Care the Wild แอสเซทไวส์ฯปลูกป่าชุมชนบ้านหลังเขา กาญจนบุรี

แอสเซทไวส์

วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกประเทศให้ความสำคัญ และพร้อมเอาใจช่วยแก้ปัญหาเพื่ออุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้น เพราะถ้าหากเป็นเช่นนั้นอาจจะกระทบต่อสภาพแวดล้อม รวมถึงระบบนิเวศทั้งในน้ำและบนบก จนสุดท้ายอาจนำไปสู่การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์ต่าง ๆ สิ่งที่น่ากังวลคือ ที่ผ่านมาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเริ่มส่งสัญญาณออกมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอากาศที่ร้อนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายภูมิภาคของโลก

จนทำให้หลายประเทศต้องกำหนดแผน เพื่อลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อันเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อนที่เป็นปัญหาใหญ่ขณะนี้

โดยหนึ่งในแนวทางที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ ตั้งแต่ต้นทางและยั่งยืน คือการปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่ป่า เพื่อช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการทำกิจกรรมของมนุษย์

โครงการ Care the Wild “ปลูกป้อง Plant & Protect” โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ร่วมกับกรมป่าไม้ และภาคเอกชน จึงเดินหน้าปลูกต้นไม้ เพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่องตลอด 3 ปี

ปัจจุบันมีพันธมิตรร่วมโครงการกว่า 86 ราย ปลูกป่าไปแล้ว 12 ป่าชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ 378.5 ไร่ ใน 9 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี, เชียงราย, ราชบุรี, เพชรบุรี, น่าน, กาญจนบุรี, แพร่, นครราชสีมา, มหาสารคาม เป็นต้น

ทั้งนี้ ป่าชุมชนบ้านหลังเขา อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการ Care the Wild ซึ่งมีพื้นที่กว่า 2,670 ไร่ และหากย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อนที่ยังไม่ได้รับจัดตั้งเป็นป่าชุมชน สภาพพื้นที่ค่อนข้างเสื่อมโทรม จากการถูกบุกรุก ทั้งยังเกิดไฟป่านับครั้งไม่ถ้วน

จนที่สุดชาวบ้านจำนวนหนึ่งจึงลุกขึ้นมาปกป้องดูแล พร้อมกับฟื้นฟูต้นไม้ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ ผลักดันจนสามารถก่อตั้งเป็นป่าชุมชนได้ในปี พ.ศ. 2545 อีกทั้งยังมีสถานะเป็นป่าชุมชนตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 อีกด้วย

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด (มหาชน) เข้ามาสนับสนุนพื้นที่ป่าชุมชนบ้านหลังเขา โดยปี 2565 มีโอกาสนำพนักงานจิตอาสามาร่วมกันปลูกต้นไม้บนพื้นที่ 10 ไร่ และล่าสุดในปี 2566 กลับมาติดตามพร้อมกับปลูกเพิ่มอีกจำนวน 10 ไร่ รวมทั้งสิ้นเป็น 20 ไร่ ด้วยพันธุ์ไม้กว่า 17 ชนิด

“วุฒิ วิพันธ์พงษ์” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แอสเซทไวส์ฯ เป็นบริษัททำธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ เราพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยบ้าน และคอนโดมิเนียม ภายใต้แบรนด์ Atmoz, Kave, Modiz, Wynn ด้วยแนวคิด “GrowGreen”

ทุกการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยจะคำนึงถึงความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมเสมอ เพื่อสร้างความสุขให้กับผู้อยู่อาศัย ที่สำคัญ ในการทำธุรกิจเราต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะการดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญมาก เราจำเป็นต้องดูแลโลก ซึ่งเป็นบ้านหลังใหญ่ของเรา

“ผมต้องตั้งคำถามว่า เราจะรับผิดชอบโลกนี้อย่างไร ซึ่งมองว่าคือหน้าที่ที่ทุกคนต้องทำร่วมกัน จะทำคนเดียวไม่ได้ ดังนั้น เราจึงร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีโครงการดี ๆ ให้ภาคเอกชนเข้าร่วมได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังมีกรมป่าไม้เป็นผู้ประสานให้เรามีโอกาสเข้าถึงชุมชนมากขึ้น

