ทำงานในที่อับอากาศ… เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต

ในประเทศไทยพบรายงานผู้เสียชีวิตและเจ็บป่วยจากการทำงานในที่อับอากาศอยู่เป็น ประจำ ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะการเสียชีวิตมากกว่าเจ็บป่วย และบ่อยครั้งที่ผู้ลงไปช่วยในที่อับอากาศหรือบ่อบำบัดน้ำเสียก็เสียชีวิตเช่นกัน

แพทย์หญิงภัทราวลัย พิชาลัย แพทย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า คำจำกัดความของ “ที่อับอากาศ” คือ ที่ซึ่งมีทางเข้าออกจำกัด และการระบายอากาศไม่เพียงพอที่จะทำให้อากาศภายในอยู่ในสภาพที่ปลอดภัยต่อการทำงานต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ตัวอย่าง เช่น เหมืองแร่ ก๊าซและน้ำมัน อุโมงค์ ถ้ำ หลุม บ่อ

อันตรายภายในที่อับอากาศที่อาจถึงแก่ชีวิต ได้แก่ ออกซิเจนไม่เพียงพอต่ำกว่าร้อยละ 19.5 หรือมีก๊าซพิษ เช่น ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือก๊าซไข่เน่า (H2S) ก๊าซมีเทน หรือก๊าซชีวภาพ (CH4) ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ สะสมอยู่ภายในที่ระดับความเข้มข้นสูงจนเกิดอันตราย มีก๊าซ ไอ ละออง ซึ่งติดไฟหรือระเบิดได้ หากเข้มข้นเกินร้อยละ 10 ของความเข้มข้นที่อาจติดไฟหรือระเบิดได้ในอากาศ

สภาพบรรยากาศเหล่านี้ไปทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดอากาศหายใจ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ มึนงง หายใจไม่ออก หมดสติ จนถึงเสียชีวิตได้ อันตรายดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่อับอากาศเท่านั้น แต่ยังเป็นอันตรายต่อผู้ลงไปช่วยเหลือโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

กฎหมายไทยได้กำหนดให้นายจ้างต้องมีการตรวจวัดสภาพอากาศใน “ที่อับอากาศ” ก่อนเริ่มลงไปปฏิบัติงาน และระหว่างปฏิบัติงานในที่อับอากาศทุกครั้ง หากพบว่าสภาพบรรยากาศมีระดับออกซิเจนต่ำกว่าปกติ คนทำงานต้องใส่อุปกรณ์ป้องกันระบบหายใจชนิดที่มีระบบจ่ายอากาศ เช่น ชนิดมีระบบจ่ายอากาศในตัว (Self-contained Breathing Apparatus ; SCBA) กรณีสภาพบรรยากาศมีความเข้มข้นของสารเคมีที่เป็นอันตรายเกินมาตรฐาน ต้องใส่อุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจชนิดปิดเต็มหน้า (Full-face Respirator) หรือชนิดปิดครึ่งหน้า (Half-face Respirator) และต้องจัดฝึกอบรมมาตรฐานความปลอดภัยให้ผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ

ในเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่มีคนตกลงไปในที่อับอากาศ ผู้ลงไปช่วยเหลือควรคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเองด้วย เนื่องจากสภาพอากาศในที่อับอากาศสามารถทำให้คนที่ลงไปช่วยเสียชีวิตได้ หากไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน ผู้ลงไปช่วยเหลือต้องสวมชุดอุปกรณ์ป้องกันระบบหายใจ หน้ากาก ถังออกซิเจน และใช้มาตรฐานความปลอดภัยในที่อับอากาศตลอดเวลาการเข้าช่วยเหลือ ได้แก่ ใส่ห่วงยางชูชีพซึ่งอีกข้างผูกตรึงกับตำแหน่งนอกบริเวณพื้นที่อับอากาศ หรือติดตั้งระบบรอกผูกระหว่างผู้ลงไปช่วยเหลือกรณีพื้นที่อับอากาศที่ลึก เกิน 5 ฟุต (1.5 เมตร) กับตำแหน่งนอกบริเวณพื้นที่เสี่ยง มีบันไดราวกันตก หมั่นตรวจตราอุปกรณ์ช่วยเหลือเหล่านี้ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา และใช้ระบบคนช่วย 2 คน (Buddy System) โดยคนที่อยู่นอกพื้นที่พร้อมจะเข้าช่วยเหลืออีกคนได้ทันทีหากเกิดเหตุ ฉุกเฉินขณะช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ มาตรการเหล่านี้จะช่วยลดการสูญเสียชีวิตลงได้


คนทำงานบางรายที่เป็นโรคทางเดินหายใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคลมชัก หรือโรคอื่น ๆ เมื่อลงไปในที่อับอากาศอาจจะเป็นอันตราย อาจพบกับสภาวะขาดอากาศ แพทย์อาจไม่อนุญาตให้ทำงานในที่อับอากาศเพื่อลดความเสี่ยง ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยและความมั่นใจของนายจ้าง แนะนำว่าคนทำงานในที่อับอากาศควรตรวจประเมินสุขภาพอย่างน้อยทุก 1 ปี