คิดถึงบันได 9 ขั้น และในหลวงรัชกาลที่ 9

Work from Home รูปประกอบข่าว
แฟ้มภาพ

คอลัมน์ CSR Talk

โดย ณัฐณรินทร์ อิสริยเมธา

 

ดิฉันทำงานจากที่บ้าน หรือ work from home มาได้ประมาณ 1 เดือนแล้วค่ะ เป็นช่วงเวลาที่ดิฉันได้เห็น ได้รู้สึก และได้ทบทวนอะไรหลายอย่างมากมาย จึงขอโอกาสนี้แบ่งปันให้กับทุกท่านนะคะ

ในขณะที่บริษัทต่างกังวลว่าเมื่อทำงานอยู่ที่บ้านแล้ว พนักงานจะทำงานกันได้หรือไม่ จะมีอุปสรรคอะไรหรือเปล่า ในความเป็นจริง เท่าที่ดิฉันได้ลองพูดคุย สอบถามจากคนรอบตัวที่ต้องทำงานจากที่บ้านนั้น กลับพบว่าเกือบทุกคนทำงานหนักกว่าเมื่อครั้งช่วงเวลาปกติอีก เพื่อนคนหนึ่งเล่าว่า ตอนไปทำงาน ได้พักทานกลางวัน 1 ชั่วโมง แต่เมื่อทำงานที่บ้าน มีเวลาทานข้าวเพียง 15 นาที กลายเป็นว่าเมื่อทำงานจากที่บ้านประสิทธิภาพ และปริมาณงานที่ทำไม่ได้ด้อยไปกว่าการทำงานจากที่บริษัท ตามที่เคยกังวลกัน

อย่างไรก็ตาม อยากเตือนทุกท่าน (รวมทั้งเตือนตัวดิฉันเองด้วย) ให้ระวังรักษาสุขภาพ และสร้างสมดุลระหว่างการทำงาน และการพักผ่อนด้วยนะคะ สำหรับตัวดิฉันจะเลือกที่จะพาสุนัขออกไปเดินเล่นในหมู่บ้านค่ะ เพื่อให้อย่างน้อยได้พักสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์บ้าง ซึ่งระหว่างการพาสุนัขเดินเล่น ทำให้ดิฉันมีโอกาสเห็นภาพของหลาย ๆ ครอบครัว ที่โดยปกติมักไม่ค่อยได้เห็นค่ะ ดิฉันได้เห็นภาพพ่อแม่ลูกออกมาปั่นจักรยานด้วยกัน ออกมาวิ่งด้วยกัน

ภาพที่ประทับใจมากที่สุดเป็นภาพครอบครัวใหญ่ค่ะ มีทั้งคุณปู่ คุณย่า คุณพ่อ คุณแม่ และหลาน ๆ ออกมาเดินด้วยกันไปเรื่อย ๆ บนถนนในหมู่บ้าน ค่อย ๆ เดินไปด้วยกัน คุยกันไป มีรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะดังเป็นระยะ ๆ เป็นภาพที่ประทับใจมาก ๆ จนดิฉันต้องยิ้มตามไปด้วย และอดคิดไม่ได้ว่าการได้ใช้เวลากับครอบครัว และคนที่เรารัก ถือเป็นเรื่องดีที่สุดแล้ว ขอบคุณโควิด-19 ที่ทำให้เราได้มีโอกาสกลับมาใช้เวลาอยู่กับครอบครัว ได้ทานข้าวเช้า กลางวัน เย็นร่วมกันพร้อมหน้ากับคนในครอบครัว

นอกจากนี้ ดิฉันยังรู้สึกว่าเหตุการณ์นี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้เราเห็นว่า ทุกวันนี้พวกเรามีชีวิตด้วยการพึ่งพาสิ่งภายนอกทั้งสิ้น เห็นได้จากการที่เมื่อสถานการณ์ระบาดเริ่มรุนแรงจนธุรกิจหลายประเภทต้องถูกปิดลงชั่วคราวอย่างไม่มีกำหนด หลายคนประสบปัญหาขาดรายได้เพื่อการดำรงชีวิต และไม่สามารถทำอะไรได้ นอกจากการรอคอยความช่วยเหลือจากผู้อื่น ดิฉันรับรู้ข่าวสารแต่ละวันด้วยความรู้สึกเศร้าใจที่ต้องเห็นความเดือดร้อนของคนจำนวนมาก และอดคิดไม่ได้ว่า หากวันนี้อยู่ ๆ ดิฉันเป็นอีกหนึ่งคนที่ต้องตกงาน ดิฉันจะทำอย่างไร และตั้งคำถามต่อกับตัวเองว่า แล้วเราจะป้องกันเรื่องนี้ได้อย่างไร

