โลกไม่เหมือนเดิม ความยั่งยืน 2024 เทรนด์เปลี่ยนธุรกิจ

“ความยั่งยืน” เป็นเทรนด์มาแรงที่สุดในขณะนี้ เพราะเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคกำลังให้ความสำคัญ ขณะที่ภาคธุรกิจจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ ต้องปรับตัวไปตามความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งเมื่อวันที่ 31 ส.ค.ผ่านมา มีงานอีเวนต์ใหญ่ชื่อว่า “Sustrends 2024” คืองานสัมมนาว่าด้วยเทรนด์ความยั่งยืนที่กำลังเปลี่ยนโลก จัดโดย The Cloud และองค์กรด้านความยั่งยืนทั้งจากภาครัฐ เอกชน ประชาชน รวมถึงเยาวชน รวมแล้วกว่า 20 องค์กร และมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ 20 ท่าน มาร่วมนำเสนอเทรนด์การทำงานด้านความยั่งยืนในอนาคต ณ พิพิธภัณฑ์สวนเบญจกิติ

ภายในงานมีการนำเสนอเทรนด์ความยั่งยืนหลากหลายมิติ ทั้งเรื่่องการท่องเที่ยว อาหาร พลังงาน ความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนเรื่องสุขภาพ การใช้ชีวิต ฯลฯ

โอกาสธุรกิจสู่ความยั่งยืน

“ดร.ธันยพร กริชติทายาวุธ” ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UN Global Compact Network Thailand) กล่าวว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนคือการพัฒนาที่สามารถตอบสนองความต้องการของคนในยุคปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็ไม่ทำให้ความสามารถในการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นหลังลดน้อยลง

คำถามวันนี้คือธุรกิจที่เราทำสามารถตอบสนองความต้องการของคนยุคปัจจุบัน และคนรุ่นหลังต่อไปเรื่อย ๆ ได้อย่างไร เนื่องจากทุกการทำธุรกิจเราใช้ทรัพยากรอย่างมหาศาล และทรัพยากรนั้นไม่สามารถคงอยู่ได้เหมือนเดิมตลอดไป

“ทรัพยากรมีวันเสื่อมโทรม จะเห็นจากปรากฏการณ์ทะเลเป็นกรด น้ำแข็งละลาย ฝนตกพายุถล่ม สภาพอากาศที่ร้อนจัด เกิดภัยแล้ง สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ โดยเฉพาะด้านความมั่นคงทางอาหาร ต้นไม้ พืชพันธุ์ต่าง ๆ เริ่มเปลี่ยนไป ผลผลิตทางการเกษตรอาจน้อยลง ถ้าหนักสุดอาจถึงขั้นไม่ออกผลผลิตเลย”

“ดร.ธันยพร” กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นวิกฤตโลกร้อนยังส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว และบริการในทุกมิติเช่นกัน ยกตัวอย่าง บางพื้นที่การใช้น้ำของนักท่องเที่ยวต่อคน ปริมาณมากกว่าคนท้องถิ่นถึง 8 เท่า ส่วนพื้นที่ที่มีคนหนาแน่น โดยเฉพาะโซนทะเลจะทำให้แนวปะการังถูกทำลายไปมากกว่าปกติ 3 เท่า กอปรกับแต่ละปีประมาณ 18% ของอาหารที่ถูกนำเข้าสู่อุตสาหกรรมบริการกลายเป็นขยะ สิ่งเหล่านี้เป็นผลกระทบบางส่วนเท่านั้น

“ดังนั้น สิ่งที่ภาคธุรกิจต้องทำอย่างแท้จริงเพื่อสนับสนุนสู่เป้าหมายพัฒนายั่งยืน คือลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ โรงแรมอาจจะทำได้ แต่ถ้าเป็นภาคขนส่งอาจจะยากหน่อย เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการเดินทาง ถ้าเป็นท่องเที่ยวทางไกลมีการใช้เครื่องบิน ตอนนี้ยังไม่ได้มีการใช้เชื้อเพลิงสะอาดอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมการบินเท่าไหร่นัก

แต่สิ่งที่ดิฉันเห็นในภาคการท่องเที่ยวตอนนี้คือ เทรนด์ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เริ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับสัดส่วนของนักท่องเที่ยวที่แสวงหาการพักผ่อนหย่อนใจด้วยการสัมผัสกับธรรมชาติ เพื่อต้องการลดผลกระทบต่อธรรมชาติให้มากที่สุดก็เริ่มเห็นแนวโน้มมากขึ้น”

