My Mate Nate-เวที Thailand Social Awards กับรางวัลที่ค้านสายตา ?

Thailand Social Awards My Mate Nate
ภาพจาก Fcebook Thailand Social Awards

เกิดอะไรขึ้นกับเวที Thailand Social Awards ครั้งที่ 11 เมื่อ “My Mate Nate” ชนะรางวัล Best Creator Performance on Social Media แต่ค้านสายตาโลกออนไลน์

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด (WISESIGHT) ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ด้านการวิเคราะห์ข้อมูลตลาดและโซเชียลมีเดีย ได้จัดงานประกาศผลรางวัล Thailand Social Awards ครั้งที่ 11 เพื่อมอบรางวัลให้กับเหล่าคนในวงการโซเชียล และแบรนด์ต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการใช้โซเชียลมีเดียอย่างสร้างสรรค์

แต่มีหนึ่งในรางวัลที่กลายเป็นที่สงสัยของสังคม และตั้งคำถามถึงความเหมาะสม และหลักเกณฑ์การเลือกมอบรางวัล นั่นคือรางวัล “Best Creator Performance on Social Media สาขา Variety” ซึ่งผู้ได้รับรางวัลสาขาดังกล่าวในครั้งนี้ คือ My Mate Nate (มายเมทเนท)

โดยหลังจากที่มีการโพสต์รางวัลดังกล่าว ผู้คนบนโลกโซเชียล ต่างตั้งคำถามไปยังงานดังกล่าวถึงหลักเกณฑ์และมาตรฐานในการเลือกผู้เข้าชิงรางวัลและผู้ได้รับรางวัล เพราะหลาย ๆ คนมองว่า ยังมี Content Creator รายอื่น ๆ ที่มีความสามารถและมีความสร้างสรรค์ที่มากกว่า

ภาพจาก Fcebook Thailand Social Awards

ขณะเดียวกัน มีผู้คนบางส่วนบนโลกออนไลน์ ระบุว่า คอนเทนต์ส่วนใหญ่ คล้ายคลึงกับคอนเทนต์ของช่อง YouTube ในต่างประเทศช่องหนึ่ง นั่นคือ “MrBeast” ทั้งในเชิงเนื้อหา และองค์ประกอบศิลป์ต่าง ๆ

สำหรับช่อง MrBeast เป็นช่องยูทูบที่ทำเนื้อหาเกี่ยวกับการทดลองและเนื้อหาสนุก ๆ ที่เน้นความลงทุนในเนื้อหาและอุปกรณ์ต่าง ๆ เริ่มเปิดช่องตั้งแต่ปี 2555 ปัจจุบันมีผู้ติดตามแล้วราว 135 ล้านผู้ติดตาม และมีจำนวนการรับชมวิดีโอทั้งสิ้น 22,865,633,368 ครั้ง และมีการทำช่อง YouTube แยกออกมาอีก 4 ช่อง คือ Beast Philanthropy, MrBeast 2, MrBeast Gaming และ MrBeast Gaming ซึ่งช่องที่แยกออกมาเหล่านี้ มีผู้ติดตามรวมกันกว่า 84 ล้านผู้ติดตาม

สำหรับประเด็นดราม่าที่เกิดขึ้นนี้ ยังไม่มีการชี้แจงใด ๆ เพิ่มเติมจากทั้งผู้ได้รับรางวัลอย่าง My Mate Nate และ WISESIGHT ผู้จัดงานครั้งนี้

เปิดมาตรวัดผล ใช้ตัดสินรางวัล

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ของงาน ได้มีการระบุถึงเกณฑ์การวัดผลสำหรับรางวัลต่าง ๆ ไว้ โดยจะวัดผลใน 3 รูปแบบ คือ

1. BRAND METRIC

ใช้ในการวัดผลประสิทธิภาพการทำงานบนโซเชียลมีเดีย ของแบรนด์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยวัดจากช่องทางของตัวเอง (Own Channel) ออกมาเป็น Own Score และช่องทางจากการที่คนอื่นพูดถึงแบรนด์ (Earn Channel) ออกมาเป็น Earn Score ผ่าน 4 แพลตฟอร์มหลัก คือ Facebook, Instagram, Twitter และ YouTube ซึ่งในทุก ๆ ช่องทางจะมีน้ำหนักการให้คะแนนที่แตกต่างกันออกไปตามความเหมาะสม

2. CONTENT METRIC

ใช้ในการวัดผลประสิทธิภาพการทำงานบนโซเชียลมีเดียของเนื้อหารายการบันเทิงต่าง ๆ เช่น ละครไทย, ภาพยนตร์ไทย, รายการข่าว, ​รายการโทรทัศน์ โดยพิจารณาจากกระแสการพูดถึงของคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดีย จึงจะทำการวัดผลการคนพูดถึงรายการนั้น ๆ ผ่าน Earn Channel บนแพลตฟอร์มหลัก คือ Facebook, Instagram, Twitter, YouTube และ TikTok ซึ่งในทุก ๆ ช่องทางจะมีน้ำหนักการให้คะแนนที่แตกต่างกันออกไปตามความเหมาะสม

3. CREATOR METRIC

ใช้ในการวัดผลประสิทธิภาพการทำงานบนโซเชียลมีเดียของบุคคลที่มีผลงานหรือมีชื่อเสียงอยู่บนโซเชียลมีเดีย รวมทั้งดารา ศิลปิน ไอดอล พิธีกร และอินฟลูเอนเซอร์ โดยวัดผลคอนเทนต์บนช่องทางของตัวเอง (Own Channel) และจากการถูกพูดถึงหรืออ้างถึง (Earn Channel) บนแพลตฟอร์มหลัก คือ Facebook, Instagram, Twitter, YouTube และ TikTok ซึ่งในทุก ๆ ช่องทางจะมีน้ำหนักการให้คะแนนที่แตกต่างกันออกไปตามความเหมาะสม

โดยการวัดผลในทั้ง 3 METRIC จะพิจารณาผ่าน 2 มุมมอง คือ

Fundamental Factors ประกอบด้วยค่าพื้นฐาน Analytical Factors ประกอบด้วย
Followers Comment Ratio
Reactions Share Ratio
Comment Sentiment
Share
Views on YouTube
Views on TikTok
Social Voice