จาก Z เป็น S และสิ่งที่เปลี่ยนไป Thailand Social Awards ครั้งที่ 11

กล้า ตั้งสุวรรณ

กลับมาอีกครั้งกับงาน “Thailand Social Awards” ครั้งที่ 11 โดยบริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ด้านการวิเคราะห์ข้อมูลตลาด ซึ่งในปี 2566 นี้ จะมีรางวัลให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียยอดเยี่ยมสาขาต่าง ๆ มากกว่า 300 รางวัล

เพื่อส่งเสริมการใช้โซเชียลมีเดียอย่างสร้างสรรค์ ยกระดับและให้ความสำคัญกับวงการโซเชียลที่เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ

ซึ่งในปีนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบงานในหลายส่วน ตั้งแต่การเปลี่ยนตัวอักษร “Z” ในชื่องานเป็น “S” เพื่อความชัดเจนในการสื่อสาร ปรับเปลี่ยนโลโก้งานประกาศรางวัล และปรับปรุงเกณฑ์การวัดผลร่วมกับคณะที่ปรึกษาจากหลากหลายแวดวง

แบ่งเป็น 3 เกณฑ์ คือ Brand Metric ใช้วัดผลประสิทธิภาพการทำงานบนโซเชียลมีเดียของแบรนด์, Content Metric ใช้วัดผลประสิทธิภาพการทำงานบนโซเชียลมีเดียของเนื้อหารายการ และ Creator Metric ใช้วัดผลประสิทธิภาพการทำงานบนโซเชียลมีเดียของบุคคลที่มีผลงานหรือมีชื่อเสียง

โดยพิจารณาผ่าน 2 มุมมอง คือ fundamental factors ประกอบด้วย 1.ค่าพื้นฐาน คือ followers, reactions, comment, share, brand reply, views on YouTube และ social voice 2.analytical factors ประกอบด้วย สัดส่วนการคอมเมนต์, สัดส่วนการแชร์, sentiment, ค่าการ tag friend และ intention to buy บน Facebook

“กล้า ตั้งสุวรรณ” ผู้ร่วมก่อตั้ง และซีอีโอ “ไวซ์ไซท์” กล่าวว่า ตลอด 10 ปี ที่จัดงาน Thailand Social Awards มักเกิดควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะการมาถึงของโซเชียลมีเดียรูปแบบใหม่ ๆ ตั้งแต่อินสตาแกรม, ทวิตเตอร์ ล่าสุดติ๊กต๊อก ที่มักเปลี่ยนพฤติกรรม และดึงดูดผู้ใช้งานเสมอ

ซึ่งการปรับ “อัลกอริทึม” หรือกระบวนการที่แพลตฟอร์มใช้ดึงดูดผู้คนไว้กับแพลตฟอร์ม มักเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะปรับเพื่อแข่งขันกับแพลตฟอร์มใหม่ หรือการปรับอัลกอริทึม เพื่อเรียกร้องให้มีการจ่ายเงินในเชิงการตลาดเพิ่ม

“สิ่งเหล่านี้ส่งผลถึงแบรนด์ และครีเอเตอร์ ต้องปรับตัวตามอย่างหนักเพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลงของแพลตฟอร์ม

แต่ต้องไม่ลืมว่าทั้งแบรนด์ และครีเอเตอร์ คือผู้ที่สื่อสารกับมนุษย์ที่มีชีวิต อัลกอริทึมไม่มีชีวิต การที่แพลตฟอร์มปรับอัลกอริทึม ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด จึงเป็น กล่องดำ ที่ไม่มีใครรู้ว่าจะทำอย่างไรถึงจะชนะ ตนจึงมองว่า creativity หรือความคิดสร้างสรรค์ คือสิ่งที่จะเอาชนะอัลกอริทึมได้”

เช่น TikTok เคยปล่อยอัลกอริทึมให้ผู้ใช้เข้าถึงเอนเกจเมนต์จำนวนมากตลอดปีที่ผ่านมา แต่ไม่อาจบอกได้ว่าปีนี้จะทำแบบเดิมไหม หรือการเข้าถึงโพสต์ของเหล่าครีเอเตอร์จะต้องจ่ายเงินหรือไม่ เช่นกันกับแพลตฟอร์มอื่น ดังนั้นการโฟกัสเรื่องความคิดสร้างสรรค์จึงเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ดีกว่า

สำหรับรางวัล Thailand Social Awards ครั้งที่ 11 แบ่งหมวดหมู่เป็น 6 กลุ่ม คือ Best Brand Performance on Social Media แบรนด์ที่ทำผลงานยอดเยี่ยมบนโซเชียลมีเดีย, Best Content Performance on Social Media ผู้สร้างสรรค์

และผลิตเนื้อหารายการทำผลงานยอดเยี่ยมบนโซเชียลมีเดีย, Best Creator Performance on Social Media ครีเอเตอร์ที่ทำผลงานยอดเยี่ยมบนโซเชียลมีเดีย, Best Performance on Platforms, Special Award ผู้ที่ใช้โซเชียลมีเดียอย่างสร้างสรรค์เป็นแบบอย่างที่ดี เป็นประโยชน์ต่อสังคม และ Rising Creator Performance on Social Media เป็นกลุ่มรางวัลใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาเป็นครั้งแรกในปีนี้