ทำให้ดิฉันนึกถึงทฤษฎีบันได 9 ขั้น สู่ความพอเพียง ซึ่งเป็นการประยุกต์จากหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ค่ะ

บันไดพื้นฐาน 4 ขั้นแรก คือ พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น อีก 5 ขั้นถัดมา คือ บันไดก้าวหน้า ได้แก่ ทำบุญ ทำทาน เก็บไว้เมื่อขาด ค้าขาย และเครือข่ายค่ะ เราจำเป็นต้องสร้างบันไดพื้นฐาน 4 ขั้นแรกให้แข็งแรง มั่นคง แล้วจึงสร้างบันไดก้าวหน้าในขั้นต่อ ๆ ไป แต่เท่าที่ได้เห็นนั้นดูเหมือนเราต่างมุ่งสร้างบันไดก้าวหน้าในขั้นของการค้าขายเสียเป็นส่วนใหญ่ ด้วยคิดว่าการทำแบบนั้นจะสร้างความมั่นคงให้กับตัวเอง เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินเช่นครั้งนี้ขึ้นมาที่ธุรกิจไม่สามารถค้าขายได้ดังเช่นปกติ น่าจะเป็นบทเรียนสำคัญให้เราได้กลับมามองดูตัวเองอย่างจริงจังว่าการทำงานอย่างหนัก การทุ่มเทค้าขายเพื่อสร้างรายได้นั้น เป็นการสร้างความมั่นคง (ไม่ใช่มั่งคั่งนะคะ) ให้กับตัวเราอย่างแท้จริง ตามบันไดพื้นฐาน 4 ขั้นแรกหรือไม่

ในส่วนของธุรกิจนั้น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น อาจทำให้ธุรกิจได้กลับมาทบทวนอย่างจริงจังว่า แผนบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (business continuity plan-BCP) นั้นสามารถใช้ได้จริงหรือไม่ อย่างไร เพราะธุรกิจอาจไม่เคยมองถึงสถานการณ์ว่าจะต้องหยุดชะงักในลักษณะแบบนี้ พนักงานไม่สามารถเข้ามาทำงานที่บริษัทได้ ไม่สามารถย้ายฐานการผลิตไปไหน ต้องปิดบ้าน ปิดเมือง ปิดประเทศกัน

หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก เราจะมีวิธีการบริหารธุรกิจรวมถึงสถานะทางการเงินอย่างไรที่จะยังสามารถประคองตัวอยู่ได้ จนวันที่กลับสู่สถานการณ์ปกติ ทั้งนี้เท่าที่ได้อ่านบทความจากหลาย ๆ ที่ ดิฉันพบว่าหลังจากสถานการณ์นี้ผ่านไปได้ เราคงจะได้เห็นวิถีทางใหม่ ๆ ของการดำเนินธุรกิจอย่างแน่นอน

ในขณะที่มนุษย์กำลังเดือดร้อนจากเหตุการณ์นี้ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำลังได้รับการเยียวยา (จริงหรือ ?)

เมื่อภาคธุรกิจต้องหยุดชะงัก ผู้คนไม่สามารถเดินทางไปไหนได้ ส่งผลให้การปล่อยมลพิษน้อยลง เช่น ข่าวที่ประชาชนที่เมืองชลันธระ (Jalandhar) ในรัฐปัญจาบ ทางตอนเหนือของอินเดีย ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากเทือกเขาหิมาลัยถึงกว่า 200 กิโลเมตร สามารถกลับมามองเห็นเทือกเขาหิมาลัยได้เป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี หรือข่าวของเต่า Olive Ridley ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ที่มีความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ของ IUCN Red List นับแสนตัวขึ้นมาวางไข่บนชายหาดที่ถูกปิดเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด ทั้งที่หลายปีก่อนหน้าที่ผ่านมา เต่าเหล่านี้ไม่กล้าขึ้นมาวางไข่ เนื่องจากความพลุกพล่านของนักท่องเที่ยวที่ไปรบกวนความสงบของเต่าเหล่านี้ หรือข่าวโอโซนในชั้นบรรยากาศที่แหว่งเป็นรูเริ่มเข้ามาชิดติดกัน เป็นต้น

