เจาะลึกงานศิลป์ ดูแนวคิดมิวสิคอลระดับโลก THE LION KING

หลังจากโลดแล่นเปิดการแสดงบนบรอดเวย์และทั่วโลกมากว่า 21 ปี เดอะ ไลอ้อน คิง (THE LION KING) มิวสิคอลอันดับ 1 ของโลกก็ได้ฤกษ์มาเปิดแสดงครั้งแรกในประเทศไทยแล้วในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้

งานนี้นอกจากคนดูจะได้ตื่นตาตื่นใจกับเนื้อเรื่องที่สนุกสนานครบรส และเพลงประกอบเพราะ ๆ สไตล์ดิสนีย์แล้ว สิ่งหนึ่งที่จะสะกดสายตาผู้ชมก็คืองานโปรดักชั่นสุดอลังการแฝงกลิ่นอายศิลปะสไตล์แอฟริกันที่หาดูได้ยากยิ่ง

หนึ่งในเอกลักษณ์ที่ยอดเยี่ยมของละครเวทีสุดอมตะเรื่องนี้คือ หน้ากากและหุ่นเชิด ซึ่งสิ่งที่ทำให้หุ่นเชิดในเดอะ ไลอ้อน คิง แตกต่างออกไปคือวิสัยทัศน์ของผู้กำกับละครเวที จูลี่ เทย์มอร์ (Julie Taymor) ที่ออกแบบให้หุ่นเชิดของเดอะ ไลอ้อน คิง ไม่ปิดหรือซ่อนกลไกการขยับ คนดูจึงสามารถเห็นมนุษย์ที่ควบคุมหุ่นเชิดและสวมหน้ากากสัตว์ต่าง ๆ ได้เต็มที่

จูลี่ได้แรงบันดาลใจในการทำหุ่นเชิดมาจากหลากหลายรูปแบบละครเวทีทั่วโลก แต่วิธีที่น่าสนใจและมีอิทธิพลมากคือ การเชิดหุ่นแบบบุนระคุ (Bunraku) ที่ผู้ชมจะมองเห็นผู้เชิดที่บังคับหุ่นขนาดใหญ่ หุ่นดังกล่าวถูกควบคุมโดยนักแสดงชาย 3 คน คนที่มีประสบการณ์มากที่สุดจะเป็นเพียงคนเดียวที่เปิดเผยใบหน้า มีหน้าที่ควบคุมส่วนหัวและแขนขวา ส่วนคนที่เหลือจะซ่อนตัวอยู่มิดชิดใต้ผ้าสีดำ คนหนึ่งควบคุมมือขวาด้วยไม้ ส่วนอีกคนควบคุมส่วนขา การแสดงความรู้สึกสามารถแสดงออกผ่านการเคลื่อนไหวและท่าทาง รวมถึงผ่านจินตนาการของผู้ชมด้วย

หุ่นของตัวละครอย่าง ทีโมน (Timon) ก็ดัดแปลงมาจากเทคนิคบุนระคุที่ว่านี้ โดยจูลี่ได้ปรับให้เหลือนักแสดงผู้ควบคุมคนเดียว และดีไซน์เสื้อผ้าพร้อมเมกอัพของนักแสดงให้กลายเป็นฉากหลัง ซึ่งในที่นี้เป็นฉากป่า เทคนิคนี้จูลี่ตั้งชื่อไว้ว่า “ฮิวแมน-เอด (Human-aid)” การมองเห็นผู้เชิดหุ่นจะทำให้ผู้ชมสามารถเลือกที่จะจดจ่อไปกับเรื่องราวหรือทักษะของผู้เชิดก็ได้ นี่คือสิ่งที่จูลี่เรียกว่า “double event” หรือ “เหตุการณ์ควบ”

