WHO หารือกระทรวงแรงงาน เตรียมพร้อมภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข

WHO เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หารือเพื่อให้ไทยเข้าร่วมโครงการนำร่องกลไกทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า

เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะผู้บริหารระดับสูงขององค์การอนามัยโลก (WHO: World Health Organization) นำโดย ดร.ซามีรา อาสมา (Dr. Samira Asma) ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอนามัยโลก ประจำสำนักงานใหญ่ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ดร.สเตลลา ชุงกอง (Dr. Stella Chungong) ผู้อำนวยการการเตรียมความพร้อมเพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพ พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เข้าพบนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน วานนี้ (26 เมษายน 2565) ณ ห้องจัตุมงคล ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน เพื่อหารือโครงการนำร่องกลไกทบทวนการเตรียมความพร้อม กรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

โดยมีนางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พล.ต.ต.นันทชาติ ศุภมงคล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นางสาวบุปผา เรืองสุด รองปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย

นายสุชาติ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่องค์การอนามัยโลกให้การยอมรับในการบริหารจัดการและรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นผลจากการบูรณาการทำงานร่วมกันตามนโยบายรัฐบาลที่ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกระทรวงแรงงานอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

ที่ได้ให้กระทรวงแรงงานบูรณาการร่วมกับหลายหน่วยงานโดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาหลายด้าน อาทิ การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวเพื่อนำเข้าสู่ระบบที่ถูกต้องตามกฎหมาย, โครงการ Factory Sandbox, การตรวจคัดกรองเชิงรุก RT-PCR 100% ภายใต้โครงการ “แรงงาน…เราสู้ด้วยกัน”, การจัดหาเตียง Hospitel รองรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19, การเปิดสายด่วนให้ความช่วยเหลือ ประสานหาเตียงรองรับการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19, การตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนเพื่อผู้ประกันตนมาตรา 33 เป็นต้น

Advertisment

นายสุชาติ ยังกล่าวต่อว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทรวงแรงงานเร่งให้การช่วยเหลือตามนโยบายรัฐบาลเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในกลุ่มแรงงาน และรักษาระดับการจ้างงาน ประคับประคองให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ อีกทั้งยังสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคส่งออกเติบโตต่อเนื่อง โดยมีหลักการสำคัญ 4 ประการ คือ

ประการที่ 1 รักษาการจ้างงานและรักษาศักยภาพธุรกิจภาคส่งออกที่มีภาคแรงงานกว่า 2 ล้านคน ใน 4 สาขา ได้แก่ อาหาร เครื่องมือแพทย์ ยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากหลายประเทศไม่สามารถส่งออกสินค้าได้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

ประการที่ 2 การจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ซึ่งในช่วงแรกมีวัคซีนจำกัด จึงต้องจัดสรรให้ผู้สูงอายุก่อน ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานได้เล็งเห็นความสำคัญของผู้ใช้แรงงานที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศ จึงขอรับการจัดสรรวัคซีนจากรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และป้องกันไม่ให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานต้องนำเชื้อโควิด-19 ไปติดผู้สูงอายุและสมาชิกในครอบครัว

จึงได้ดำเนินโครงการ Factory Sandbox ตามนโยบายรัฐบา ลด้วยหลักการเศรษฐศาสตร์คู่กับสาธารณสุข ทั้งการตรวจ รักษา ควบคุม ดูแล เยียวยา การให้ความช่วยเหลือ การฉีดวัคซีน ตรวจคัดกรองโควิด-19 เพื่อประคับประคองให้ธุรกิจเดินได้

Advertisment

ประการที่ 3 สำนักงานประกันสังคมมีโรงพยาบาลในเครือข่ายที่เป็นโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศรวมกว่า 200 แห่ง ซึ่งมีทีมแพทย์และพยาบาลที่มีศักยภาพและมีความพร้อมในการรองรับการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข

ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อาศัยสถานพยาบาลเหล่านี้ในการตรวจคัดกรอง ดูแลรักษา และฉีดวัคซีนแก่พี่น้องผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม

ประการที่ 4 กระทรวงแรงงานได้ทำงานใกล้ชิดกับสหภาพแรงงาน จึงทำให้การดำเนินโครงการดังกล่าวสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด บรรลุวัตถุประสงค์และตอบสนองความต้องการของสถานประกอบการและพี่น้องผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง

“กระทรวงแรงงาน ขอขอบคุณองค์การอนามัยโลก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ให้การสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการดูแลผู้ใช้แรงงานให้ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจส่งออกเติบโตในรอบ 11 ปี

ช่วยเหลือสถานประกอบการจนทำให้สามารถรักษาการจ้างงาน และบางบริษัทสามารถจ่ายโบนัสได้ถึง 8 เท่า สะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจส่งออกโดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เกิดการจ้างงานต่อเนื่อง ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ลูกจ้างกลุ่มยานยนต์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศก้าวข้ามช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไปได้” นายสุชาติกล่าว

ดร.ซามีรา อาสมา กล่าวว่า ขอบคุณกระทรวงแรงงานที่ได้ให้เข้ามาหารือ เพื่อให้ประเทศไทยได้เข้าร่วมโครงการนำร่องกลไกทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า

“ขอชื่นชมรัฐบาล กระทรวงแรงงาน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และภาคเอกชนที่ได้บูรณาการความร่วมมือระหว่างกันเพื่อหาความสมดุลในการดูแลสุขภาพของพี่น้องแรงงานช่วงโควิด-19 โดยไม่ให้ภาคธุรกิจต้องปิดกิจการ

โดยไม่ได้สนใจแค่เศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ให้ความสำคัญหลักเศรษฐศาสตร์คู่สาธารณสุข และคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนของแรงงานที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยด้วย ซึ่งเป็นนโยบายและแนวปฏิบัติที่ดีเลิศในการให้ต่างชาติได้เรียนรู้จากประสบการณ์บริหารความเสี่ยงเพื่อนำไปปรับใช้ในช่วงวิกฤตได้ต่อไป”