เขย่าสูตรประกันสังคม จ่ายชดเชยว่างงานจากโควิด 1 ล้านราย

พนักงาน ลูกจ้าง1 ล้านคนเฮ! ประกันสังคมจ่ายชดเชยว่างงาน 5-9 พันบาท/เดือน หยุดชั่วคราววิกฤตโควิตเหตุสุดวิสัย ครม.ไฟเขียว นายจ้างโล่งไม่ต้องแบกภาระ ลุ้นโรคระบาดจบเร็ว หากยืดเยื้อหวั่นกองทุนทดแทนว่างงานต้องควักจ่ายจนเกลี้ยง “หม่อมเต่า” รื้อโครงสร้างบริหารจัดการเงินก้อนโต 2 ล้านล้าน ปรับโมเดลบริหารจัดการใหม่ทั้งระบบ ผงะรัฐบาลตัวดีค้างหนี้กองทุนประกันสังคมแสนล้าน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า การประชุมคณะกรรมการกองทุนประกันสังคม เมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา นอกจากบอร์ดประกันสังคมจะพิจารณาชี้ขาดกรณีสถานประกอบการ นายจ้างประกาศปิดกิจการชั่วคราวช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยไม่ได้มีคำสั่งปิดจากหน่วยงานรัฐว่า จะถือเป็นเหตุสุดวิสัยได้รับสิทธิช่วยเหลือตามมาตรการเยียวยา 5,000 บาท ระยะเวลา3 เดือน ภายใต้โครงการ “เราไม่ทิ้งกัน”ของรัฐบาลหรือไม่แล้ว บอร์ดมีวาระจะหารือหัวข้อสำคัญอื่น ๆ อีกหลายเรื่องโดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับภาระทางการเงินของกองทุนประกันสังคม อย่างเงินกองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน เงินกองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทน 4 กรณี (เจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร ตาย) เงินกองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทน 2 กรณี (สงเคราะห์บุตร และชราภาพ) เงินกองทุนในส่วนของผู้ประกันตนมาตรา 40 (อาชีพอิสระ-แรงงานนอกระบบ) รวมทั้งกรณีที่รัฐบาลยังค้างจ่ายเงินเข้าสมทบกองทุนประกันสังคม คิดเป็นวงเงินรวมกว่า 1 แสนล้านบาท

จ่ายเดือนละ 5,045-9,300 บาท เยียวยาคนตกงาน

เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ… ในกรณีมีเหตุสุดวิสัยถึงขนาดที่นายจ้างต้องหยุดประกอบกิจการไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมดเป็นการชั่วคราวและลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานไม่สามารถทำงานได้ และไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น ไม่ว่านายจ้างจะหยุดประกอบกิจการเองหรือหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งของทางราชการ ให้ลูกจ้าง ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการแต่ไม่เกิน 90 วัน โดยจะรีบออกกฏกระทรวงให้มีผลบังคับใช้ภายในสัปดาห์นี้

ขณะนี้สำนักงานประกันสังคมมีเงินในส่วนกองทุนว่างงานอยู่ 164,000 ล้านบาท ที่จะนำมาดูแลผู้ประกันตนตามมาตรา 33 คาดว่ามีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และได้รับเงินชดเชยประมาณ 1 ล้านคน โดยเงินชดเชยที่จะจ่ายให้เดือนละ 5,045-9,300 บาท คาดว่าในช่วง 3 เดือนนี้จะใช้เงินจากกองทุนประกันสังคมจ่ายชดเชยให้ผู้ว่างงาน ประมาณ 20,000 ล้านบาท

ส่วนผู้ว่างงานที่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจ สํานักงานประกันสังคมได้กันเงินจ่ายชดเชยไว้ให้ 90,000 ล้านบาท สำหรับ 1.1 ล้านคน ในช่วงเวลา 2 ปีจากนี้ แบ่งออกเป็น ผู้ลาออก เพิ่มสิทธิ์รับเงินชดเชยจาก 30% เป็น45% ระยะเวลา 90 วัน ถูกเลิกจ้าง เพิ่มสิทธิ์จาก 50% เป็น 70% ระยะเวลา 200 วัน

Advertisment

“ขอยืนยันว่าเงินที่นำมาใช้ไม่แตะกองทุนในส่วนชราภาพที่มันอยู่ 1.6 ล้านล้านบาท ส่วนกองทุนในส่วนประกันสุขภาพที่ใช้อยู่ประมาณปีละ 50,000 ล้านบาทนั้น สํานักงานประกันสังคมพร้อมนำเงินมาเพื่อรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างเต็มที่ โดยปัจจุบันมีจำนวน 362 คน ให้ทางโรงพยาบาลรักษาอย่างเต็มที่ส่วนจะใช้เงินเท่าไหร่ ทางโรงพยาบาลจะมีการมาเบิกกับสำนักงานประกันสังคม อย่างไรก็ตาม พบข้อมูลว่าตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 อุบัติเหตุลดลงอย่างมากทำให้รายจ่ายด้านนี้ลดลง”

