ชวนรู้จัก “THAIS” โมเดลขับเคลื่อน Soft Power แบบรัฐไทย คืออะไร จะทำอะไรบ้าง ?

THAIS

กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดตัวโมเดล “THAIS” ในวันที่ 18 สิงหาคม 2566 โดยอธิบายว่า การเปิดตัวโมเดล “THAIS” เป็นการขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติวัฒนธรรม มุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน สร้างภาพลักษณ์ที่ดีของไทยในเวทีโลก 

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนรู้จักโมเดล “THAIS” ว่าคืออะไร มีที่มาอย่างไร และจะดำเนินการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์อย่างไร จากข้อมูลที่กระทรวงวัฒนธรรมของประเทศไทยแถลงออกมา

ที่มาของ “THAIS”

อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้รับมอบหมายจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ให้กำหนดแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มจากทุนทางวัฒนธรรม และส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ (soft power) ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมด้วยการผลักดันสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมไปยังตลาดต่างประเทศให้เข้าถึงง่าย ครอบคลุมตลาดผู้บริโภคทุกกลุ่มเป้าหมาย ส่งเสริมการผลิตในรูปแบบที่หลากหลาย และออกแบบช่องทางสร้างการรับรู้ที่เหมาะสม โดยจัดทำแผนการดำเนินงานขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์อย่างเป็นระบบ 

จากภารกิจที่ได้รับมอบหมายมา กระทรวงวัฒนธรรมจึงริเริ่มจัดทำ “แผนการขับเคลื่อน soft power ด้วยมิติทางวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย (พ.ศ. 2566-2570)” ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำแผนดังกล่าว ซึ่งแผนนี้ดำเนินการภายใต้โมเดล “Soft Power for All: THAIS” หรือ “Soft Power เพื่อคนไทยและผู้คนทั้งมวล”

อิทธิพล คุณปลื้ม
อิทธิพล คุณปลื้ม

วัตถุประสงค์ของ “THAIS” 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมอธิบายว่า แผนนี้จัดทำขึ้นเพื่อให้ประเทศไทยมีแผนแกนกลางขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดสามารถนำไปใช้ดำเนินงานตามภารกิจของตนเอง รวมทั้งใช้เป็นแนวทางหลักในการขับเคลื่อนและบูรณาการและเชื่อมโยงการทำงานร่วมกัน 

ตลอดจนกำหนดเป้าหมายและจุดยืนในเวทีระหว่างประเทศของไทย และสร้างแบรนด์ประเทศไทย (Nation Branding) เพื่อวางรากฐานการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ที่เชื่อมโยงและครอบคลุมองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น สื่อ อุตสาหกรรมบันเทิงและคอนเทนต์ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การเมืองระหว่างประเทศ การค้าและการลงทุน ให้มีเอกภาพภายใต้วิสัยทัศน์ร่วมของประเทศ 

Advertisment

“แผนนี้เป็นแผนยุทธศาสตร์หลักเพื่อใช้กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ด้วยมิติทางวัฒนธรรม ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย เพื่อให้หน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยมีทิศทางในการดำเนินงานร่วมกัน สามารถเชื่อมโยงการดำเนินงานระหว่างกัน รวมถึงขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์อย่างต่อเนื่อง เป็นระบบ เห็นผลเป็นรูปธรรม และผลักดันให้การขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ด้วยมิติทางวัฒนธรรม” 

“เป็นวาระสำคัญของประเทศ และเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักในการยกระดับเศรษฐกิจและสังคม ให้ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน มีเอกลักษณ์ จุดยืน และบทบาทที่โดดเด่นในเวทีโลก และเป็นประเทศที่สามารถใช้ประโยชน์จากทุนทางวัฒนธรรม สร้างความชื่นชอบและชื่นชมของผู้คนทั่วโลก รวมทั้งผลักดันให้การดำเนินงานที่จำเป็นสำหรับการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย ได้รับการจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอและเหมาะสมเพื่อบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมกล่าว 

Advertisment

THAIS

“THAIS” จะทำอะไร อย่างไร 

อิทธิพล คุณปลื้ม อธิบายว่า โมเดล “Soft Power for All: THAIS” หรือ “Soft Power เพื่อคนไทยและผู้คนทั้งมวล” ใช้ “มาลัย” เป็นสัญลักษณ์ สื่อถึงการร้อยเรียงดอกไม้ที่หาได้ในท้องถิ่นของไทยให้กลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและมูลค่าสูงสำหรับมอบให้ผู้อื่นเพื่อแสดงความปรารถนาดี การต้อนรับขับสู้ ความเป็นมิตร และการแสดงความเคารพ โดยมีนัยถึงการใช้มรดกทางวัฒนธรรม ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและสร้างคุณค่าทางสังคมให้กับประเทศไทยและประชาคมโลก 

เปรียบได้กับตัวมาลัยที่ประกอบด้วยการร้อยดอกไม้ 3 ส่วนเรียงต่อกันเป็นวงกลม ส่วนที่ 1 เป็นการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ด้วยทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในประเทศไทย ได้แก่ วัฒนธรรมดั้งเดิม (T-Traditional Culture) และวัฒนธรรมร่วมสมัย (H-Hip Culture) ส่วนที่ 2 หมายถึง การต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่ม (A-Add Value) และส่วนที่ 3 หมายถึง การโน้มน้าวหรือชักจูงให้เกิดความสนใจในผลิตภัณฑ์และบริการทางวัฒนธรรม (I-Influence) รวมเป็นคำว่า “THAI” 

ส่วนอุบะ 3 เส้น หมายถึงผลประโยชน์ต่อประทศไทย 3 ด้าน (3S) ที่มาจากการดำเนินงานขับเคลื่อนส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ประกอบด้วย เศรษฐกิจเติบโต (Scaling Economy) สังคมยั่งยืน (Sustainable Society) และเสริมสร้างภาพลักษณ์และจุดยืนของไทยในเวทีโลก (Strengthening Position)

THAIS