ธุรกิจชนะ สังคมพัฒนา หลักสูตร STX แปรวิกฤตสู่โอกาสใหม่

ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกกำลังเผชิญกับภัยคุกคามทางวิกฤตสภาพภูมิอากาศครั้งใหญ่ ดังนั้น การปรับตัวเพื่อการเปลี่ยนแปลงของภาคธุรกิจกำลังจะกลายเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนที่จะช่วยลดภาวะโลกร้อน และวิกฤตทางสภาพภูมิอากาศ จึงกลายเป็นเหตุผลที่ทำให้สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กร (RISE) ออกแบบหลักสูตร Sustainability Transformation Xponential หรือ STX เพื่อช่วยนำทางให้แก่ภาคธุรกิจเดินไปสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งได้มีการเปิดตัวหลักสูตรไปแล้วเมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมผ่านมา พร้อมกับจัดเวทีสัมมนาเป็น presession ของหลักสูตร STX

โดยมี “เกียรติชาย ไมตรีวงษ์” ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และ “ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมเสวนาถ่ายทอดมุมมองการทำธุรกิจบนเส้นทางความยั่งยืนท่ามกลางวิกฤตสภาพภูมิอากาศในยุคปัจจุบัน

เกียรติชาย ไมตรีวงษ์
เกียรติชาย ไมตรีวงษ์

“เกียรติชาย” กล่าวว่า วิกฤตสภาพภูมิอากาศ สร้างความเสี่ยงมากมายให้แก่โลก ไม่ว่าจะเป็นอากาศแปรปรวน ร้อนสุดขั้วจนเกิดคลื่นความร้อน ฝนตกรุนแรงน้ำท่วมในพื้นที่ที่ไม่ควรเกิด ปัญหาไฟไหม้ป่า ฝุ่น PM 2.5 ปัญหาเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบ ecosystem ไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิต อุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม

แน่นอนว่าความเสี่ยงเหล่านี้สร้างความหวาดกลัว และตื่นกลัวให้กับประชาชน ภาครัฐ รวมทั้งภาคธุรกิจอย่างมาก โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ในอนาคต หากยังไม่เร่งปรับตัวจะได้รับผลกระทบเต็ม ๆ เพราะวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ส่งผลมาถึงระบบซัพพลายเชน อย่างเลี่ยงไม่ได้

“ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ส่งผลให้หลายประเทศเริ่มออกมาตรการเพื่อทำการ adoption หรือการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามที่ประชุม COP : Conference of the Parties เป็นการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญา สหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยเฉพาะ EU ที่เริ่มมีการออกมาตรการ CBEM เพื่อควบคุมคาร์บอนไดออกไซด์ในการขนสินค้าข้ามแดน เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนในพื้นที่ และหลาย ๆ บริษัทฝั่งยุโรป และสหรัฐอเมริกาเริ่มมีการตื่นตัว และกำหนดให้การปล่อยคาร์บอนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นหนึ่งในข้อตกลงที่จะทำการค้าระหว่างองค์กร”

ดังนั้น การค้าการลงทุนนับจากนี้จะต้องดำเนินการตามมาตรการใด ๆ ก็ตาม ต้องลดอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (met zero emissions) วันนี้ภาคธุรกิจปฏิเสธที่จะไม่ทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนของโลกใบนี้ไม่ได้อีกแล้ว เพราะหากไม่เร่งดำเนินการจะทำให้ธุรกิจของเราหลุดออกจากเทรนด์ และโอกาสการต่อยอดกับต่างประเทศก็จะลดน้อยลงด้วย

ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์
ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์

ขณะที่ “ธนวัฒน์” กล่าวเสริมว่า การจะลดคาร์บอน หรือก๊าซเรือนกระจกนับจากนี้ องค์กรจะต้องเริ่มปรับเปลี่ยนตัวเอง โดยเฉพาะการหาเทคโนโลยีมาดิสรัปชั่น ด้วยการทำการจัดเก็บคาร์บอน และตรวจวัดการปล่อยคาร์บอน เพื่อให้รู้ว่าปล่อยไปเท่าไหร่ และจะต้องหามาชดเชยเท่าไหร่ โดยที่ผ่านมาไมโครซอฟท์ให้ความสำคัญกับการวางกลยุทธ์ตาม SDGs

คือการให้ความสำคัญในด้านพลังงาน ด้านน้ำ และด้านการปล่อยของเสีย เป็นอย่างมาก แน่นอนว่าต่อไปองค์กรจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบ หรือวิกฤตสภาพอากาศ เพราะเราอยู่ใน ecosystem ดังนั้น การทำธุรกิจจะต้องคำนึงถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอน เพื่อช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

“สำหรับแนวทางการทำธุรกิจในรูปแบบ sustainability ของไมโครซอฟท์ เรามองเรื่องผลประโยชน์มากกว่า เพราะความยั่งยืนไม่ใช่การทำสังคมสงเคราะห์ โดยไมโครซอฟท์มีการทำระบบข้อมูลผ่านมาตรการ 5R ได้แก่ record, report, reduce, remove, replace ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะสามารถรู้สถานะคาร์บอนฟุตพรินต์ (carbon footprint) ของตนเอง และปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืนได้ตรงตามเป้าหมาย”

อีกสิ่งหนึ่งที่ไมโครซอฟท์ตั้งใจคือเราต้องการ lead เรื่องนี้ by example โดยที่ commitment ของไมโครซอฟท์ในเรื่องของ sustainability เลือกทำ 4 เรื่องจากเป้าหมาย SDGs 17 ประการของสหประชาชาติ ได้แก่ 1.carbon โดยในปี 2025 ทุก data center ของไมโครซอฟท์บนโลกกว่า 200 data center จะรันด้วย renewable energy 100%

หรือในปี 2030 ไมโครซอฟท์จะต้องกลายเป็น negative carbon company และในปี 2050 จะดำเนินการกับคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดที่ไมโครซอฟท์เคยปล่อยออกมาตั้งแต่เริ่มต้นบริษัทเมื่อปี 1975 ให้แล้วเสร็จและกลายเป็นศูนย์

2.น้ำ จะมุ่งสู่สถานะ “water positive” หรือคืนน้ำสะอาดสู่สิ่งแวดล้อมมากกว่าที่นำมาใช้ภายในปี 2030

3.ขยะของเสีย หรือ waste management มีการตั้งเป้าว่าภายในปี 2030 จะมุ่งสู่ positive ในเรื่องขยะของเสีย

และ 4.ทำงานร่วมกับ ecosystem เช่น ใครที่จะทำงานกับไมโครซอฟท์ ต้องตระหนักเรื่องเหล่านี้ไปด้วยกัน นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เราทำ เมื่อเราทำได้ดีจะสร้างกระแส หรือช่วยสร้างความตระหนักไปทั้งโลก

นพ.ศุภชัย ปาจรยานนท์
นพ.ศุภชัย ปาจรยานนท์

สำหรับ “นพ.ศุภชัย ปาจรยานนท์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง RISE สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กร อธิบายถึงการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน เปลี่ยนวิกฤตสภาพอากาศเป็นโอกาสทางธุรกิจในประเทศไทยไว้ว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศกลายเป็นเมกะเทรนด์ขนาดใหญ่ของโลก รองลงมาจาก AI การทำธุรกิจบนแนวทาง sustainability ไม่ได้เป็นการทำเพราะกระแสทางการตลาดอีกต่อไป

เพราะนับจากนี้ทุกองค์กรจะต้องมีแนวทางที่ทำธุรกิจบนความยั่งยืนที่เป็นมากกว่าการแยกขยะ โดยจะต้องเป็นแนวทางที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดท่ามกลางวิกฤตสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงคือจะต้องสร้างโอกาสจากความเปลี่ยนแปลง และทำให้ธุรกิจเดิมอยู่รอดไปด้วย แนวทางแรกที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอด และเติบโตคือทุกองค์กรต้องรู้จักตัวเองก่อน จากนั้นจึงหาวิธีการลดคาร์บอนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ

ดังนั้น ภาคธุรกิจจะต้องหาวิธีการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการทำธุรกิจรูปแบบ sustainability แต่จะต้องอยู่บนพื้นฐานที่จะทำให้ธุรกิจเดิมอยู่รอด และสร้างธุรกิจใหม่ด้วยความยั่งยืน เพราะเราหนีไม่พ้นวิฤกตสภาพอากาศครั้งนี้ และจะต้องทำตามข้อตกลงที่ประเทศไทยเสนอต่อการประชุม COP ในปีที่ผ่าน ๆ มา นอกจากเป้าหมายของ RISE ที่ผลักดันการเพิ่ม GDP ของประเทศอีก 1% แล้ว ยังต้องการช่วยประเทศลดอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ได้อีก 1% ด้วย

จากทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นจุดเริ่มต้นให้ RISE เชื่อว่าภาคธุรกิจอาจจะยังสับสน และจับต้นชนปลายไม่ถูก ไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มต้นออกแบบธุรกิจบนความยั่งยืนอย่างไร ดังนั้น RISE จึงเปิดหลักสูตร STX หลักสูตรแรกและหลักสูตรเดียวในประเทศไทยที่จะเข้ามาช่วยนำทางให้แก่ภาคธุรกิจเดินไปสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยองค์ความรู้ทั้งหมดจะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนความยั่งยืนในองค์กร และทำให้องค์กรในประเทศไทยกลายเป็นองค์กรชั้นนำในการทรานส์ฟอร์มสู่ธุรกิจที่ยั่งยืน