อีกก้าวสำคัญในการสร้างโลกจำลองบนเวทีเดอะ ไลอ้อน คิง คือการทำหน้ากากของมุฟาซา (Mufasa) และสการ์ (Scar) สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้กำกับสาวคือ “การรักษาลักษณะของตัวละครดิสนีย์ไว้ เพื่อให้ผู้ชมยังจำได้” ด้วยความคิดนี้ จูลี่จับมือกับไมเคิล เคอร์รี่ (Michael Curry) ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำหุ่นของประเทศ ผสมผสานประสบการณ์ด้านวิศวกรรมศาสตร์และศิลปะเข้าด้วยกัน

“ตรงข้ามกับการแสดงออกทางสีหน้าที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่องในภาพยนตร์แอนิเมชั่น หน้ากากสามารถแสดงออกได้เพียงความรู้สึกเดียวเท่านั้น ฉันเลยคิดว่า ถ้าฉันสร้างหน้ากากขนาดใหญ่ที่เห็นได้ชัดว่าเป็นสการ์และมุฟาซา แต่เปิดให้เห็นหน้าของคนด้านล่างล่ะ ถ้าแบบนั้นเราจะไม่เสียการแสดงอารมณ์ทางสีหน้า และไม่ต้องซ่อนนักแสดงเอาไว้” จูลี่อธิบาย

หน้ากากเหล่านี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหน้ากากแอฟริกัน มีการผสมผสานวัสดุต่าง ๆ ที่สื่อถึงความเป็นแอฟริกัน แต่ยังคงความเป็นศิลปะที่ใช้งานได้จริงเอาไว้ “เราทำโรงละครแบบสามมิติ ฉันจึงไม่อยากให้ใบหน้าบนหน้ากากพวกนี้ดูแบน ฉันอยากให้มันมีความลึกเหมือนไม้ ฉันจึงใช้ผิวสัมผัสและวัสดุออร์แกนิกต่าง ๆ จำพวกเส้นใย ไม้ ที่ทำให้ดูเป็นการ์ตูนน้อยลง”

ในเดอะ ไลอ้อน คิง หน้ากากสามารถซ่อนความหมายได้หลายอย่าง เช่น การเปลี่ยนจากเด็กหนุ่มเป็นชายหนุ่ม อย่างหน้ากากของซิมบ้า (Simba) มีลักษณะเป็นหน้ากากแบบสวมหัว ไม่ครบทั้งหน้า เป็นการแสดงให้เห็นว่าเขายังอยู่ในช่วงวัยรุ่นและกำลังเติบโต ขณะเดียวกันหน้ากากของมุฟาซาและสการ์เป็นหน้ากากครบถ้วนที่วางลอยอยู่บนหัวนักแสดง สื่อว่าพวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว

นอกจากหน้ากากแล้ว เครื่องแต่งกายก็เป็นส่วนสำคัญในการสื่อสารลักษณะของตัวละคร อย่างตัวละครสิงโตจะอาศัยการใช้ลวดลายลูกปัดแบบแอฟริกัน เสื้อรัดทรง เกาะ และผ้า โดยใช้ผ้าไหมในการลบล้างลักษณะรูปร่างของมนุษย์ ทำลายโครงสร้างของไหล่ และช่วยเสริมข้อต่อและต้นขาอันทรงพลัง

ที่กล่าวมานั้น เป็นเพียงเบื้องหลังบางส่วน ซึ่งจูลี่ เทย์มอร์ และไมเคิล เคอร์รี่ ศึกษารูปแบบและเบื้องหลังเทคนิคของศิลปะหลายแขนงเป็นเวลาหลายปี ก่อนนำความรู้ที่ได้มาผสมผสานกันออกมาเป็นโชว์ที่เห็นบนเวที

สำหรับผู้ที่สนใจอยากดู เดอะ ไลอ้อน คิง จะเปิดการแสดงที่โรงละครเมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์ ตั้งแต่วันที่ 14 กันยายนเป็นต้นไป และยังไม่มีกำหนดปิดการแสดง แต่บอกได้เลยว่านี่คือละครเวทีจากต่างประเทศเรื่องแรกที่จะทำการแสดงในประเทศไทยเป็นเวลายาวนานที่สุด สามารถซื้อบัตรชมการแสดงได้ที่ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ทุกสาขา หรือ www.thaiticketmajor.com สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.0-2262-3838