“อ้าย เว่ย เว่ย” ระดมทีมผู้กำกับภาพชั้นนำ 12 คน ถ่ายทำ “Human Flow” ตีแผ่ชีวิตผู้ลี้ภัยใน 23 ประเทศ

ในทุกวันนี้หลายคนคงคุ้นหูกับคำว่า “วิกฤตผู้ลี้ภัย” แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันของวิกฤตนี้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ อ้าย เว่ย เว่ย ศิลปิน/นักเคลื่อนไหวชาวจีนตัดสินใจทุ่มเทพลังสร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์สารคดีที่มีชื่อว่า “Human Flow” ขึ้นมา

อ้าย เว่ย เว่ย เป็นศิลปินผู้สร้างผลงานเขย่าโลกผ่านศิลปะแขนงต่าง ๆ ด้วยการแสดงออกทางความคิดเพื่อให้ผู้ชมได้สำรวจสังคมและคุณค่าของมันมาแล้วมากมาย อาทิเช่น “Ai Weiwei: Trace at Hirshhorn” ที่พิพิธภัณฑ์เฮิร์ชฮอร์นในวอชิงตัน ดี.ซี., “Maybe, Maybe Not” ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติอิสราเอลในเยรูซาเลม, “Law of the Journey” ที่หอศิลป์แห่งชาติในปราก และ “Ai Weiwei. Libero” ที่ Palazzo Strozzi ในฟลอเรนซ์

Human Flow (ฮิวแมน โฟลว) ภาพยนตร์สารคดีเรื่องล่าสุดของเขา บอกเล่าเรื่องราวของผู้ลี้ภัยผ่านการถ่ายทำใน 23 ประเทศ 40 ค่ายอพยพที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง เช่น อัฟกานิสถาน บังคลาเทศ อิรัก อิสราเอล หรือแม้แต่ประเทศใหญ่ ๆ อย่าง ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สหรัฐอเมริกา และรวมถึง ไทย ด้วยเช่นกัน พวกเขาทั้งหมดถูกบีบให้ต้องอพยพจากภูมิลำเนาด้วยภาวะสงคราม ความอดอยาก สู่การเดินทางอันยาวไกลเพื่อแสวงหาความปลอดภัย แหล่งที่อยู่อาศัย ไปจนถึงชีวิตใหม่

ด้านงานการกำกับภาพใน Human Flow ซึ่งเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญไม่แพ้ประเด็นที่นำเสนอ ได้มีการใข้งานผู้กำกับภาพภาพยนตร์สารคดีและภาพยนตร์ชั้นนำของโลกถึง 12 คน หนึ่งในนั้นคือ “คริสโตเฟอร์ ดอยล์” ผู้กำกับภาพมือหนึ่งของเอเชีย เข้าของผลงาน Hero, In The Mood For Love และ 2046

สิ่งที่ได้มาหลังการทุ่มเทถ่ายทำอันยาวนาน คือฟุตเทจความยาวรวมกันกว่า 1,000 ชั่วโมง จากทีมงานกว่า 200 ชีวิต แน่นอนว่าการตัดต่อออกมาให้เป็นเรื่องราวจากฟุตเทจทั้งหมดย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ด้วยฝีมือและปณิธานของอ้าย ที่ต้องการสื่อสารกับคนดู ทำให้ นีลส์ พาร์ก แอนเดอร์เซน มือตัดต่อภาพยนตร์สารคดีระดับแถวหน้าของวงการตัดสินใจร่วมโปรเจ็คนี้ด้วย พร้อมทีมงานคุณภาพรวมกว่า 7 คน สำหรับขั้นตอนการตัดต่อ เพื่อให้ถ่ายทอดเรื่องราวออกมาได้สมดังใจของ อ้าย เว่ย เว่ย

