ถอดรหัสคิด INDA จุฬาฯ สร้างความจริงใหม่อย่างยั่งยืน

จุฬา สถาปัตย์ INDA

ไม่นานผ่านมาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาการออกแบบสถาปัตยกรรม (หลักสูตรนานาชาติ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (International Program in Design and Architecture-INDA) จัดแสดงนิทรรศการประจำปีของนิสิตในรูปแบบไฮบริด “อินดา พาเหรด 2022” (INDA Parade 2022)

ภายใต้แนวคิด “UNBOUNDED REALITY” หรือ “ความจริงใหม่ไร้ขอบเขต” กว่า 320 ผลงาน โดยแสดงบนพื้นที่กว่า 1,500 ตารางเมตร บนอาคารจุฬาพัฒน์ 14 ชั้น 13 และชั้น 16 ผ่านโมเดลจริงผสมผสานกับนำเสนอผลงานผ่านจอมัลติมีเดียพาโนรามา ทั้งยังจัดแสดงในรูปแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของ INDA อีกด้วย

“ผศ.ดร.สุรพงษ์ เลิศสิทธิชัย” ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบสถาปัตยกรรม (หลักสูตรนานาชาติ) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การจัดแสดงนิทรรศการประจำปีของนิสิตถือเป็นงานที่สำคัญอย่างมาก นักศึกษาทุกชั้นปีเมื่อจบการศึกษาจะต้องสร้างผลงานขึ้นมา (Final Review) เพื่อแสดงให้เห็นว่า 1 ปีการศึกษาที่เรียนมาเขาได้อะไรบ้าง

ทั้งนี้ นิทรรศการการแสดงผลงานประจำปีของนิสิตจัดมาเป็นปีที่ 7 แล้ว และถือเป็นครั้งแรกที่จัดในรูปแบบไฮบริด เนื่องจากที่ผ่านมามักจะจัดนิทรรศการตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น หอศิลปฯ สถานีรถไฟฟ้ามักกะสัน แต่เปลี่ยนมาจัดที่คณะแทนในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งเป็นการเปิดกว้างให้ผู้คนสามารถเข้าร่วมรับชม รวมถึงมีการนำเสนอให้อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศสามารถเข้ามาคอมเมนต์ผลงานนิสิตมากขึ้น

ผศ.ดร.สุรพงษ์ เลิศสิทธิชัย

ตรงนี้ถือเป็นกิจกรรมที่สะท้อนถึงความเป็นตัวตนของหลักสูตร INDA ในการเสริมสร้างสอนให้รู้จักใช้ทักษะความคิดสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์ให้กับนิสิตผ่านการคอมเมนต์ชี้แนะแนวทางผลงานจากคณาจารย์ทั้งไทยและนานาชาติอย่างเข้มข้น

“ผศ.ดร.สุรพงษ์” กล่าวต่อว่า สำหรับ INDA ก่อตั้งเมื่อปี 2549 เป็นหลักสูตรที่เน้นศาสตร์แห่งการออกแบบ ที่อยากให้มีความแตกต่างจากการเรียนสถาปัตยกรรมทั่วไป อย่างแรกคือ คณะสถาปัตยกรรมทั่วไปเรียน 5 ปี แต่ INDA เรียนแค่ 4 ปี แต่สามารถประกอบวิชาชีพได้ เพราะหลักสูตรได้รับการรับรองจากสภาสถาปนิก

ประการที่สอง ผมอยากให้หลักสูตรมีความเป็นสากลและมีความยืดหยุ่น สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบตลอดเวลาตามเทรนด์ที่เปลี่ยนไปในแต่ละปี ไม่ต้องมีข้อจำกัดมากมาย สามารถนำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาสอนได้ ก็เหมือนกับการจัดนิทรรศการแบบไฮบริด ปีนี้ที่เรานำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น

อย่างบางผลงานของนิสิตก็ใช้การแสดงผ่านมัลติมีเดีย บางผลงานแทบจะเหมือน Metaverse ขนาดย่อม นอกจากนี้ ยังเป็นหลักสูตรที่มีครูต่างชาติที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบกว่า 80% มีอาจารย์คนไทยที่เป็นอาจารย์ประจำเพียง 3 คน ส่วนอาจารย์ชาวต่างชาติจะมีทั้งอาจารย์ประจำและจ้างเอาต์ซอร์ซมารวมแล้วกว่า 14 ประเทศ อาทิ ยูเครน, เยอรมนี, อังกฤษ, อเมริกา, ฝรั่งเศส, สเปน, สโลวะเกีย ฯลฯ”

ซึ่งแต่ละคนล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญที่เรามั่นใจว่าจะนำความรู้และประสบการณ์ระดับอินเตอร์เนชั่นแนลมาสอนนิสิต ถ้าถามว่าเรามีการรีครูตอย่างไร ต้องบอกว่าส่วนใหญ่เป็นการเชิญชวนปากต่อปากมากกว่า เพราะเรามีการเปิดให้ชาวต่างชาติมาเวิร์กช็อปที่เมืองไทยกับนิสิตเป็นประจำทุกปีโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

ส่วนใหญ่เป็นคนที่ไม่เคยรู้จัก INDA มาก่อน แต่เมื่อมาเจอนิสิตเราแล้วประทับใจเพราะเด็กเรามีความคิดสร้างสรรค์สูง ดังนั้น พอส่งรีครูตไปจะมีอาจารย์ชาวต่างชาติสนใจมาสอนที่ INDA จำนวนมาก

“ผศ.ดร.สุรพงษ์” กล่าวอีกว่า หลักสำคัญที่ผมและอาจารย์ทุกท่านมักปลูกฝังนิสิตเสมอ คือ ทุกคนต้องมีหลัก design thinking หรือมีความคิดสร้างสรรค์ในการเรียน เพราะเราค่อนข้างเปิดกว้างแก่นิสิต เน้นการออกแบบ ไม่จำกัดตายตัวว่าทุกคนจะต้องออกแบบเฉพาะตึก ออกแบบอาคารอย่างเดียว แต่ครอบคลุมไปจนถึง landscape, urban, VR (virtual reality), ออกแบบภายใน, ดิจิทัล, เกม ฯลฯ

ดังนั้น หลัก design thinking จะทำให้คนของเราค่อนข้างใส่ใจในรายละเอียด ก่อนจะทำอะไรมักจะคิดก่อนว่าทำเพื่ออะไร ทำแล้วได้อะไรขึ้นมา เช่น สมมุติมีโจทย์ให้สร้างอาคารโรงเรียน 20 ห้อง เด็กเราต้องถามก่อนว่าโรงเรียนคืออะไร ทำไมต้อง 20 ห้อง สมัยนี้ต้องทำเป็นห้องอีกหรือ เป็นอย่างอื่นได้ไหม เป็นตึกได้หรือป่าว

สิ่งเหล่านี้คือการคิดนอกกรอบ คำถามลักษณะนี้จะทำให้เด็กจบออกไปสามารถปรับตัวได้กับอนาคตที่เปลี่ยนไปได้แน่นอน ไม่จำเป็นต้องอยู่กับกรอบเดิม ๆ เพราะอย่าลืมว่าทุกอย่างเปลี่ยนไปได้เสมอโดยเฉพาะเทรนด์เทคโนโลยี

ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนสำคัญต่อการออกแบบสถาปัตยกรรมมาก โดยเทคโนโลยีที่เป็นเทรนด์ของการออกแบบสถาปัตยกรรม คือ Metaverse, VR (virtual reality) ที่จะมาปลดปล่อยนักออกแบบ ต่อไปอาจเกิดการออกแบบบนโลก Metaverse ซึ่งก็เป็นเทรนด์ใหม่ที่น่าจับตามอง แต่ทุกวันนี้ Metaverse ยังเป็นเรื่องเข้าใจยาก อาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะจึงจะเห็นภาพชัดเจน

และที่ขาดไม่ได้คือกระแสของการนำเอา AI (artificial intelligence) มาใช้ โดย AI จะถูกนำมาใช้ในการออกแบบที่มีความซับซ้อน มีข้อจำกัดมาก เช่น การคำนวณหาพื้นที่ที่เหมาะจะสร้างที่จอดรถ ฯลฯ เนื่องจาก AI จะเป็นตัวช่วยวิเคราะห์ที่แม่นยำ ทั้งยังช่วยลดเวลาในการทำงานที่เคยต้องใช้เวลานานในการออกแบบ แต่พอนำ AI มาช่วยวิเคราะห์โซลูชั่นที่เหมาะสม และนำปัจจัยที่เกี่ยวข้องมาคำนวณประกอบก็จะช่วยลดเวลาลงมาก

อีกอย่างผมคิดว่าเทรนด์ที่สถาปนิกให้ความสนใจมากคือเรื่อง sustainability หรือเรื่องสิ่งแวดล้อม จะเป็นแนวคิดหลักที่สถาปนิกต้องคำนึงถึงในงานออกแบบมากที่สุด แม้แต่นิสิตของเรายังให้ความสนใจมากขึ้น

เพราะการออกแบบหลายอย่างเริ่มมีการดีไซน์ไปถึงการลดพลังงาน ลดขยะ มีเรื่องของการอัพไซเคิลบ้าง อย่างนิสิตปี 2 มีบางคนใช้แนวคิดด้วยการนำเห็ดมาทำเป็นวัสดุอิฐ ซึ่งจะออกแบบให้มีความแข็งแรง แต่ย่อยสลายได้ ทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

