ม.รังสิตแนะแนวยุค AI เปิดทิศทางการศึกษาสู่โลกอนาคต

“ครูแนะแนว” มีความสำคัญต่อทิศทางการศึกษา และประกอบอาชีพกับนักเรียน ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยรังสิต (RSU) จึงตั้งใจสานต่อ “โครงการแนะแนวสัมพันธ์” ที่จัดต่อเนื่องมายาวนานตั้งแต่ปี 2544 โดยปี 2566 จัดในหัวข้อ “แนะแนวยุค Generative AI” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับทิศทางการศึกษาสู่อนาคต โดยมีครูแนะแนวจากโรงเรียนทั่วประเทศกว่า 65 คน เข้าร่วมโครงการ

วิสัยทัศน์ใหม่ ม.รังสิต

“ดร.อรรถวิท อุไรรัตน์” อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า กิจกรรมครูแนะแนวจัดต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2544 แต่ต้องหยุดไป 4 ปี เพราะสถานการณ์โควิด-19 ระบาด และกลับมาจัดปีนี้เป็นครั้งแรก โดยตั้งใจทำในหัวข้อ “แนะแนวยุค Generative AI” เพราะปัจจุบันเป็นยุคที่มีการเปลี่ยนรวดเร็ว และมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด

ดังนั้น ครูแนะแนวต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยี และสามารถเข้าใจความต้องการของเด็กรุ่นใหม่ ครูแนะแนวมีความสำคัญมากในการทำให้เด็กค้นพบตัวเอง เมื่อนักเรียนมีแนวทางที่ถูกต้องจะสามารถต่อยอดไปสู่ความสำเร็จ หรือแก้ไขปัญหาในชีวิตได้

สำหรับการจัดโครงการแนะแนวสัมพันธ์ครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่ครูแนะแนวทั่วประเทศ และ ม.รังสิตทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นโอกาสแสดงวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยในเส้นทางที่จะเดินไปข้างหน้า รวมทั้งได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเทรนด์ใหม่ ๆ ทั้งเรื่องปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เรื่องวิชาการ เรื่องกิจกรรม หรือแม้แต่เรื่องความสำคัญของสมุนไพรไทย สิ่งเหล่านี้สามารถสร้างประโยชน์ให้ประเทศอย่างมหาศาล

“ผมมารับตำแหน่งอธิการเกือบ 2 ปี ปีนี้เป็นปีที่มีนักศึกษาสมัครเรียนกับมหาวิทยาลัยรังสิตมากกว่าปีก่อนหน้าเท่าตัว โดยเราวางกลไกการเรียนการสอนแบบใหม่เป็น transformative learning ที่ให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการวางความคิด กลไก ค้นหาตัวเอง

จนนำไปสู่ความสำเร็จโดยใช้ระยะเวลาที่สั้นขึ้น และเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ 24 ชั่วโมง นอกจากนั้น เรามุ่งเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อชุมชน พร้อมจะสร้างประโยชน์ให้ชุมชนรอบรั้วมหาวิทยาลัยเติบโตไปพร้อมกัน”

“ดร.อรรถวิท” กล่าวด้วยว่า ความสำเร็จของการศึกษาไม่ใช่เพียงเรื่องเกรด แต่เป็นความสำเร็จในการใช้ชีวิต ซึ่ง ม.รังสิตส่งเสริมให้นักศึกษามีประสบการณ์ที่ดีภายใต้สภาพแวดล้อมที่ถูกยอมรับความหลากหลาย พร้อมกับส่งเสริมให้พวกเขาเป็นในสิ่งที่อยากเป็น ถูกสังคมยอมรับความหลากหลาย

“เราสอนให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ตลอดชีวิตจากกระบวนการ transformative learning นักศึกษาของเราจะเป็น change agent ผู้ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น”

จุดแข็งคือเข้าใจนักศึกษา

“ผศ.ดร.นฤพนธ์ ไชยยศ” รองอธิการบดีฝ่ายแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวเสริมว่า จุดแข็งของ ม.รังสิต คือการเข้าถึงความต้องการของคนรุ่นใหม่ สามารถเข้าไปนั่งในใจเด็กได้ เพราะความคาดหวังด้านอาชีพของคนยุคนี้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ดังนั้น มหาวิทยาลัยต้องปรับทั้งกระบวนการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับบริบทของโลกยุคใหม่ โดยจะต้องตอบคำถามนักศึกษาได้ว่าเขาเข้ามาเรียนแล้วได้อะไรออกไป

“ปัจจุบันเรามีมากกว่า 30 คณะ มีหลักสูตรมากกว่า 150 หลักสูตร แต่ละหลักสูตรสามารถคอลแลบส์กันได้ เช่น นิเทศเรียนร่วมกับไอที หรือผสมผสานการสร้างทักษะที่หลากหลาย ทั้งเรื่องวิชาการและกิจกรรม เช่น เป็นแพทย์ก็สามารถทำกิจกรรมเต้นได้ และหลังจากโควิด-19 คลี่คลาย

