สัมภาษณ์พิเศษ
“เพราะเป็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่เป็นแค่การกระตุ้นเศรษฐกิจ การแจกเงิน การสร้างดีมานด์ แต่ต้องแก้ปัญหาตั้งแต่การปฏิรูปภาคเกษตร การปฏิรูปภาครัฐ การปฏิรูปกฎหมายที่ล้าสมัย”
“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนาพิเศษกับ “ดร.วิรไท สันติประภพ” อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ถึงองคาพยพในการจัดการต้นตอปัญหาเศรษฐกิจ-สังคม กฎกติกาใหม่ของการทำธุรกิจ-การค้าระดับโลก รวมทั้งโครงสร้างทางอำนาจที่เกาะเกี่ยวกันอย่างยากที่จะแยกออกมาเป็นส่วนใดส่วนหนึ่ง
อย่าปล่อยให้ปัญหายากใหญ่สายเกินแก้
ดร.วิรไทเริ่มต้นบทสนทนาว่า ปัญหาต่าง ๆ ที่เราเผชิญอยู่ในสังคมไทย และสังคมโลกมีความรุนแรงมากขึ้น อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น เกิดโรคระบาดใหม่ ๆ ไม่ว่าจะโรคพืช-โรคสัตว์ หรือแม้แต่เรื่องมลภาวะ PM 2.5 ที่เป็นปัญหาใหญ่มาก
ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมก็มีทิศทางมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพเป็น social ladder (บันไดทางสังคม) ที่สร้างโอกาสทำให้คนสามารถยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม
ปัญหาเรื่องการคอร์รัปชั่นก็รุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่การจ่ายเงินเพื่อให้ได้ผลประโยชน์บางอย่าง ไปจนถึงการคอร์รัปชั่นในระดับนโยบาย ทำให้เกิดการกีดกันผู้เล่นรายใหม่เข้ามาแข่งขันไม่ได้ โดยเฉพาะผู้เล่นรายใหม่ที่เป็น SMEs ซึ่งเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญของประเทศ ทำให้ SMEs ฝ่อลงไปเรื่อย ๆ ขณะที่บางกลุ่มมีฐานะทางเศรษฐกิจ หรือผลกำไรที่ดีขึ้น
เรื่องพวกนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า เราอยู่ในสังคมที่ปัญหาต่าง ๆ รุนแรงมากขึ้น ดังนั้น โจทย์คือเราต้องช่วยกันระมัดระวังอย่าให้ปัญหาใหญ่ ๆ ก้าวข้ามจุด tripping point (จุดพลิกผัน) ไป เพราะจะกลายเป็นต้นทุนของการใช้ชีวิตของทุกคน และเป็นต้นทุนของการทำธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และโอกาสแก้ปัญหาจะยากขึ้น
คนมักบอกว่าปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาต่าง ๆ เป็นหน้าที่ของภาครัฐ ไม่ใช่หน้าที่ของภาคธุรกิจ เพราะคิดว่าภาคธุรกิจจ่ายภาษีให้รัฐ แต่เหตุผลที่ภาคธุรกิจต้องมาให้ความสนใจ เพราะความเป็นจริงเวลาที่เกิดปัญหาขึ้น เงินที่ภาครัฐต้องใช้แก้ปัญหาจำนวนมากกว่ามาก ดังนั้น ธุรกิจต้องมาคิดว่า ตนเองมีบทบาทหน้าที่ที่ต้องแสดงความรับผิดชอบทางสังคมเช่นเดียวกันกับรัฐ
ชูแนวคิด “ธุรกิจชนะ สังคมวัฒนา”
ประธานมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง สาวต้นตอปัญหาธุรกิจและเป้าหมายของสังคม ว่า เรื่อง “sustainability” เป็นแนวคิดที่ได้รับความสำคัญมาก “แต่คำจำกัดความที่ผมมักจะใช้คือ “ธุรกิจชนะ สังคมวัฒนา” มี 2 องค์ประกอบคือ ธุรกิจต้องยั่งยืนด้วยตัวเอง ไปพร้อม ๆ กับสังคมเจริญ วัฒนามากขึ้น”