ผมคิดว่าการร่วมมือกันแบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ถ้าบริษัททำเอง ยังนึกไม่ออกว่าจะทำอย่างไร จะติดต่อไปที่ใคร เป็นเรื่องยากและซับซ้อน ผมจึงคิดว่าเป็นโครงการที่ดีมากที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าร่วม”

“วุฒิ” กล่าวต่อว่า สำหรับการปลูกป่าเราเลือกป่าชุมชนบ้านหลังเขา เพราะชุมชนค่อนข้างเข้มแข็ง อีกทั้งพื้นที่ป่าชุมชนมีสำนักสงฆ์ถ้ำเจริญธรรมตั้งอยู่ ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน โดยมีพระครูภูธร ภูริทัตโต เป็นพระอาจารย์ผู้นำชุมชนที่รักและศรัทธาในการปลูกป่ามาก ที่สำคัญยังมีกลุ่มทีมหมาเฝ้าป่า ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของชาวบ้านเพื่อดูแลป่า ผมมองว่าตรงนี้คือจุดเด่น

“ปีที่ผ่านมาทางแอสเซทไวส์ฯ พาพนักงานจิตอาสามาปลูกต้นไม้จำนวน 10 ไร่ และปีนี้ปลูกเพิ่มอีก 10 ไร่ ผลลัพธ์ค่อนข้างดี ชาวบ้านช่วยกันดูแล จนต้นไม้เติบโต ต้นใดที่ไม่รอดก็มีการปลูกซ่อม ผมว่านี่คือหัวใจหลักที่จะทำให้โครงการยั่งยืน สำหรับโครงการนี้เรามีเป้าหมายปลูก 20 ไร่

แม้ว่าเราจะปลูกครบตามเป้าที่วางไว้แล้ว แต่ยังมองถึงการต่อยอดในมิติอื่น ๆ ด้วย เช่น อาจจะออกแบบโครงการ เพื่อสนับสนุนให้เยาวชนในพื้นที่เข้ามาเรียนรู้และดูแลต้นไม้ต่อ เพราะเยาวชนคือคนรุ่นต่อไปที่จะต้องดูแลป่า หากปลูกฝังตั้งแต่เล็ก ๆ พวกเขาจะมีจิตใจที่รักและหวงแหน จนเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ”

“ประลอง ดำรงค์ไทย” อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะทำงานพิจารณาพื้นที่ปลูกป่า โครงการ Care the Wild กล่าวว่า โครงการ Care the Wild เกิดขึ้นเพื่อช่วยดูแลเรื่องป่าไม้ในประเทศไทย โดยการคัดเลือกพื้นที่ป่าชุมชน และผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลพื้นที่สีเขียวในประเทศไทย

ซึ่งการปลูกป่าโครงการ Care the Wild เรากล้าพูดเลยว่าไม่เหมือนที่ใด และการปลูกของเราอัตราการรอดต้อง 100% เช่นปลูก 100 ต้นก็ต้องรอด 100 ต้น ถ้าตายก็ต้องปลูกซ่อม

“ที่นี่โชคดีมากที่มีชุมชนเข้มแข็ง มีพระอาจารย์ผู้ศรัทธาดูแลป่า เป็นผู้นำชุมชน ทั้งยังมีกลุ่มชาวบ้านที่มีจิตใจหวงแหนผืนป่า มีความอยากเป็นเจ้าของป่าชุมชน คือเขามองว่าพวกเขาเป็นเจ้าของป่า เขาต้องดูแลป่า เพื่อที่ป่าจะดูแลเขาในอนาคต เพราะสามารถเก็บผลผลิตจากป่าได้ ตรงนี้เป็นการเกื้อกูลระบบนิเวศซึ่งกันและกัน”

“ประลอง” กล่าวต่อว่า สิ่งที่เราคาดหวังคืออยากให้มีภาคส่วนอื่น ๆ เข้ามาร่วมดูแลผืนป่ากับเราด้วย นอกเหนือจากบริษัทที่จดทะเบียน เพื่อชุมชนจะมีกำลังใจในการดูแลรักษาป่า ทั้งนี้ ผมมั่นใจว่าต้นไม้ที่ปลูกในวันนี้จะรอด เนื่องจากเรามีการพัฒนาระบบน้ำที่ดี แม้ปีที่ผ่านมาระบบน้ำยังไม่สมบูรณ์ อีกทั้งพืชที่นำมาปลูกค่อนข้างสามารถปรับตัวได้ดีตามสภาพภูมิประเทศ เพราะที่นี่มีหินเยอะมาก