“ผมได้มีโอกาสเดินทางไปเกาะเลสบอส เพื่อดูการมาถึงของกลุ่มผู้ลี้ภัย มันเป็นอะไรที่บรรยายได้ยากมากเมื่อเห็นพวกเขาทั้งหมดขึ้นเรือมาทั้งชาย หญิง ลูกเด็กเล็กแดง คนแก่ พวกเขาตื่นกลัวและไม่รู้เลยว่ากำลังต้องเจอกับอะไรที่แผ่นดินใหม่ และมันยิ่งทำให้ผมอยากรู้เรื่องราวของคนพวกนี้ขึ้นไปอีก ว่าเขาคือใคร ทำไมต้องยอมเสี่ยงชีวิตมายังที่ที่พวกเขาไม่รู้จักและใครมีใครรู้จักพวกเขา” อ้าย กล่าวถึงประสบการณ์ความรู้สึกอันเป็นจุดจุดเริ่มต้นของโปรเจคต์ Human Flow (ฮิวแมน โฟลว) ที่ถ่ายทอดชีวิตอันน่าเหลือเชื่อของผู้ลี้ภัยพลัดถิ่น

REUTERS/Stoyan Nenov

ก่อนหน้านี้ Human Flow ได้เคยเดินหน้าออกฉายตามเทศกาลภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่มาแล้วหลายแห่ง อาทิ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส, เทศกาลภาพยนตร์เทลยูไรด์, เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตรอนโต ซึ่งทันทีหลังจากเปิดตัวฉายล้วนได้กวาดคำชมจากสื่อรายใหญ่ พร้อมได้รับการคาดหมายเข้าชิงรางวัลใหญ่แห่งปีอย่าง “ออสการ์” ในสาขา “ภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม” อีกทั้งยังคว้าคะแนนการันตีความเยี่ยมจากเว็บไซต์รวมคำวิจารณ์ยอดฮิตอย่าง Rotten Tomatoes ไปกว่า 93% และได้รับคำชมจากสื่อ

“ผลงานสารคดีที่ครองใจไปเต็มๆ และงานภาพทั้งสวยงามและทรงพลัง” The Hollywood Reporter

“นำเสนอได้ตามสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นจริงทั่วโลก สะท้อนภาพการอพยพถิ่นฐานและความลำบากยากเข็ญของมนุษย์ได้อย่างยอดเยี่ยม” Time Out New York

“เล่าความจริงไม่สามารถมองข้ามได้อย่างซึ่งหน้า เข้าใจง่ายเหมาะสำหรับทุกคน” Indie Wire

“ทรงพลัง ภาพทุกอย่างบอกเล่าด้วยตัวมันเอง โดยมีอ้ายเป็นพยาน” Boston Globe

แต่ท้ายที่สุดแล้ว กลุ่มคนดูคือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เนื้อหาใน Human Flow (ฮิวแมน โฟลว) นั้นเกิดผลอย่างสำเร็จ

“ผมไม่ต้องการให้คนมองว่าปัญหาของผู้ลี้ภัยเป็นเรื่องปกติ หรือเป็นปัญหาเฉพาะประเทศ แต่ต้องการให้หนังเชื่อมโยงถึงคนทั้งโลกได้ตระหนักว่าทุกคนบนโลกเป็นมนุษย์เหมือนกัน เมื่อใดที่สิทธิความเป็นมนุษย์ของใครสักคนถูกทำลายลง ย่อมส่งผลต่อมนุษย์ทุกคนต่อไปในทางใดทางหนึ่ง หากผู้ลี้ภัยทั้ง 65 ล้านคนกลายเป็นคนไร้บ้าน ไร้ชาติ นี่จะเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของศตวรรษที่ 21 อย่างแน่นอน” อ้าย เว่ย เว่ย กล่าวสรุป

สำหรับเมืองไทย ร่วมพิสูจน์ผลงานภาพยนตร์สารคดีเรื่องเยี่ยม Human Flow ได้ในโรงภาพยนตร์ 21 ธันวาคมนี้