โดย “ESG” เป็นกรอบภายใต้ sustainability ระบุว่าควรให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม (E-environment) สังคม (S-social) และหลักธรรมาภิบาล (G-governance) ในฝั่งโลกตะวันตก คนให้ความสำคัญกับ E มากกว่า เพราะมีลักษณะเป็นรัฐสวัสดิการ คุณภาพชีวิตของประชาชนได้รับการดูแลจากภาครัฐ
“แต่ประเทศไทยแยกส่วนไม่ได้ว่าจะทำแค่ E เพราะตัว S และ G เพราะสำคัญพอ ๆ กัน เหมือนเช่นที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงดำเนินงานโดยคำนึงถึงกระแสรับสั่งของสมเด็จย่าว่า ถ้าปลูกป่าต้องปลูกคนไปพร้อม ๆ กัน”
ธุรกิจยั่งยืน-sustainability ไม่ใช่แค่ CSR
ดร.วิรไทระบุว่า ในประเทศไทยมีความสนใจเรื่อง sustainability เพิ่มขึ้นมากในช่วง 5 ปีหลัง โดยเราเริ่มต้นจากการมองปัญหารอบตัว และทำ CSR ซึ่งต่างจากแนวคิด sustainability ค่อนข้างมาก และไทยยังติดกรอบเดิม
วาระในการทำ CSR กำหนดจากภายนอก ตามสถานการณ์ที่มีความต้องการการบริจาค ไม่ได้โยงเข้ากับธุรกิจหลักของบริษัท ที่เป็นฝ่ายกำหนดยุทธศาสตร์ ดังนั้น ต้องมองเป็นยุทธศาสตร์ ไม่ใช่การกุศล แต่เกี่ยวกับอนาคตและความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ และเกี่ยวข้องกับ strategic risk เช่น ถ้าคู่แข่งทำแต่เราไม่ทำ ก็จะกลายเป็นความเสี่ยงทันที
โลกปัจจุบันกฎเกณฑ์กติกาเยอะมาก เรื่องสิทธิมนุษยชน เช่น trafficking in persons (TIP) report ของทางสหรัฐอเมริกา, มาตรการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย IUU Fishing ของสหภาพยุโรป ทำให้บริษัทที่มีคู่ค้ากับต่างประเทศ หรือบริษัทส่งออกที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ จะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ในประเทศของคู่ค้า
ปัญหา PM 2.5-อุตสาหกรรมอาหารสัตว์
ประธานมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงอธิบายว่า “การทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนต้องก้าวข้าม mindset ว่าไม่ได้ทำเพื่อกฎและกติกา แต่ต้องมองเป็นเรื่องจริงจังและต้องการเป็นผู้นำ สามารถสร้างความสามารถในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน”
ตัวอย่างปัญหาที่เป็น pain point เช่น 1.ธุรกิจไรเดอร์ จะเห็นปัญหาของผู้ขับขี่บางคนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร เช่น ขับทางเท้า วิ่งสวนทาง ผ่าไฟแดง ถ้าบริษัทใช้เทคโนโลยีเพื่อติดตามการขับขี่ของพนักงาน มีการหักคะแนน มีบทลงโทษ ถ้าทำดีก็มีรางวัลตอบแทน สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และมาตรฐานของอุตสาหกรรมนี้ได้ และอาจส่งผลต่อผลกำไรที่เพิ่มขึ้น สร้างมาตรฐานใหม่และคุณค่าใหม่ให้กับสังคม
2.ปัญหา PM 2.5 ปฏิเสธไม่ได้ว่าอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ที่ใช้ข้าวโพด มีบทบาทไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ที่ทำให้ปัญหานี้เกิดรุนแรงมากขึ้นในภูมิภาคอินโดจีน มีการศึกษามากมาย ว่าจำนวน hot spot จากการเผาป่า โยงกับพื้นที่การปลูกข้าวโพด หรือปริมาณข้าวโพดที่มีการปลูกในภูมิภาคนี้ ในช่วง 5-6 ปีหลังเราเห็นบริษัทอาหารสัตว์ไม่ได้ตื่นตัวกับเรื่องนี้