นักศึกษาต่างชาติกลับมาสนใจเรียนที่ ม.รังสิตเช่นเคย อันดับต้น ๆ ยังเป็นนักศึกษาจีน และช่วงนี้มีนักศึกษาเมียนมาเพิ่มขึ้น สะท้อนถึงชื่อเสียง และภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก และมีโอกาสที่จะเป็นฮับใหม่ของการศึกษาในอาเซียน”

กลยุทธ์วิจัยเพื่อชุมชน

“ผศ.ดร.นเรฏฐ์ พันธราธร” รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ม.รังสิตมีงานวิจัยที่พัฒนาศักยภาพอาจารย์ รวมทั้งการส่งเสริมการตีพิมพ์บทความวิจัย จดสิทธิบัตร และการบ่มเพาะธุรกิจมากมาย ที่ผ่านมาแบรนด์ ม.รังสิต มีการจดทรัพย์สินทางปัญญา มีความพยายามในการเข้าสู่เชิงพาณิชย์

ขณะเดียวกันก็เป็นงานวิจัย และนวัตกรรมที่สามารถลงสู่ชุมชน และพัฒนาชุมชนแบบยั่งยืน เราส่งเสริมให้นักศึกษามีส่วนช่วยเหลือคนในชุมชน และเน้นทำวิจัยเพื่อความยั่งยืน สร้างประโยชน์ให้กับคนในพื้นที่

ม.รังสิตไม่เพียงเป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำเท่านั้น แต่ยังสร้างเศรษฐกิจเกื้อกูลกับสังคมแห่งการแบ่งปัน ภายใต้ความร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ในการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อสร้างสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดีในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี

“เราจัดตั้งศูนย์พัฒนาหลักหก เพื่อพัฒนากลไกการดำเนินงานร่วมทุนที่ยั่งยืน จนเกิดเป็นแหล่งทุนระยะยาวสำหรับการดำเนินงานสร้างสุขภาวะของประชาชนจังหวัดปทุมธานี เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานของบุคคล ชุมชน หน่วยงาน และองค์กรที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาวะ รายได้ สิ่งแวดล้อม และสังคมของจังหวัดปทุมธานี สู่พื้นที่สุขภาวะที่ดีและยั่งยืน”

เสียงสะท้อนจากครูแนะแนว

“อาจารย์สะอาด ชัชวาลยางกูล” โรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์วิทยาคม จังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า มีโอกาสร่วมงานกับมหาวิทยาลัยรังสิตมายาวนานกว่า 20 ปี และได้ร่วมทริปศึกษาดูงานด้วยกันมาตลอด และทุกครั้งจะมีความรู้ใหม่ ๆ มาให้ครูแนะแนวเปิดประสบการณ์ และนำไปต่อยอดเพื่อปรับใช้กับการสอนให้ก้าวทันและตอบโจทย์ยุคสมัยสังคมที่เปลี่ยนไป

“ตลอดระยะเวลาของการเป็นครูแนะแนวมีความภาคภูมิใจในวิชาชีพครู เราเป็นครูด้วยจิตวิญญาณ ต้องพร้อมที่จะให้คำปรึกษาในทุก ๆ เรื่อง”

“อาจารย์อาทิตยา วินทะไชย” โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า โดยปกติทางมหาวิทยาลัยรังสิตเข้าไปแนะแนวที่โรงเรียนอยู่แล้ว ถือว่าเป็นโอกาสดีที่ได้มาเจอครูแนะแนวทั่วประเทศในโครงการแนะแนวสัมพันธ์ ทั้งยังได้พูดคุยแลกเปลี่ยนการทำงานระหว่างกัน ที่สำคัญคือได้รับความรู้ใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์สำหรับการแนะแนว และสามารถนำข้อมูลมาใช้ประกอบการแนะแนวการศึกษาต่อให้แก่นักเรียนได้

“ขอบคุณมหาวิทยาลัยรังสิตที่จัดโครงการศึกษาดูงานดี ๆ เพราะนอกจากจะได้ประสบการณ์ และการเปิดโลกกว้างในยุคที่ครูแนะแนวเองต้องก้าวทันเทคโนโลยีไปพร้อม ๆ กับความคิดของเด็กรุ่นใหม่”

“อาจารย์ปัทมา นัยกุล” โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย จังหวัดนครปฐม กล่าวว่า โครงการนี้ได้เชื่อมสัมพันธ์กับครูแนะแนวทั่วประเทศ ทั้งยังได้ความรู้เรื่องเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สามารถกลับไปใช้ประโยชน์ เช่น เรื่องของ AI ไปปรับใช้ในการเรียนการสอนกับเด็กยุค Gen Z ซึ่งครูแนะแนวเองต้องปรับตัวให้ก้าวทันยุคสมัย เพราะเราต้องเข้าใจเด็ก ก้าวทันสื่อ พร้อมที่จะเป็นทั้งครู เพื่อน และพี่ให้คำปรึกษาแก่พวกเขา

นับว่ามหาวิทยาลัยรังสิตปรับกระบวนการเรียนรู้ตามบริบทของโลกที่เปลี่ยน ส่งเสริมนักศึกษาเรียนรู้ความหลากหลาย และเข้าใจบทบาทของตัวเอง เพื่อเตรียมพร้อมสู่โลกการทำงานอย่างมืออาชีพ