ไม่นานผ่านมาบริษัท คินเซนทริค และสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศเปิดความร่วมมือการประกวดสุดยอดองค์กรนายจ้างดีเด่นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 20 ซึ่งครอบคลุม 14 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชีย และตะวันออกกลาง รวมถึงยังมีการจัดประกวดโครงการดังกล่าวทั่วโลก ทั้งทวีปอเมริกาเหนือ, ละตินอเมริกา, ยุโรป, ตะวันออกกลาง, แอฟริกาเหนือ และแอฟริกาใต้สะฮารา
นอกจากนั้น ภายในงานยังมีเปิดตัวโครงการ โดยได้รับความเกียรติจาก “ศ.ดร.Ian Fenwick” Director from Sasin School of Management มาร่วมพูดคุย พร้อมแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกันในหัวข้อ “The Future World of Work-Digital Transformation” ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่พูดถึงการเปลี่ยนแปลงในเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล เศรษฐกิจ สภาพสังคม จนทำให้องค์กรต่าง ๆ ต้องปรับเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนกลยุทธ์ และการบริหารงานเพื่อให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
ขณะที่เนื้อหาอีกส่วนหนึ่งจะพูดคุยถึงผลกระทบจากเทคโนโลยีดิจิทัลในแต่ละช่วงเวลาจากอดีตไปสู่อนาคตอันใกล้ โดยสิ่งที่สำคัญมากที่สุดคือต้องมีความยืดหยุ่น ว่องไว ในการปรับแผนกลยุทธ์ และการปฏิบัติให้ทันกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป
“อาจารย์สุภาพร จันทร์จำเริญ” รองผู้อำนวยการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบอกว่า องค์กรนายจ้าง และนักบริหารบุคคลยุคเศรษฐกิจพลิกผันต้องมีความเข้าใจลึกซึ้งเรื่องไลฟ์สไตล์ ค่านิยม และความคาดหวังของพนักงานรุ่นใหม่ที่มีความแตกต่างจากคนรุ่นก่อน
“ต้องรู้จักใช้เทคโนโลยียุคดิจิทัลมาพัฒนางานบริหารบุคคล ได้แก่ การสร้างแบรนด์นายจ้าง การสรรหา พัฒนา และรักษาพนักงานต่างวัย ต้องสามารถตอบคำถาม และแก้ปัญหาเรื่องบุคลากรให้แก่ธุรกิจโดยการประมวลวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบอย่างรวดเร็วแม่นยำ เช่น สามารถแสดงตัวเลขความเสี่ยงด้านกำลังคนขององค์กรในแง่ปริมาณและคุณภาพ เป็นต้น”
“ดร.อดิศักดิ์ จันทรประภาเลิศ” กรรมการผู้จัดการบริษัท คินเซนทริค ประเทศไทย พูดถึงการนำเสนอผลสำรวจจากการประกวดสุดยอดองค์กรนายจ้างดีเด่นในปี 2562 และข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวโน้มในอนาคตในการจัดการทรัพยากรบุคคล โดยองค์กรที่ได้รับรางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่นในปีที่ผ่านมามักมี 4 มิติหลักที่มีความโดดเด่นมากกว่าองค์กรทั่วไป ได้แก่ ความผูกพันของพนักงานที่มีต่อองค์กร, ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของนายจ้าง, ประสิทธิภาพของผู้นำ และวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์
“อีกทั้งในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาส่งผลกระทบต่อรูปแบบการทำงาน การสำรวจความผูกพันของพนักงานเพียงครั้งเดียวต่อปี อาจไม่เพียงพอในทุกวันนี้ องค์กรควรใช้กลยุทธ์การรับฟังเสียงพนักงานอย่างต่อเนื่องผ่านเครื่องมือ และช่องทางต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้าง และสนับสนุนให้พนักงานมีความรักและผูกพันกับองค์กรมากขึ้น”