ดังนั้น ถ้าภาคการท่องเที่ยวไทยจะสนับสนุนเรื่องความยั่งยืน เป้าหมายจะไม่ใช่แค่การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ต้องร่วมมือกับพันธมิตรหลายภาคส่วนช่วยกันเน้นให้เกิดท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากกว่าเน้นปริมาณเข้าประเทศ

อย่างตอนนี้ World Bank และ International Finance Corporation (IFC) มีทุนสนับสนุนภายใต้โครงการที่ชื่อว่า Better Hospitality Initiaive สำหรับธุรกิจที่ออกแบบการท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนให้กับประเทศกำลังพัฒนา ตรงนี้จึงเป็นโอกาสของประเทศไทยด้วย

เนื่องจาก Sustainable Hospitality Alliance (SHA) ประกอบด้วย 50,000 กว่าโรงแรมทั่วโลกกำลังสนใจ และพยายามเปลี่ยนผ่านสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทยจึงควรรีบปรับตัว รวมถึงหาพันธมิตรเพื่อให้ได้รับการการันตีเรื่องความยั่งยืนจาก SHA ด้วยฉลากเขียว ไม่เช่นนั้นอาจตกเทรนด์ได้ง่าย

ความยั่งยืนคือบริหารความเสี่ยง

“ดร.ศรพล ตุลยเสถียร” หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า มุมมองที่มีต่อความยั่งยืนเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อน จากที่เคยเป็นสิ่งที่ “ทำก็ดี” กลายเป็นสิ่งที่ “ต้องทำ” เพราะการบังคับใช้กฎหมายของภาครัฐเข้มงวดขึ้น แต่เทรนด์ที่เราจะเห็นในปี 2024 คือความยั่งยืนกลายเป็นสิ่งที่หลายธุรกิจ “อยากจะทำ” เพราะประโยชน์ที่ได้นั้นจะตกอยู่ที่คนในสังคมโลก และผลกำไรของบริษัทเอง

“ในมุมของฝั่งนักลงทุนแต่เดิมมองว่าบริษัทที่ลงทุนกับความยั่งยืนมีต้นทุนสูงกว่า และผลตอบแทนต่ำกว่าบริษัทอื่น แต่ในปี 2024 บริษัทที่ลงทุนกับความยั่งยืนจะถูกมองว่ามีการบริหารความเสี่ยงและลดโอกาสถูกฟ้องจากประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อความยั่งยืน

ฉะนั้น เราจะเห็นกองทุนจำนวนมากหันมาลงทุนในหุ้นยั่งยืน ปัจจุบันมีกองทุนเกี่ยวกับการลงทุนด้านความยั่งยืนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จาก 10 ปีที่แล้วมีแค่ 2 กองทุน ปัจจุบันมีมากกว่า 80 กองทุน สินทรัพย์บริหารรวมกว่า 5 หมื่นล้านบาท และกำลังจะขยายขึ้นเรื่อย ๆ

ดังนั้น สิ่งที่นักลงทุนต้องการคือข้อมูล และคนวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อพิสูจน์ให้นักลงทุนเห็นถึงการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ตรงนี้จึงเป็นเรื่องจำเป็น และเป็นแรงจูงใจให้บริษัท และนักลงทุนหันมาลงทุนกับความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง”

พัฒนา กทม.สู่เมืองที่ยั่งยืน

“ศานนท์ หวังสร้างบุญ” รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงมุมมองพัฒนาเมืองว่า กรุงเทพมหานครเป็นชุมชนเมืองขนาดใหญ่ เรามีแผนพัฒนาเมืองหลากหลายด้าน แต่สิ่งที่จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนคือการมีส่วนร่วมของคนทุกภาคส่วน โดยเฉพาะความร่วมมือจากประชาชน ซึ่งเรามีการหาเครื่องมือ และกิจกรรมมาทำให้ความร่วมมือเป็นเรื่องง่ายขึ้น

“ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์ม Traffy Fondue รับแจ้งทุกประเด็นปัญหาของกรุงเทพฯผ่านไลน์ และสภาเมืองคนรุ่นใหม่ เพราะเป็นเวทีเปิดรับความคิดเห็นประชาชนทุก ๆ 3 เดือน รวมถึงปรับพื้นที่ทางกายภาพ เช่น เพิ่มทางเท้า 1,000 กิโลเมตร เพิ่มการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ ปรับปรุงจุดจอดจักรยาน และเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั่วเมืองผ่านนโยบาย ‘สวน 15 นาที’

