อากาศวันนี้ (16 มี.ค.) ร้อนจัดสูงสุด 39 องศา เปิดวิธีรับมือวันร้อน ๆ ไม่ให้ใจร้อน

พระอาทิตย์
FILE PHOTO : Romeo GACAD / AFP

อากาศวันนี้ ร้อนจัดสูงสุด 39 องศา เปิดวิธีรับมือวันร้อน ๆ ไม่ให้ใจร้อน รวมถึงรู้จัก “โรคลมแดด” ในวันที่ร้อนจัด เป็นอีกโรคอาจต้องเฝ้าระวัง 

วันที่ 16 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมอุตุนิยมวิทยา ได้พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า โดยระบุตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนและมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุม ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ทำให้มีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น รวมถึงระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงที่จะเกิดขึ้นไว้ด้วย

อุณหภูมิแต่ละภาค เหนือร้อนสุด สูงสุด 39 องศา

  • ภาคเหนือ : อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 5-15 กม./ชม.
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม.
  • ภาคกลาง : อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-38 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม.
  • ภาคตะวันออก : อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร
  • ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) : อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร
  • ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) : อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร
  • กรุงเทพมหานครและปริมณฑล : อุณหภูมิต่ำสุด 27-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-37 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม.

8 วิธีรับมืออากาศร้อนแบบไม่ใจร้อน

กรมสุขภาพจิต ยังได้แนะนำวิธีรับมือ ในวันที่อากาศร้อน ไม่ให้ใจร้อน

  1. อย่าปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำ
  2. เลี่ยงอาหารรสจัด เผ็ดร้อน
  3. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  4. หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดด ร้อนจัด
  5. สวมเสื้อผ้าสบาย ๆ ทาครีมกันแดด
  6. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  7. ฝึกคิดบวก อากาศร้อนอย่าใจร้อนตาม
  8. รู้ทันความเครียด หากิจกรรมที่เย็น ๆ ทำ เช่น ว่ายน้ำ

อากาศร้อน ต้องระวัง “โรคลมแดด”

นอกจากนี้ ในวันที่ร้อนจัด อีกหนึ่งโรคที่อาจต้องเฝ้าระวัง คือ “โรคลมแดด”  ข้อมูลจาก พญ.ดวงพร รุธิรโก และ นพ.ภวิศ เหลืองเวชการ อายุรแพทย์เฉพาะทางเวชบำบัดวิกฤต โรคทางสมองและระบบประสาท ศูนย์โรคสมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล ระบุถึงโรคลมแดดหรือภาวะฉุกเฉินจากความร้อน (Heatstroke ว่า เป็นภาวะที่เกิดจากร่างกายมีความร้อนสูงเกินไป

มักเกิดจากการทำงาน ใช้แรงงาน หรือออกกำลังกายอย่างหนักในภาวะแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง โดยภาวะ Heatstroke มักเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิร่างกายสูง 40 องศาเซลเซียส (104 ฟาเรนไฮต์) หรือมากกว่า และมักจะเกิดในช่วงฤดูร้อนหรือบริเวณที่มีความชื้นในอากาศสูง

ภาวะ Heatstroke อาจทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะสำคัญ เช่น สมอง หัวใจ ปอด ไต และกล้ามเนื้อได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที ที่สำคัญหากผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ล่าช้าจะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย โดยบางรายถึงขั้นพิการและเสียชีวิตได้

ภาวะ Heatstroke แตกต่างจาก Stroke ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินอีกชนิดของระบบประสาทที่เกิดจากหลอดเลือดสมองตีบ/อุดตัน (Ischemic Stroke) หรือแตก (Hemorrhagic Stroke) ซึ่งมักจะทำให้เกิดอาการอ่อนแรง ชา พูดลำบาก ปากเบี้ยว หรือการทรงตัวผิดปกติเฉียบพลัน โดยผู้ป่วย Stroke ต้องได้รับการรักษาเร่งด่วนเช่นกัน แต่จะมีแนวทางการวินิจฉัยและการรักษาที่แตกต่างไปจาก Heatstroke

โรคลมแดด มี 2 ประเภท

โรคลมแดดแบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามข้อมูลจาก นพ.ชลทิตย์ จงบุญประเสริฐ แพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ศูนย์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ดังนี้

  1. โรคลมแดดที่ไม่ได้เกิดจากการใช้กำลังกายหนัก (classical heatstroke or non-exertional heatstroke : NEHS) : โรคลมแดดประเภทนี้เกิดจากความร้อนในสิ่งแวดล้อมที่มากเกินไป มักพบได้ บ่อยในผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรังซึ่งทำให้ไม่สามารถทนต่อสภาพอากาศร้อนและการขาดน้ำได้ โรคลมแดดประเภทนี้ยังสามารถเกิดขึ้นกับคนในทุก ๆ วัย โดยเกิดจากยารักษาโรคบางชนิด หรือการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย
  2. โรคลมแดดที่เกิดจากการใช้กำลังกายหนัก (exertional heatstroke : EHS) เช่น การออกกำลังกายที่หักโหมเกินไป มักเกิดขึ้นกับคนอายุน้อย นักกีฬา และทหารเกณฑ์ที่ฝึกหนักในอากาศร้อนจัดและสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นสูง

เคล็ดลับเลี่ยงโรคลมแดด

หากอยู่ในที่อุณหภูมิสูง สามารถหลีกเลี่ยงโรคลมแดดได้โดยการปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อให้ร่างกายได้รับน้ำอย่างเพียงพอ ซึ่งส่งผลให้ร่างกายสามารถทำตัวให้เย็นลงได้ตามธรรมชาติผ่านทางเหงื่อ
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เนื่องจากเพิ่มการขับน้ำทางปัสสาวะ อาจทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากขึ้น
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่เบาบางและไม่รัดแน่นจนเกินไป ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายมีอุณหภูมิที่เย็นอย่างเหมาะสม
  • อย่าใช้กำลังกายมากเกินไปในช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดของวัน ให้ทำงานที่ใช้กำลังมากที่สุดในตอนเช้าหรือตอนเย็นเมื่ออุณหภูมิเย็นลง
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีแดดจัด รวมถึงการนั่งในรถยนต์ที่จอดไว้ถึงแม้จะเปิดกระจกทิ้งไว้หรือจอดรถยนต์ไว้ในที่ร่มก็ตาม เพราะอุณหภูมิในรถยนต์สามารถร้อนจัดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

แนวทางรักษา

ผู้ป่วยโรคลมแดดควรได้รับการรักษาอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเป้าหมายของการรักษาคือการลดอุณหภูมิภายในร่างกายของผู้ป่วย เช่น การใช้น้ำพรมตามร่างกายและใช้พัดลมเป่าให้น้ำระเหย หรือการใช้ถุงน้ำแข็งประคบตามรักแร้ คอ หลังและขาหนีบ

ทั้งนี้หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาโดยทันที อาจเกิดอาการที่รุนแรงและบางครั้งอาจไม่กลับมาเป็นปกติได้ ยิ่งผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษานานเท่าใด โอกาสในการเสียชีวิตจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น