บางบริษัทบอกว่า ถ้าซื้อข้าวโพดจากประเทศไทย สมาชิกจะต้องลงทะเบียนผ่านแอป ต้องพิสูจน์ได้ว่าเป็นพื้นที่ไม่บุกรุกป่าและไม่มีการเผาป่า ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะแรงกดดันจากนอกประเทศ เพราะถ้าจะส่งออกอาหารสัตว์ หลาย ๆ ประเทศมีมาตรฐาน food traceability (การตรวจสอบย้อนกลับ และติดตามอาหาร และส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ใช้ในการผลิตอาหาร)
ดร.วิรไทตั้งข้อสังเกตว่า “แต่ช่วงหลังมีการปลูกข้าวโพดในลาวและเมียนมามากขึ้น แต่ทำไมไม่ใช้มาตรฐานเดียวกัน เพราะข้าวโพดจำนวนมากก็ขายกลับมาที่ไทย ทุกวันนี้คนไทยก็ต้องทุกข์ทนในเรื่องต้นทุนค่ารักษาพยาบาล รวมถึงการตายแบบผ่อนส่ง และหนีไม่พ้นที่คนจะมองกลับไปที่บริษัทว่ามีความรับผิดชอบมากแค่ไหน”
“การห้ามนำเข้าก็จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ เพราะปริมาณข้าวโพดในการผลิตอาหารสัตว์ในไทยไม่เพียงพอ แต่ต้องไปลงทุนด้านเทคโนโลยีและทำเรื่อง food traceability กับประเทศเพื่อนบ้านที่ชัดเจน”
หรืออีกด้าน ธุรกิจอาหารสัตว์บางแห่ง มีธุรกิจขายเมล็ดพันธุ์ด้วย ก็ควรต้องควบคุมเกษตรกรที่มาซื้อว่าจะต้องนำไปปลูกในวิธีการที่ไม่นำไปสู่การเผาป่า ให้ความรู้เกษตรกร และปรับพฤติกรรมไปพร้อมกัน ถ้าบริษัทไหนทำเรื่องนี้ก่อน จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของบริษัท เพราะในอนาคตจะต้องมีกฎหมายมาบังคับอยู่ดี
กฎใหม่ธุรกิจการท่องเที่ยวต้องใส่ใจสิ่งแวดล้อม
ประเด็นที่ 3.ธุรกิจท่องเที่ยวเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีความเสี่ยง ธุรกิจท่องเที่ยวคิดเป็น 15% ของรายได้ของ GDP ประเทศไทย และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของไทยส่วนใหญ่เป็นแนวชายฝั่งทะเล ต่อไปการเดินทางด้วยเครื่องบิน หลายคนจะให้ความสำคัญกับการหา carbon offset (การชดเชยคาร์บอน) บริษัทไหนก็ตามที่ให้คำมั่นสัญญาในเรื่อง net zero ซึ่ง scope 3 ของ net zero จะรวมถึงการเดินทางโดยเครื่องบินด้วย
นักท่องเที่ยวที่มาจากยุโรปที่จะต้องหา carbon offset อาจเปลี่ยนการเดินทางไปเที่ยวที่เมดิเตอร์เรเนียนแทน เพราะเดินทางสั้นกว่าเยอะ และเป็นทะเลเหมือนกัน สายการบินหลายสายระบุข้อมูลคาร์บอนฟุตพรินต์ แต่ในธุรกิจสายการบินในไทยรายใหญ่ ๆ อาจยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เมื่อเทียบกับสายการบินยุโรป
ชูภูเก็ต sustainable destination
ดังนั้น ภูเก็ตไม่ควรทำแค่เรื่อง green hotel แต่ต้องมองเป็น sustainable destination (จุดหมายปลายทางที่ยั่งยืน) ปรับกิจกรรมให้ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์ โดยกลุ่มแรกที่จะได้รับผลกระทบคือ MICE-ธุรกิจท่องเที่ยว-การประชุม และการแสดงสินค้า เพราะบริษัทต่าง ๆ ที่มาภูเก็ตจะคำนึงถึงการซื้อ carbon offset ในการมาร่วมงานที่นี่ ก็จะไปกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของภูเก็ต
“ซึ่งใครทำก่อนได้เปรียบ และถ้าเราไม่ปรับมาตรฐานจังหวัดภูเก็ตก็จะไม่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน และมีกำลังซื้อสูง”