โดยมีเป้าหมายเพื่อให้คนเข้าถึงพื้นที่สีเขียว หรือสวนสาธารณะภายในเวลา 15 นาที หรือห่างจากชุมชนบ้านเรือนประมาณ 800 เมตร ซึ่งเป็นการเข้าถึงสวนสาธารณะใกล้บ้าน โดยไม่ต้องเดินทางไกลไปสวนสาธารณะใหญ่ ๆ”

แม้แต่การปรับกฎหมายกรุงเทพมหานคร ตอนนี้กำลังพยายามร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อปรับกฎหมายให้เกิดการใช้งานพื้นที่ต่าง ๆ ของเมืองอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น เช่น ควบคุมการเข้าออกของรถบรรทุกเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ปรับผังเมืองเพื่อให้เกิดการขยายเมือง และสร้างตึกสูงอย่างปลอดภัย

นอกจากนั้นยังเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมกับผู้อยู่อาศัยในบริเวณนั้น ๆ การตั้งราคาขยะเพื่อกระตุ้นให้คนแยกขยะมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการปรับพื้นที่ใต้ทางด่วนเพื่อให้เกิดประโยชน์ และย้ายท่าเรือคลองเตยเพื่อลดมลพิษในชุมชนโดยรอบ เป็นต้น

ใส่ใจความหลากหลายชีวภาพ

“ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์” อดีตประธานมูลนิธิโลกสีเขียว และผู้ร่วมก่อตั้งทุ่งน้ำนูนีนอย กล่าวถึงมุมมองด้านสิ่งแวดล้อม โดยยกประเด็นเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นเทรนด์ที่ต้องใส่ใจในปี 2024 พร้อมกับยกตัวอย่างผลการเจรจากรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออล ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montreal Gobal Biodiversity Framework) ที่แสดงให้เห็นว่า สังคมโลกมีความเห็นร่วมกันถึงกรอบแนวทางปฏิบัติที่จะประเมิน ติดตาม และตรวจสอบแนวโน้มการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ

ขณะที่หลาย ๆ ประเทศมีมาตรการตามแนวทางปฏิบัติดังกล่าวอย่างชัดเจน เช่น ประเทศอังกฤษ ออกกฎหมายที่กำลังจะมีผลบังคับใช้เพื่อให้เกิดการพัฒนาเมือง หรือพื้นที่อื่น ๆ ที่ต้องออกแบบให้เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพอย่างน้อย 10% เป็นต้น

การเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพจะทำให้สิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ ทำหน้าที่ในการฟื้นกลไกการทำงานของระบบนิเวศที่ล่มสลายไปแล้วขึ้นมาใหม่ และเปิดโอกาสให้ธรรมชาติจัดสรรตัวเอง แต่ในบางกรณีเราอาจต้องช่วยกันริเริ่มกระบวนการฟื้นฟู รวมถึงการ rewild จากเรื่องเล็ก ๆ รอบตัว เช่น การปล่อยให้หญ้าท้องถิ่นขึ้นมาแทนสนามหญ้าที่เรามักจะตัดให้เตียน เพื่อฟื้นประชากรแมลงที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เป็นต้น

“เพราะธรรมชาติมีความซับซ้อนอยู่เหนือความเข้าใจ และความสามารถของคน เราไม่ควรเข้าไปควบคุม หรือกำกับ ควรปล่อยให้อยู่ตามธรรมชาติ ตอนนี้เริ่มมีกฎหมายเพื่อให้มนุษย์ยอมรับในสิทธิโดยชอบธรรมของธรรมชาติ โดยที่ธรรมชาติไม่ต้องพิสูจน์คุณค่า หรือมูลค่าของตัวเอง

ฉะนั้นในปี 2024 ดิฉันคิดว่าเราจะเห็นเทรนด์การเปลี่ยนทัศนคติจากการมองเห็นมูลค่าทางเศรษฐกิจของธรรมชาติ ไปสู่การตระหนักในคุณค่าของธรรมชาติที่อุ้มชู และแยกออกจากชีวิตเราไม่ได้เลย ดังนั้น ความอดทนอดกลั้นกับการทำลายธรรมชาติควรจะต้องเป็นศูนย์ (Zero Tolerance) เพราะเราสูญเสียธรรมชาติไปมากกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว”