคือจะโฟกัส ESG โดยตรง ตั้งแต่การประเมินความเสี่ยง การติดตามผลการดำเนินการติดตามตัวเลขต่าง ๆ การดำเนินงานว่าทำได้ดีมากน้อยแค่ไหน”

“การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดีลอยท์มองว่าเพื่อทำให้บริษัทขับเคลื่อนเร็ว นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนมากเห็นว่าการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัทที่ดีขึ้นจะก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวก 3 ประการ ได้แก่ การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านต่าง ๆ รวมถึงการสร้างภาพลักษณ์ของบริษัท และแบรนด์สินค้าที่มีความน่าเชื่อถือ และการบริหารความเสี่ยง”

ดร.นเรนทร์ ชุติจิรวงศ์
ดร.นเรนทร์ ชุติจิรวงศ์

“ที่สำคัญ ยังพบด้วยว่ากว่า 40% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าเริ่มนำประเด็น ESG มาผูกกับ KPI พนักงาน โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทด้านพลังงาน และกลุ่มบริษัทด้านการสื่อสาร ผลตรงนี้ สอดคล้องกับแนวโน้มขององค์กรในต่างประเทศ เพราะการจะให้บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืนต้องผูกการวัดผลไปกับพนักงานทุกส่วนด้วย”

สอง บทบาทของสายงานการเงินด้านความยั่งยืน จากการสำรวจพบว่า 85% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่อยู่ในสายงานบัญชีและการเงิน เห็นตรงกันว่าความยั่งยืนมีบทบาทสำคัญมากในด้านการเงิน ยกตัวอย่าง ดีลอยท์ ยุโรป จากการสำรวจผู้บริหารสายการเงินมองว่าด้านการเงินจำเป็นต้องขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนขององค์กรด้วย ต้องมีส่วนกำหนดกลยุทธ์องค์กร เพราะมองว่าฝ่ายการเงินต้องบริหารจัดการด้านเงินทุน ต้องพยายามตั้งเป้าหมายทางการเงินที่สามารถวัดผลทางตัวเลขได้

การที่บริษัทมีแผนจะลงทุนไม่ว่าจะด้านใดก็ตาม ฝ่ายการเงินต้องดูว่ามีเงินเท่าไหร่ ลงทุนไปแล้วคุ้มค่าหรือไม่ ฝ่ายนี้จึงต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องความยั่งยืนเป็นอย่างดี ดังนั้นต่อไปนี้ บทบาทของผู้บริหารฝ่ายการเงินจะไม่ใช่แค่การรายงาน หรือการดูเรื่องงบประมาณอย่างเดียว เพราะเทรนด์ไปไกลมาก บริษัทหลายแห่งเริ่มทำเรื่องการระดมทุน การออกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หรือสินเชื่อสีเขียวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งยังมุ่งเน้นนวัตกรรมสำหรับเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำอีกด้วย

สาม การรายงานความยั่งยืนพบว่า 51% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีการจัดทำรายงานเกี่ยวกับการดำเนินงานด้าน ESG ทั้งยังมีตัวชี้วัดเป็นส่วนหนึ่งของการรายงานตามรอบการจัดทำรายงาน และที่น่าสนใจคือบริษัทที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ก็มีการจัดทำรายงานด้านนี้ด้วย บางแห่งมีการเก็บรวบรวมข้อมูล แต่ไม่ได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ

โดยบริษัทที่เป็นผู้นำด้านการจัดทำรายงานมี 2 กลุ่มหลัก ๆ คือ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มพลังงาน นอกจากนี้ การสำรวจยังพบด้วยว่าการขาดเทคโนโลยีสำหรับการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ การขาดความสามารถ และทักษะภายในองค์กร รวมถึงการไม่มีข้อมูลเพียงพอเป็นข้อกังวลที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำรายงานให้สมบูรณ์อย่างมีประสิทธิภาพตามข้อกำหนดด้านความยั่งยืน

สี่ ระบบ กระบวนการ และข้อมูล เกือบครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามมีความกังวลว่า องค์กรของตนไม่มีเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่จำเป็นเพียงพอต่อการดำเนินการตามข้อกำหนดใหม่ ๆ ในการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG โดยผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ใช้แบบฟอร์ม spreadsheet ในการเก็บรวบรวมข้อมูลด้าน ESG ของทั้งองค์กร วิธีนี้อาจไม่เหมาะกับบางบริษัทที่มีกระบวนการดำเนินการหลายขั้นตอนที่อาจส่งต่อเพื่อรวบรวมไว้ที่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือมีกระบวนการรวบรวมข้อมูลการแยกจากกัน

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่จะรวมข้อมูลจากหลายหน่วยงาน และอาจเกิดความผิดพลาดจากการทำงานของคนได้ ผลสำรวจพบว่าบริษัทของผู้ตอบแบบสำรวจใช้กรอบการรายงานสากลที่พัฒนาโดย GRI (Global Reporting Initiative) เป็นมาตรฐานหลักในการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG และใช้กรอบตัวชี้วัด ESG ภายในองค์กร (Internal ESG KPI) มากำหนดโครงสร้างรูปแบบหลักสำหรับการรวบรวมข้อมูลในองค์กร

“กษิติ” และ “ดร.นเรนทร์” สรุปตรงกันว่า จากผลสำรวจของดีลอยท์ ประเทศไทย เผยให้เห็นความท้าทายหลายประการในการบูรณาการ ESG เข้ากับกลยุทธ์ทางธุรกิจตั้งแต่การประเมินความเสี่ยง การประหยัดต้นทุน ไปจนถึงการหาตลาด และโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ตอนนี้เป็นเวลาที่ธุรกิจควรจะเริ่มบูรณาการ ESG ให้มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ กำหนดเป้าหมายและกระบวนการความยั่งยืนขององค์กรเพื่อดำเนินการด้าน ESG เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ที่อาจจะกลายเป็นข้อบังคับสำหรับองค์กรธุรกิจในการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

“เพราะการดำเนินการบนพื้นฐานของความยั่งยืนจะช่วยให้บริษัทต่าง ๆ สามารถก้าวผ่านสถานการณ์วิกฤตเพื่อปรับตัวให้พร้อมรับกับดิสรัปชั่นในอนาคต”