มาตรการเบี้ยหัวแตก เลือกตั้ง 2566
ก่อนหน้านี้ ดร.วิรไทเขียนบทความออนไลน์ “ขอสามคำนโยบายหาเสียงพรรคการเมือง” วาระการสนทนาครั้งนี้ เขาขยายความว่า “ถ้ามองการเลือกตั้ง 2566 ในช่วงที่ผ่านมา ผมมองว่าการนำเสนอนโยบาย เป็นครั้งที่ไม่เป็นนโยบายมากที่สุด แต่เป็นเหมือนข้อเสนอจะให้ ไปดูนโยบายทุกพรรค เป็นมาตรการเบี้ยหัวแตกที่พยายามจะให้ตรงใจกับคนกลุ่มต่าง ๆ”
“ไม่รู้เป็นเพราะว่าพัฒนาการของสังคมในช่วงหลัง พวกโซเชียลมีเดียมีบทบาทมากขึ้นหรือเปล่า ก็เลยพยายามจะทำอะไรให้สั้น ตรงใจ ยิงไปสู่กลุ่มเป้าหมายในแต่ละกลุ่ม แต่ถ้าเอามาประกอบร่าง ผมไม่เห็นว่าเป็นนโยบาย”
นายกฯใหม่ต้องแก้ปัญหา-กล้าเปลี่ยนแปลง
ก่อนวันเลือกตั้ง 2566 จะมาถึง จึงต้องขอให้ ดร.วิรไทตั้งธงความหวังต่อผู้นำใหม่ เขาตอบไว้ให้เห็นภาพทั้งองคาพยพ ธุรกิจ-สังคม และการเมือง
“ปัญหาของประเทศไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างหลายอย่าง ที่สะสมมานาน หลายเรื่องปัญหาทำให้สถานะของประเทศไทยไหลลงเร็ว เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ การแก้ปัญหาในช่วงต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลิตภาพ การลดปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ การสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ต้องเป็นการแก้ปัญหาทาง supply side (ฝั่งอุปทาน)”
“เพราะฉะนั้น นายกรัฐมนตรีคนต่อไปต้องคาดหวังว่าเขาจะต้องเข้าใจว่า งานที่สำคัญคืองานด้านการปฏิรูปให้เกิดผลอย่างจริงจัง และต้องเป็นการเข้าไปจัดการในฝั่ง supply side ไม่ใช่เป็นเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ การแจกเงิน การสร้างดีมานด์ในช่วงสั้น ๆ การทำงานทางด้าน supply side จะต้องลงรายละเอียด มีเป้าหมายที่ชัดเจน และเข้าไปจัดการผลประโยชน์ที่มีอยู่เดิม เพื่อจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
ดังนั้น นายกรัฐมนตรีคนที่เป็นรัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญมาก ๆ กับเรื่องการแก้ปัญหาทางด้าน supply side และกล้าที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน เปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ กติกา ผู้ที่เกี่ยวข้องจะหลากหลาย เขาจะต้องอดทน มีความสามารถในการเข้าถึงจัดการให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม
“เรามีคำว่าปฏิรูป การทำแผนพัฒนาเกิดขึ้นเยอะมากในประเทศไทยช่วง 15 ปีที่ผ่านมา แต่ที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญกับการลงไปจัดการแก้ไขปัญหาด้าน supply side สร้างแพลตฟอร์มใหม่ สร้างกรอบกติกาใหม่ค่อนข้างน้อย”
การปฏิรูปกฎเกณฑ์ กฎหมายที่ล้าสมัยในประเทศไทย เกิดขึ้นน้อยมาก และเป็นการเกิดขึ้นแบบต่อยอดจากของเดิม ไม่ได้ไปแก้ที่โครงสร้างจริง ๆ
“เพราะฉะนั้นคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีต้องเข้าใจเรื่องนี้และอินเรื่องนี้ และต้องมีความมุ่งมั่นทางการเมืองที่จะทำเรื่องเหล่านี้ เพราะมันจะกระทบผลประโยชน์ที่มันล็อกโครงสร้างแบบเดิมไว้”