“อย่างเช่นมะค่า ซึ่งเป็นไม้ที่แปลก รากของมะค่าเมื่อเจอหินจะแผ่ไปเรื่อย ๆ ขณะที่ต้นอื่น ๆ หากเจอหินอาจจะตายได้ นอกจากนั้น ก็มีต้นไม้ชนิดอื่นอีกมาก เช่น ไม้ป่ายืนต้น ได้แก่ มะค่าโมง, พะยูง, ประดู่, แดง พืชวนเกษตร และไม้ผล ได้แก่ มะม่วง, เงาะ, ขนุน, มะขาม, มะพร้าว เป็นต้น”

“ประทีป เหิมพยัคฆ์” ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 (ราชบุรี) กล่าวเสริมว่า สินทรัพย์สำคัญที่สุดของมนุษย์ไม่ใช่บ้าน ไม่ใช่เงินทอง ไม่ใช่แหล่งที่อยู่อาศัยเสียทีเดียว แต่สินทรัพย์ที่สำคัญคืออากาศ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ขาดไม่ได้ เราสามารถขาดอาหารการกินได้ไม่เกิน 7 วัน ขาดน้ำไม่เกิน 3 วัน แต่เมื่อไหร่ที่ขาดอากาศจะเริ่มแย่ สิ่งเดียวที่สร้างอากาศให้เราได้คือต้นไม้

“ปัจจุบันประเทศไทยมีป่าชุมชนตามพระราชบัญญัติป่าชุมชนอยู่ 11,194 แห่ง รวมเนื้อที่กว่า 6 ล้านไร่ ซึ่งป่าชุมชนบ้านหลังเขาก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีการจัดการที่ดี เพราะที่อื่น ๆ ต้นไม้ปลูกแล้วตาย มีไฟป่า มีคนและสัตว์บุกรุกบ้าง

แต่ที่นี่สิ่งที่ยากมีอย่างเดียวคือ ต้องต่อสู้กับความแห้งแล้ง ซึ่งก็มีบ้าง เพราะต้นไม้ต้องต่อสู้กับสภาพอากาศ สภาพแวดล้อม ชุมชนที่นี่มีจิตใจแน่วแน่ พวกเขาคือส่วนเล็ก ๆ เท่านั้นในสังคม แต่กลับทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ให้กับโลก”

“ธนกรณ์ รุ่งเรือง” ประธานป่าชุมชนบ้านหลังเขา กล่าวว่า ผลลัพธ์จากการปลูกป่า 10 ไร่ปีที่ผ่านมา พบว่าต้นไม้หลายต้นตาย เนื่องจากต้องต่อสู้กับความแห้งแล้ง แต่ก็มีการปลูกซ่อมไปแล้ว ตอนนั้นระบบน้ำยังไม่สมบูรณ์ ผมจึงปรึกษากับ “คุณวุฒิ” ว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้นไม้อยู่รอดคือระบบน้ำ ที่สุดจึงทำการขุดบ่อ ตั้งถังเก็บน้ำ พร้อมกับต่อท่อระบบน้ำหยดสำหรับใช้รดน้ำต้นไม้ที่ปลูกกระจายไปทุกแปลง

“ผมคาดว่าโครงการจะสำเร็จแน่นอน ต้นไม้ที่ปลูกจะรอด 100% เพราะชุมชนของเรามีทีมหมาเฝ้าป่า ตอนนี้มีสมาชิกราว 10 คน ผลัดเปลี่ยนเวรกันมาดูแล ต้นไหนตายก็ปลูกใหม่ เพราะเราเพาะต้นกล้าสำรองไว้ตลอด ก็จะช่วยกันดูต่อไป เพราะทุกคนทำด้วยใจ แม้จะไม่มีผลตอบแทน”

สำหรับองค์กรใดที่สนใจร่วมปลูกต้นไม้ให้ได้ผืนป่า ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.setsocialimpact.com หรือ SET contact center 0-2009-9999