“นภัส ศิริวรางกูร” ผู้อำนวยการ และ Practice Lead ด้านภาวะผู้นำ บริษัท คินเซนทริค ประเทศไทย กล่าวเสริมว่k การพัฒนาคนในองค์กรต่าง ๆ จะมีการนำวิธีการใหม่ ๆ ที่รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมาช่วยให้ผู้นำองค์กรสามารถมีโครงสร้าง และวัฒนธรรมที่เอื้อกับการทำงาน ด้วยการพัฒนาหัวหน้า และพนักงานให้มีทักษะที่สำคัญ และปรับตัวกับรูปแบบการทำงานให้สอดคล้องกับโลกดิจิทัล ซึ่งจะช่วยให้องค์กรมีประสิทธิภาพดีขึ้น
“สำหรับในส่วนของการประกวดสุดยอดองค์กรนายจ้างดีเด่น ประจำประเทศไทยปี 2563 จะเป็นโครงการที่เข้าไปเก็บข้อมูลจริงกับกลุ่มพนักงาน ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีความสดใหม่ ณ ช่วงเวลานั้น รวมกับมุมมองของผู้บริหารในเชิงธุรกิจ และกระบวนการดูแลพนักงาน เพื่อดูความสอดคล้องของข้อมูล และได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการอิสระ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ”
“ยิ่งไปกว่านั้นการประกวดสุดยอดองค์กรนายจ้างดีเด่นในปีที่ผ่านมาพบว่า องค์กรที่ได้เป็นสุดยอดนายจ้างดีเด่น มีผลประสิทธิภาพการดำเนินงานโดยรวมสูงกว่าองค์กรทั่วไปถึง 86 เปอร์เซ็นต์โดยเฉลี่ย และถ้ามองในมิติของผลการเติบโตของผลประกอบการในภาพรวมจะมีอัตราการเติบโตของยอดขายที่สูงกว่า 71 เปอร์เซ็นต์โดยเฉลี่ย ดังนั้น องค์กรที่เป็นสุดยอดนายจ้างดีเด่นมีการสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่พนักงานในมิติต่าง ๆ ในด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลที่เด่นกว่าองค์กรทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นระบบการจัดการผลการปฏิบัติงาน, โอกาสความก้าวหน้าทางอาชีพ, การเรียนรู้ และพัฒนา รวมถึงความน่าสนใจงานที่ได้รับมอบหมาย”
“นอกจากนี้ ในอนาคตอันใกล้ราวปี 2568 กลุ่มพนักงานรุ่นใหม่ (millennial) จะเข้าสู่ภาคแรงงานคิดเป็นจำนวนถึงร้อยละ 75 ของแรงงานในแต่ละองค์กร เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อพนักงาน และการทำงานมากยิ่งขึ้น การทำงานที่เชื่อมต่ออุปกรณ์เคลื่อนที่จะมีมากถึง 6-7 ครั้งต่อคนโดยเฉลี่ย ซึ่งเป็นอัตราที่มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่การเชื่อมต่อโดยเฉลี่ยต่อคนจะอยู่ที่ 4X ดังนั้น ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล (HR technology platform) จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนในการสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจตลอดวงจรชีวิตการทำงานของพนักงานแต่ละคน”
“ดร.พิมพิมน คงพิชญานนท์” ผู้จัดการโครงการประกวดสุดยอดองค์กรนายจ้างดีเด่นประจำปี 2563 กล่าวถึงรายละเอียดของโครงการว่า แบบสำรวจมาตรฐานจะถูกนำไปใช้ทุกบริษัทที่เข้าร่วมโครงการทั่วทุกภูมิภาค โดยโครงการเน้นย้ำ 3 ด้านของบริษัท ได้แก่ แบบสำรวจความคิดเห็นของพนักงาน, ระบบการจัดการภายในองค์กร และมุมมองของผู้บริหารสูงสุดในการบริหารองค์กร
“สำหรับการสมัครเข้าโครงการสุดยอดนายจ้างดีเด่นประจำปี 2563 ปัจจุบันอยู่ในช่วงเปิดรับสมัครองค์กรที่สนใจเข้าร่วมโครงการ และปิดรับสมัครในวันสุดท้ายของเดือนพฤษภาคมปี 2563 และจะจัดเก็บข้อมูลดำเนินจนถึงวันสุดท้ายของเดือนมิถุนายน ปี 2563 นี้”
ฉะนั้น องค์กรต่าง ๆ จึงมิควรพลาดโครงการประกวดสุดยอดองค์กรนายจ้างดีเด่นประจำปี 2563 ครั้งนี้อย่างยิ่ง