หวั่น 1.8 แสนล้านเกลี้ยง

ทั้งนี้ ณ ไตรมาสที่ 3/2562 ที่ผ่านมาสถานะกองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์กรณีว่างงาน มีวงเงินรวมทั้งสิ้น 181,641 ล้านบาท ซึ่งหากต้องจ่ายเยียวยาชดเชยให้กับผู้ประกันตนที่ว่างงานจากสถานการณ์โควิด วงเงินดังกล่าวน่าจะมีเพียงพอรองรับภายใน 3 เดือนเท่านั้น แต่หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดยังลามไม่หยุด สถานประกอบการ ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า ร้านอาหาร ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ยังต้องปิดกิจการยาวเพื่อลดความเสี่ยงต่อไปอีกรวมเป็น 6 เดือน สถานะกองทุนอาจมีปัญหาเนื่องจากอาจมีเงินไม่พอจ่าย

หาช่องเกลี่ย-กู้จากกองอื่นมาโปะ

แหล่งข่าวกล่าวว่า กรณีสถานการณ์บีบบังคับ เนื่องจากมีความจำเป็นต้องจ่ายเงินชดเชยเยียวยาให้กับพนักงาน ลูกจ้าง ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดต่อเนื่อง บอร์ดประกันสังคมอาจต้องพิจารณาเกลี่ยเงินจากกองทุนอื่นซึ่งมีอยู่อีก 3 กอง ได้แก่ 1.กองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทน 4 กรณี (เจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร และตาย) ซึ่งมีวงเงินในกองทุนอยู่ 120,776 ล้านบาท 2.กองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทน 2 กรณี (สงเคราะหบุตร และชราภาพ) มีวงเงินในกองทุน 1,861,643 ล้านบาท และ 3.เงินกองทุนในส่วนของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 วงเงิน 2,055,040 ล้านบาท

แนวทางดำเนินการอาจต้องเตรียมไว้ทั้งยืมเงิน หรือกู้จากกองทุน ขึ้นอยู่กับระเบียบกฎหมายเปิดช่องให้ทำอย่างไรได้บ้าง แต่หากเห็นว่าเงินกองทุนสำหรับชดเชยการว่างงานมีเงินเพียงพอจ่ายชดเชย ช่วงเฉพาะหน้าคงไม่มีปัญหา แต่อาจต้องศึกษาหาช่องทางรับสถานการณ์ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นโดยไม่คาดฝัน

Advertisment

รื้อโครงสร้างกองทุน

หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดซึ่งถือเป็นเหตุวิกฤตฉุกเฉิน หรือเหตุสุดวิสัยซึ่งไม่มีใครคาดคิดมาก่อน แถมวิกฤตครั้งนี้ลุกลามไปทั่วโลก ถือเป็นสิ่งท้าทาย และเป็นโจทย์ใหญ่ให้บอร์ดประกันสังคมต้องวางแผนโดยมองไปถึงอนาคตว่าจำเป็นต้องปรับรื้อโครงสร้างกองทุนประกันสังคมเพื่อรองรับสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากนี้ไปโดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนโครงสร้างประชากร มีคนสูงวัยเพิ่ม คนที่ออกจากระบบประกันสังคมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่คนในวัยทำงานที่จะเข้ามาสู่ระบบประกันสังคมจะลดน้อยลง

“ขณะนี้มีเงินกองทุนประกันสังคมราว 2 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้มี 1.8 ล้านล้านบาท จะเป็นเงินบำนาญ ที่นายจ้างลูกจ้าง ผู้ที่จะได้เงินบำนาญจะต้องจ่ายเข้าระบบประกันสังคมมาอย่างน้อย 15 ปี เพราะฉะนั้น 15 ปีแรกจะมีแต่คนส่งเข้า ไม่มีใครเบิก แต่หลังจาก 15 ปีแล้ว อยู่ไปอีก20 ปี จะมีคนเบิกมากขึ้นจากที่ครบเกษียณอายุ ขณะที่คนจะเข้ามาในระบบประกันสังคมลดน้อยลง เนื่องจากในอนาคตประชากรไทยจะลดน้อยลง”