“ผศ.ดร.สุพงษ์” กล่าวต่อว่า เทรนด์ของอาชีพนี้คือเรื่อง interactive เพื่อรองรับพื้นที่ที่ไม่เคยถูกใช้งาน เช่น ตึกร้างที่ไม่มีคนใช้แล้ว เราก็จะนำมาต่อยอดเพื่อให้เกิดประโยชน์ หรือสถานที่จอดรถไม่มีรถจอดแล้ว เราก็จะนำเรื่องของ activity เข้าไปเติม ดังนั้น เราจึงเห็นการรีโนเวตเปลี่ยนตึกร้างเป็นสถานที่ใหม่ ๆ เพื่อให้คนเข้าไปชมและถ่ายภาพ ผมว่าเทรนด์นี้น่าจะอยู่อีกยาว

อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้เราพยายามจับตาดูและนำมาแชร์กับนิสิตในแต่ละชั้นปี โดยหลักการสอนจะยึดเรื่องความคิดสร้างสรรค์เป็นหลัก ดังนั้น นิสิตปี 1 เข้ามาแล้วก็จะปูพื้นฐานการออกแบบเบื้องต้น เรียนรู้สัดส่วนของร่างกายมนุษย์ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมรอบตัวก่อน

ส่วนการลงมือฝึกปฏิบัติจะใช้มือเป็นหลัก ยังไม่ให้ใช้เทคโนโลยีในการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นการวาดรูป ตัดโมเดล เพราะเป็นการฝึกใช้กระบวนการคิด ตรงนี้ถือเป็นสกิลสำคัญมาก เช่น เมื่อเขาเริ่มจับเครื่องมือร่างสเกตช์ภาพ สมองของเขาจะได้คิดไปด้วยว่าจะร่างจากจุดไหนถึงจุดไหน

จนผ่านมาถึงจะให้เริ่มใช้คอมพิวเตอร์หรือซอฟต์แวร์ต่าง ๆ เพื่อการออกแบบในช่วงปี 1 เทอม 2 ซึ่งเป็นการให้รู้จักเครื่องมือเสียก่อน พอขึ้นปี 2 จะเจาะลึกในศาสตร์การออกแบบ เริ่มตั้งแต่สเกลง่าย ๆ เช่น ออกแบบโต๊ะ ตู้ เตียง

แต่เมื่อขึ้นปี 3 ขึ้นไปจะเริ่มทำความเข้าใจองค์ประกอบของเมือง ชุมชนและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งสร้างสรรค์การออกแบบให้เกิดปฏิสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านั้นรวมทั้งผู้คน และในปีสุดท้ายถึงจะสร้างโปรเจ็กต์บริหารจัดการทุกอย่างด้วยตัวเองมีการออกแบบสเกลใหญ่ขึ้น เช่น สร้างโรงเรียน ห้องสมุด ห้องน้ำ เป็นต้น

“ผมว่าสกิลสำคัญที่นิสิตเราจบออกไปแล้วต้องมีมากที่สุด คือ การทำงานร่วมกับคนอื่น เช่น การคุยกับลูกค้า การติดต่อเจ้าหน้าที่ การขออนุญาตก่อสร้าง ผมให้นิสิตเริ่มฝึกสกิลนี้ตั้งแต่เรียน เพราะ INDA ไม่มีฝึกงาน แต่พวกเขาจะได้จากการเรียนในมหาวิทยาลัย และการออกไปเรียนรู้เพิ่มเติมเองตามประสบการณ์ของแต่ละคน”

“ผศ.ดร.สุรพงษ์” กล่าวด้วยว่า ทุกวันนี้หลักสูตร INDA ยังเป็นที่นิยมสำหรับคนรุ่นใหม่ เราผลิตบัณฑิตออกสู่ตลาดปีละไม่น้อยกว่า 80 คน เพราะโควตาแต่ละชั้นปีมีอยู่ 80 คน ทราบมาว่าปีนี้มีเด็กยื่นสมัครผ่านระบบทีแคสแล้วเกินโควตาที่เรากำหนดด้วยซ้ำ

เป้าหมายต่อไปเราจะพยายามให้ความสำคัญกับการลงทุนในวิชาการเรียนการสอน การนำเครื่องมือทันสมัยให้เด็กได้ใช้ การให้เด็กได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น เพื่อเขาจะได้เกิดไอเดียใหม่ ๆ มาต่อยอดความคิด

“สิ่งเหล่านี้คือแนวทางของ INDA ที่พยายามยึดมั่นมาโดยตลอด”