‘คนทำทัวร์’ เกือบสิบชีวิต รวมตัวทำอาหารเดลีเวอรี่สู้โควิด

แม้จะยังไม่มีการสรุปมูลค่าความเสียหายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่จนถึงตอนนี้ “ความเดือดร้อน” ได้เกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า โดยอาชีพที่รับแรงกระแทกก่อนใคร หนีไม่พ้นธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ทั้งการขนส่ง โรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก บริษัททัวร์ และ มัคคุเทศน์ หรือ ไกด์

“อัมรินทร์ โภคา” ไกด์ผู้คร่ำหวอดในแวดวงท่องเที่ยวมานาน เผยด้วยน้ำเสียงหม่น ๆ ว่า “ช็อก เพราะทุกอย่างเกิดเร็วมาก พวกเราใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ในการตั้งสติ”

“อัมรินทร์” เล่าว่า หลังจาก “คนทำทัวร์” ว่างงานพร้อมกันชนิดตั้งตัวไม่ติด ทุกคนจึงมาช่วยกันคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่าง เพราะไม่รู้ว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติเมื่อไหร่

“ไม่มีสัญญาณอะไรที่ชัดเจน ไม่รู้ว่ามาตรการรัฐบาลจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ขยายไปเรื่อย ๆ หรืออย่างไร ประเทศอื่น ๆ จะปิดอีกนานแค่ไหน วัคซีนจะพร้อมเมื่อไหร่ ไม่มีใครรู้”

ทุกคนจึงกลับไปสำรวจ “ต้นทุน” ของตัวเอง ว่ามีอะไรบ้าง ก่อนจะพบว่าพวกเขามี “ฝีมือ” ในการทำอาหารชนิดไม่ธรรมดา

“อัมรินทร์” เล่าว่า สตาฟฟ์ทัวร์ทุกคน เวลาไปทำงานพาลูกทัวร์ไทยไปเที่ยวต่างประเทศ มักเจอโจทย์เหมือนกัน คือ ลูกทัวร์อยากกินอาหารไทย คิดถึงอาหารรสแซ่บ ตั้งแต่มื้อที่สองมื้อที่สาม ขณะที่การไปทำงานต่างประเทศนั้น ทั้งพื้นที่และเวลามีจำกัด แต่พวกเราสามารถทำอาหารให้ลูกทัวร์รับประทานได้ แถมทุกคนบอกอร่อย หายคิดถึงบ้าน จนทำให้การท่องเที่ยวสนุกสนานขึ้น

ไกด์หนุ่มคุยอีกว่า บางครั้งสตาฟฟ์ทัวร์ต้องทำกับข้าวนำไปแทรกในไลน์อาหารของโรงแรมบ้าง ในร้านอาหารบ้าง จนหลายครั้ง ลูกทัวร์รับประทานอาหารที่สตาฟฟ์ทำเยอะกว่าอาหารที่โรงแรมจัดเตรียมไว้อีก

เมื่อตัดสินใจว่าจะ “ทำอาหารขาย” สิ่งที่ต้องคิดต่อ คือ แล้วจะขายที่ไหน ซึ่งโจทย์ข้อนี้ “อัมรินทร์” ได้ “ธฤษณัช เรือนเงิน” เพื่อนไกด์รุ่นน้อง มาช่วยคลี่คลาย เนื่องจาก “ธฤษณัช” ได้เช่าร้านอาหารกลางคืนชื่อ “นั่งล้าน” บนถนนเกษตร-นวมินทร์ ไว้ทำเป็นอาชีพเสริมได้เกือบ 2 ปี แล้ว

เมื่อมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ร้านจึงต้องปิด เลยคิดเปิดร้านตอนกลางวันแทน และ ทำอาหารส่งขายตามบ้าน

จากนั้น “คนทำทัวร์” เกือบสิบชีวิต ก็มาแบ่งงานกันว่าใครถนัดทำอาหารประเภทไหน จนได้อาหารที่หลากหลาย ทั้ง อาหารเหนือ เช่น ขนมจีนน้ำยา ไส้อั่ว แกงฮังเล ข้าวกั้นจิ้น  ขนมครกนางฟ้า ข้าวเหนียวหมูทอดแจ่วบอง นอกจากนี้ มี ยำรสเด็ด ลูกชิ้นหมูปิ้งน้ำจิ้มโบราณ เต้าทึงเย็น ทับทิมกรอบ

ต่อมาจึงทำป้ายไวนิลขนาดใหญ่แขวนหน้าร้าน ถ่ายภาพอาหาร บอกเบอร์ติดต่อ ให้คนที่สัญจรผ่านไปมามองเห็นชัด ๆ ก่อนลงทุนโปรโมตเพจบนเฟซบุ๊ก ระบุรัศมีไม่เกินจากร้าน 5 กิโลเมตร เพราะตั้งไว้ว่าจะส่งอาหารฟรี 3 กิโลเมตรแรก และ เพิ่มช่องทางการขายผ่านไลน์ @ เปิดขายวันแรก 1 เมษายน ที่ผ่านมา และ ล่าสุด เข้าร่วมกับแอปฯ ส่งอาหาร 2-3 แบรนด์

การดีลิเวอรี่ ของ “นั่งล้าน” มี 2 แบบ คือ ส่งเอง ด้วยจักรยานยนต์และรถเก๋ง ซึ่งมีอยู่แล้วไม่ต้องลงทุนใหม่ อีกส่วนหนึ่ง ร่วมกับแอปฯ ส่งอาหาร เป็นอีกฐานหนึ่ง แต่ไม่ใช่รายได้หลัก เพราะการส่งหลัก คือ ส่งเองฟรีในรัศมี 3 กิโลเมตรแรก กลุ่มเป้าหมายคือคนละแวกถนนเกษตร-นวมินทร์

“ทำร้านอาหารดีลิเวอรี่ครั้งนี้ ไม่ได้กำไรเยอะ แต่อย่างน้อยทุกคนมีงานทำ”

“อัมรินทร์” ยังบอกด้วยว่า ร้านของพวกเขาไม่ใช่ร้านอาหารมืออาชีพ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีการเปรียบเทียบยอดขายกับในอดีต ดังนั้น ทุกวัน คือ ยอดขายที่เพิ่มขึ้น

“เราเริ่มจากศูนย์ เริ่มจากที่ไม่มีใครรู้จัก ช่วงแรกได้เพื่อนฝูงมาช่วยกันก่อน แต่ตอนนี้คนที่เคยมากิน ถามไถ่กันทุกคนว่า ส่งให้ได้ไหม นั่นแสดงว่าเกิดการซื้อซ้ำ ซึ่งทำให้พวกเรามีกำลังใจกันมาก”

“อัมรินทร์” ตั้งใจด้วยว่า หากผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19 ไปแล้ว ก็จะไม่ทิ้งร้านนี้ จะทำต่อไป โดยอาจหาทีมงานมาเสริม เปลี่ยนจากผับมาเป็นร้านอาหารที่เน้นบริการเดลิเวอรี่ ควบคู่กับการทำทัวร์ต่อไป

ประชาชาติธุรกิจ นำเสนอซีรีส์ “รวมพลังสู้ โควิด-19” ภายใต้เนื้อหาที่มาจากประชาชน นักคิด นักเขียน ผู้รู้ นักธุรกิจ สตาร์ตอัพ ผู้ประกอบการทุกระดับ ที่นำเสนอแนวคิด ความรู้ และทางออกจากปัญหาไปด้วยกัน