ชงโมเดลบริหารจัดการ

แหล่งข่าวกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีนโยบายศึกษาเพื่อพิจารณาโครงสร้างกองทุนประกันสังคม ซึ่งมีอยู่ 4 ฟังก์ชั่น การจัดเก็บเงินก็แยกเป็น 4 บล็อก เก็บในอัตราต่างกัน รัฐบาลก็จ่ายสมทบในอัตราที่แตกต่างกัน บางบล็อกหรือบางฟังก์ชั่นเงินจะหมดใน 5-7 ปีต่อจากนี้ไป จะต้องหาทางแก้ไขว่าดำเนินการโดยวิธีใดได้บ้าง เช่น จัดเก็บเงินเพิ่ม เป็นต้น หรือบางกองทุนเดิมคิดว่าอีกประมาณ 100 ปี ก็ใช้ไม่หมด อย่างกองทุนทดแทนการว่างงาน เดิมคิดว่าในอนาคตจะมีวงเงินเพิ่มขึ้น ๆ แต่บังเอิญเกิดวิกฤตโควิด มีคนตกงานอย่างมากมาย จึงมีปัญหาแบบคาดไม่ถึง จึงจำเป็นต้องเร่งศึกษาทั้ง 4 ฟังก์ชั่น ว่าต้องปรับเปลี่ยน รื้อโครงสร้างอย่างไร ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม ส่วนนี้ไม่ได้มีความเร่งรีบ ให้สถานการณ์ทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ เศรษฐกิจในภาพรวมดีขึ้นกว่านี้ แล้วค่อยดูว่าส่วนไหนต้องจัดเก็บเงินเพิ่ม และ ควรเก็บเพิ่มในอัตราเท่าใด แต่เมื่อเก็บเงินเพิ่ม ก็ต้องให้สิทธิประโยชน์กับผู้ประกันตนเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งหมดนี้ รมว.แรงงานจะทำเป็นโมเดลเสนอรัฐบาล สำหรับใช้บริหารจัดการระบบประกันสังคมในอนาคต

แหล่งข่าวจากสำนักงานประกันสังคมเปิดเผยว่า ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2563 มีสถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับกองทุนประกันสังคมทั้งหมด 490,076 แห่งเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 รวม 11,730,351 คน ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 รวม 1,665,227 คน

เปิดสถานะการเงิน 4 กองทุน

ขณะที่งบการเงินของกองทุนประกันสังคม ณ สิ้นไตรมาส 3/2562 ทั้งสิ้น 2,177,473 ล้านบาท แยกเป็น เงินกองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดเทน 4 กรณี คือ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร และตาย 120,776 ล้านบาท เงินกองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทน 2 กรณี ได้แก่ สงเคราะห์บุตร และชราภาพ 1,861,643 ล้านบาท เงินกองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน 181,641 ล้านบาท เงินกองทุนในส่วนผู้ประกันตนตามมาตรา 40 รวม 13,412 ล้านบาท

เปิดพอร์ตลงทุน 2 ล้านล้าน

นอกจากนี้ ได้มีการจัดสรรเงินกองทุนประกันสังคมไปลงทุน 2,095,393 ล้านบาท หรือประมาณ 90% ของเงินกองทุนสะสมทั้งหมด (ณ 31 ธันวาคม 2562) ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง 1,691,194 ล้านบาท คิดเป็น 81% เป็น พันธบัตรรัฐบาลและที่กระทรวงคลัง ค้ำประกัน 1,412,674 ล้านบาท หน่วยลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ 93,686 ล้านบาท เงินฝาก 79,613 ล้านบาท หุ้นกู้เอกชนที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ 1,045,220 ล้านบาท

ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยง 404,199 ล้านบาท หรือ 19% อาทิ หน่วยลงทุนตราสารหนี้ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือและตราสารทุนต่างประเทศ 91,424 ล้านบาท ตราสารทุนไทย 238,040 ล้านบาท พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่คลังไม่ได้ค้ำประกัน 9,483 ล้านบาทกองทุนอสังหาริมทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐาน ทองคำ 65,253 ล้านบาท ผลตอบแทนจากการลงทุนสะสมตั้งแต่ปี 2534-2562 รวม 666,030 ล้านบาท

รัฐเบี้ยวจ่ายสมทบแสนล้าน

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า อีกเรื่องที่มีการหยิบยกขึ้นหารือ เป็นประเด็นที่รัฐบาลค้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมหลายปีที่ผ่านมา ทำให้มีเงินค้างจ่ายทั้งหมดสูงถึง 107,000 ล้านบาท เหตุที่ต้องหยิบยกประเด็นนี้มาพิจารณา เนื่องจากช่วงสถานการณ์วิกฤตประกันสังคมมีภาระรายจ่ายต้องจ่ายชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนับแสนล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อตรวจสอบข้อมูลพบว่า ตั้งแต่ตั้งกองทุนประกันสังคมปี 2534 รัฐบาลจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพียงแค่ 3-4 ปีเท่านั้นกองทุนจึงจำเป็นต้องทวงถามหนี้ก้อนนี้ และขอให้รัฐบาลเร่งจ่ายคืน ล่าสุดช่วงต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลรับปากจะจ่ายหนี้คืนให้ ก้อนแรก 17,000 ล้านบาท

สำหรับหนี้ที่เหลืออีกราว 87,000 ล้านบาทจะทยอยจ่ายคืนแต่ละปี ๆ จากปีนี้เป็นต้นไป แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ยังไม่มั่นใจว่าเงิน 17,000 ล้านบาท ที่จะจ่ายหนี้ให้ในปีนี้ กองทุนประกันสังคมยังจะได้คืนหรือเปล่า