ดิฉันยอมรับว่าทีแรกที่อ่านข่าวลักษณะนี้ จิตใจมีความยินดีค่ะว่าสัตว์ และธรรมชาติได้มีโอกาสเยียวยาและพักรักษาตัว หลังจากที่โดนพวกเราชาวโลกทำร้าย ทำลายมาเป็นเวลานาน แต่เกิดเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ดิฉันเริ่มไม่แน่ใจว่าหลังจากจบเหตุการณ์นี้ ธรรมชาติจะดีขึ้นจริง ๆ หรือ

กลางวันวันหนึ่ง คุณพ่อดิฉันซื้ออาหารจากข้างนอกกลับเข้ามาทานในบ้านสำหรับทุกคนในครอบครัว และดิฉันพบว่าการซื้ออาหารมื้อนั้นมีขยะจากถุงพลาสติกเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงแก้วพลาสติก เพราะช่วงนี้ร้านค้าไม่รับภาชนะส่วนตัวที่พกไปเอง นอกจากนี้เมื่อต้องอยู่บ้าน นอกจากบริการ delivery ต่าง ๆ ที่พวกเราต้องพึ่งพากันมากขึ้นแล้ว เรายังช็อปปิ้งออนไลน์กันเก่งขึ้นด้วยค่ะ

น้องสาวดิฉันเป็นผู้บริหารอยู่ที่บริษัทขนส่งแห่งหนึ่ง เธอเล่าว่ายอดการส่งสินค้าเพิ่มขึ้นจากก่อนหน้าวันละ 600,000 ชิ้น เป็น 800,000 ชิ้น และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ ลองคำนวณกันดูค่ะว่า ขยะพลาสติกที่เกิดจากการขนส่งเหล่านี้จะเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าไร ทั้งที่ก่อนหน้านี้ เรายังออกมารณรงค์เรื่องการลด ละ เลิก การใช้ถุงพลาสติก เพื่อลดขยะกันอยู่เลย

ลองมองมุมกลับ

หากมองอีกมุมว่าหากเปรียบโลกใบนี้เป็นร่างกายของคน มลพิษต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเหมือนเป็นเชื้อไวรัสที่เข้าสู่ร่างกาย ไวรัสโควิดสำหรับโลกอาจเปรียบได้กับ antibody ที่ร่างกายผลิตขึ้นมาเพื่อฆ่าไวรัสหรือต้นเหตุของเชื้อร้าย นั่นคือโลกกำลังเยียวยารักษาตัวเอง อาจคล้ายกับการรักษาโรคมะเร็งที่เซลล์มะเร็ง (มนุษย์) จริง ๆ แล้วไม่ได้หายไปไหน ยังมีอยู่ในร่างกายของเรา อยู่ที่ว่าเราจะออกกำลังกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์ ที่ไม่ไปกระตุ้นการเติบโตของเซลล์เหล่านั้น รวมถึงดูแลตัวเองไม่ให้เซลล์มะเร็งลุกลามได้อย่างไร

หากในอนาคต มนุษย์ที่ (อาจ) เปรียบได้กับเซลล์มะเร็งของโลกใบนี้ ยังไม่ตระหนักว่าต้องช่วยเหลือกัน แต่ยังผลาญการใช้ทรัพยากรด้วยความคิดตามระบบทุนนิยม เพื่อสร้างรายได้ ผลกำไร และเอาความยั่งยืนปลอม ๆ ที่นึกถึงแต่การเติบโต และความมั่งคั่งของธุรกิจตัวเอง แต่ไม่ได้นึกถึงโลกใบนี้อย่างจริงจัง แล้วทำอะไรขึ้นมาให้โลกระคายเคืองอีก ขออย่าแปลกใจ ถ้าโลกจะส่ง antibody มากำจัดพวกเราให้น้อยลงในระดับที่โลกสามารถดูแลได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วเราไม่ได้สามารถชนะมะเร็งได้จริง ๆ แต่เราอยู่ร่วมกับมันได้

มาถึงจุดนี้ เราอาจจะต้องเริ่มคิดกันใหม่แล้วว่า เราจะเป็น antibody ที่ดูแลรักษาโรค หรือจะเป็นไวรัสร้ายที่ต้องให้โลกส่ง antibody มากำจัดเรา