คอลัมน์ HR Corner
โดย อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา สลิงชอท กรุ๊ป
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้นำประสบความสำเร็จ คือ การใช้อำนาจ (power) ที่มีอย่างเหมาะสมเมื่อพูดถึงอำนาจ คนส่วนใหญ่มักคิดถึงตำแหน่ง เพราะเชื่อว่าถ้ามีตำแหน่งก็จะมีอำนาจ หากไม่มีตำแหน่งก็ไม่มีอำนาจ ยิ่งตำแหน่งสูง
ยิ่งมีอำนาจมาก อันที่จริง เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องเพียงครึ่งเดียวเพราะชีวิตในความเป็นจริง ผู้นำหลายคนที่มีตำแหน่งใหญ่โต ก็ไม่ได้มีอำนาจมากมายขนาดสั่งให้ใครซ้ายหัน ขวาหันได้ทั้งหมด ในทางกลับกัน คนบางคนไม่มีตำแหน่งหน้าที่อย่างเป็นทางการ แต่มีคนเกรงใจ บอกให้ไปซ้ายก็ซ้าย บอกให้ไปขวาก็ขวาได้
ในทางการบริหาร อำนาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ อำนาจที่มาจากตำแหน่ง ภาษาอังกฤษเรียกว่า position power และอำนาจเฉพาะตัว ภาษาอังกฤษเรียกว่า personal power (ภาษาไทยมีชื่อเรียกคล้าย ๆ กัน แม้จะไม่ตรง 100% ว่า พระเดช และพระคุณ ตามลำดับ โดยพระเดช มีความหมายใกล้เคียงกับ position power ในขณะที่พระคุณ ใกล้เคียงกับ personal power)
ผู้นำที่ประสบความสำเร็จ ต้องอาศัยทั้งพระเดช และพระคุณ ประกอบกันปัจจัยที่ช่วยเสริมสร้างพระเดช (position power) ให้เข้มแข็ง ประกอบไปด้วย ปัจจัย 3 ประการ
หนึ่ง อำนาจในการให้คุณ (rewarding rower) – ผู้ที่สามารถให้ประโยชน์หรือเอื้อประโยชน์กับผู้อื่นได้ เป็นผู้ที่มีอำนาจ และนี่คือเหตุผลที่อธิบายว่า เหตุใดจึงมีผู้คนมากมายพยายามห้อมล้อม พินอบพิเทาผู้มีอำนาจอยู่เสมอ ๆ เพราะคนเหล่านั้นสามารถให้ “คุณ” กับพวกเขาได้
สอง อำนาจในการให้โทษ (coercive power) – ผู้ที่สามารถลงโทษหรือบันดาลผลลัพธ์ที่เป็นลบให้กับผู้ที่ไม่เชื่อฟังหรือไม่ปฏิบัติตามได้ เป็นผู้มีอำนาจ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คนหลายคนยอมทำตามนโยบาย และข้อกำหนดต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่เห็นด้วย เพราะเกรงกลัวอำนาจในการให้โทษนี้
สาม แบ็กดี มีผู้ใหญ่สนับสนุน (connection power) – การมีเส้นสายดี และมีผู้ใหญ่สนับสนุน จึงทำให้ position power แข็งแรงขึ้น ถึงแม้ตัวเองอาจไม่ได้มีตำแหน่งใหญ่โต แต่ถ้าเป็นคนใกล้ชิดของผู้ใหญ่ หรือเข้าถึงแหล่งอำนาจได้ ผู้นั้นก็มีอำนาจเช่นกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ง่าย ๆ คือ เลขาฯของผู้บริหารระดับสูง แม้ตำแหน่งเลขาฯจะไม่ได้ใหญ่โตอะไร แต่เนื่องจากอยู่ใกล้ผู้บริหาร จึงทำให้ผู้คนเกรงใจ
สำหรับอำนาจส่วนบุคคล (personal power) อาศัยปัจจัย 3 อย่าง ในการช่วยเสริมสร้างให้เข้มแข็ง ได้แก่
หนึ่ง ความเก่ง ความชำนาญ ความเชี่ยวชาญ (expert power) – คนเก่ง มักมีคนเชื่อฟัง และทำตาม หากผู้ตามมั่นใจในความสามารถของผู้นำ การบริหารทีมมักจะราบรื่น ในทางกลับกัน หากผู้ตามไม่เชื่อมั่นว่าผู้นำเป็นคนเก่ง บางทีการมีตำแหน่ง ก็ไม่สามารถช่วยให้การนำพาทีมประสบความสำเร็จได้
สอง รู้กว้าง รู้เยอะ มีข้อมูลมาก (information power) – บางครั้งผู้นำอาจเก่งหรือมีความเชี่ยวชาญความชำนาญสู้ลูกทีมไม่ได้ พูดง่าย ๆ คือ รู้ลึกไม่เท่าลูกน้อง แต่ถ้ารู้เยอะกว่า รู้มากกว่า รู้กว้างกว่า ก็ยังสามารถสร้างการยอมรับให้เกิดขึ้นได้เช่นกัน
สาม การวางตัวเหมาะสม (referent power) – ความเป็นคนดี มีคุณธรรม รักษาคำพูด สามารถช่วยเสริมสร้างความยอมรับให้เกิดขึ้นได้ ผู้นำที่ประสบความสำเร็จหลายคนบนโลกใบนี้ อาจไม่มีตำแหน่งใหญ่โต แต่เพราะการวางตัวของท่าน ทำให้มีผู้ที่ศรัทธาและเชื่อฟังรวมทั้งทำตามมากมาย ตัวอย่าง เช่น มหาตมะ คานธี แม่ชีเทเรซ่า นางออง ซาน ซู จี ตั้งแต่ครั้งยังไม่ได้เล่นการเมือง เป็นต้น
ปัจจัยทั้ง 6 อย่างนี้ หากดูแลรักษาให้ดี สามารถงอกเงยเพิ่มพูนได้ ในทางกลับกัน หากใช้ไม่ดี ก็มีโอกาสที่จะเสื่อมถอยลดลงได้เช่นกัน ดังนั้น ลองสังเกตดูว่า ตนเองมีทั้งพระเดชและพระคุณพร้อมสรรพหรือไม่ การบริหารทั้งอำนาจที่มาจากตำแหน่ง (position power) และอำนาจส่วนบุคคล (personal power) อย่างมีประสิทธิภาพ จะเป็นเกราะป้องกันการดำเนินชีวิตให้เจริญก้าวหน้าและประสบความสำเร็จได้
อย่างไรก็ตาม อำนาจเป็นเสมือนดาบสองคม หากนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง ก็อาจเป็นภัยต่อทั้งตนเองและผู้อื่นได้เช่นกัน