“ปตท.”ปั้นโปรเจ็กต์ดูแลสังคม ผุดธุรกิจเนิร์สเซอรี่-ผลิตผ้าจากขยะ

พลิกปัญหามาเป็นธุรกิจ เครือ ปตท.ผนึกแรงเดินหน้ากิจกรรมเพื่อสังคมแบบยกแผง ด้วยรูปแบบวิสาหกิจชุมชน เปิด 3 โปรเจ็กต์ใหญ่ธุรกิจเนิร์สเซอรี่-เสื้อผ้าจากขยะพลาสติก และผลิตเม็ดพลาสติกป้อนการผลิตขาเทียมในราคาเข้าถึงได้ สร้างชุมชนและธุรกิจเติบโตไปด้วยกัน ลดความเหลื่อมล้ำ

นายกฤษณ์ อิ่มแสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กำกับดูแลองค์กรและกิจการสัมพันธ์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงทิศทางการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมในปี 2562 ของบริษัทในเครือ ปตท.ว่าจะดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติฉบับใหม่ที่เน้นในเรื่องการศึกษา และการดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงยังเป็นนโยบายของนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ที่ต้องการให้ใช้รูปแบบ social enterprise (SE) คือการนำกลไกการบริหารจัดการที่ดีของภาคธุรกิจมาแก้ไขปัญหาทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อม และพัฒนาโครงการในเชิงธุรกิจ

โดยชุมชนสามารถเลือกได้ว่าจะร่วมมือกันอย่างไร ตามแนวทางที่มีอยู่คือชุมชนกับ ปตท.จะร่วมกันลงทุนตามสัดส่วนที่เหมาะสม หรือหากประสบความสำเร็จมาก ชุมชนสามารถซื้อหุ้นคืนได้ โดยกำไรที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการจะอยู่ภายใต้การบริหารของบริษัท สานพลังชุมชน จำกัด ที่บริษัทในเครือ ปตท.ร่วมกันจัดตั้งขึ้น สำหรับใช้เป็นกลไกสำคัญในการทำโครงการ SE โดยบริษัทในเครือ ปตท.ใส่งบประมาณเข้ามารวมทั้งสิ้น 40 ล้านบาท ซึ่งกำไรที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานจะใส่ไว้ในบัญชีของบริษัท สานพลังชุมชน เพื่อนำไปลงทุนพัฒนาร่วมกับชุมชนในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

สำหรับโครงการเพื่อสังคมในรูปแบบ social enterprise ในเครือ ปตท.ที่จะดำเนินการในปี 2562 นี้ คือ 1) ธุรกิจศูนย์รับเลี้ยงเด็ก หรือเนิร์สเซอรี่ สำหรับศูนย์แห่งแรกจะอยู่ในพื้นที่สำนักงานใหญ่ของ ปตท. ถ.วิภาวดี เพื่อรองรับความต้องการของพนักงาน ปตท.ที่จะฝากบุตรไว้กับเนิร์สเซอรี่ในช่วงเวลาทำงาน ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางรับ-ส่ง นอกจากนี้จะเสริมบริการสอนการบ้านให้กับเด็กตั้งแต่ ป.1-3 ที่รอพ่อแม่เลิกงาน ในช่วงเริ่มต้นกำหนดจำนวนเด็กไว้ที่ 60 คน โดย ปตท.จะร่วมมือกับชุมชนโดยรอบสำนักงานใหญ่ เช่น กลุ่มแม่บ้านชุมชนรถไฟ และอื่น ๆ เข้ามาทำงานในศูนย์รับเลี้ยงเด็ก และหากผลตอบรับดีจะขยายไปยังอาคารสำนักงานอื่น ๆ ที่มีความสนใจ เช่น บริษัท การบินไทย เป็นต้น

2) โครงการผลิตเสื้อผ้าจากขยะพลาสติกเพื่อจำหน่ายของบริษัท พีทีทีจีซี โกลบอล เคมิคัลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC เป็นการต่อยอดโครงการ Upcycling ที่นำขยะพลาสติกที่เก็บขึ้นมาจากท้องทะล ด้วยการนำมาผลิตเป็นเสื้อผ้า รองเท้า และกระเป๋า 3) โครงการผลิตขาเทียมจากพลาสติก โดยบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ที่มีการพัฒนาเม็ดพลาสติกให้สามารถผลิตขาเทียมได้ เนื่องจากปัจจุบันต้องนำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาแพง ซึ่งหากผลิตได้เองภายในประเทศ จะทำให้ราคาถูกลง และประชาชนที่ต้องการใช้เข้าถึงได้

“ปตท.จะใช้เทคโนโลยี และดิจิทัลต่าง ๆ เข้ามาเสริมศักยภาพด้วยแอปพลิเคชั่นที่ทำให้พ่อแม่เห็นว่าขณะนี้ลูกกำลังทำกิจกรรมอะไรอยู่ผ่านสมาร์ทโฟน ในเรื่องนี้คุณชาญศิลป์ ตรีนุชกร ซีอีโอของ ปตท.ต้องการให้การทำโครงการ CSR ที่มุ่งเน้นในจุดที่มีประเด็นของสังคม โดยนำรูปแบบที่เหมาะสมเข้าไปช่วยแก้ปัญหา ซึ่งเป้าหมายสำคัญของ ปตท.คือมุ่งหวังให้ชุมชนอยู่ได้อย่างยั่งยืน และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

นายกฤษณ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ปตท.ยังอยู่ในระหว่างพิจารณาโครงการใหม่ ๆ ในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน โดยเฉพาะการใช้ธุรกิจสถานีบริการน้ำมันของบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ PTTOR ที่จะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในพื้นที่มากขึ้น อย่างเช่น การเป็นจุดระบายสินค้าทางการเกษตรที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และประสบความสำเร็จ เพราะทำให้ราคาสินค้าเกษตรปรับราคาขึ้น และ ปตท.จะเน้นในรูปแบบนี้มากขึ้น เนื่องจากภาครัฐเห็นว่าโครงการและกิจกรรมเพื่อสังคมเหล่านี้จะสามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ลดการทำงานของรัฐบาล จึงจูงใจด้วยการลดภาษี

นอกจากนี้ ภาคเอกชนส่วนใหญ่มีความเห็นว่าในไทยยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานในการกำจัดขยะอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะขยะพลาสติก ฉะนั้น ภาครัฐควรกำหนด “ค่ากำจัด” ให้รวมอยู่ในสินค้า หรืออาจจะจัดเก็บในรูปแบบภาษีในการกำจัดขยะ ยกตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่น เครื่องใช้ไฟฟ้าจะมีการกำหนดค่ากำจัดบวกรวมเอาไว้ในราคาสินค้า และมีแอปพลิเคชั่นที่สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาเก็บขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ปตท. ได้ดำเนินโครงการรับซื้อกาแฟจากชาวเขาในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยใช้รูปแบบ SE ด้วยเช่นกัน