สมรสเท่าเทียม : งานไพรด์ในอีสาน การส่งเสียงของ LGBTQ เพื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียม

เมื่อ 7 นาทีที่ผ่านมา

โกดังภาพวาดส์/Singkhot Photo

ที่มาของภาพ, โกดังภาพวาดส์/Singkhot Photo

ก่อนจะสิ้นสุดเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศในเดือน มิ.ย. ในประเทศไทยได้เห็นปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ในการเฉลิมฉลองเดือน “ไพรด์” คือ การจัดงานไพรด์นอกเหนือไปจากเมืองหลวงกรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยว แต่เกิดขึ้นในจังหวัดอุดรธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ และอุบลราชธานี ที่ภาคประชาชนและกลุ่ม LGBTQ+ ร่วมกันทำให้เกิดขึ้นเพื่อส่งเสียงถึงความต้องการกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่เพิ่งผ่านสภาในวาระ 1

การรับหลักการของร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และ พ.ร.บ. คู่ชีวิต ทั้ง 4 ร่าง ในวาระแรกของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. และการเดินขบวนของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ในงานบางกอกนฤมิตรไพรด์ที่จัดขึ้นบนถนนสีลม จุดประกายให้ภาคประชาชนกลุ่ม LGBTQ+ จัดกิจกรรมนี้ขึ้นมาเช่นกัน จังหวัดเหล่านี้ไม่ได้เคยมีงานไพรด์มาก่อน

Advertisment

ธงสีรุ้ง กับขบวนของคนรุ่นใหม่ที่เดินไปตามถนนในเมือง และพิธีจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม เกิดขึ้นที่สุรินทร์ อุบลราชธานี โดยก่อนหน้านี้ ในเดือน มิ.ย. มีงานไพรด์เกิดขึ้นอย่างน้อย 4 จังหวัดในภาคอีสาน ได้แก ยูดี ไพรด์ อุดรธานี 18 มิ.ย., บุญบั้งไพรด์ ศรีสะเกษ 26 มิ.ย., ซะเร็นไพรด์ สุรินทร์ 28 มิ.ย., อุบลฯ ไพรด์ อุบลราชธานี 28 มิ.ย.

ในอดีต งานประจำปีของจังหวัดล้วนเป็นงานที่ชูเอกลักษณ์ ของดีประจำจังหวัด ขึ้นมาเป็นจุดขาย ทว่าผู้ริเริ่มงานไพรด์ใน สุรินทร์ และอุบลราชธานี หวังว่า นี่จะเป็นหมุดหมายสำคัญที่กลุ่มหลากหลายทางเพศจะได้แสดงออกถึงความภูมิใจในอัตลักษณ์ของพวกเธอในปีถัด ๆ ไปด้วย

โกดังภาพวาดส์/Singkhot Photo

ที่มาของภาพ, โกดังภาพวาดส์/Singkhot Photo

ซะเร็นไพรด์ งานไพรด์ของชาวสุรินทร์

เบญจมินทร์ ปันสน คณะทำงาน “ซะเร็นไพรด์” ผู้จัดงานใน จ.สุรินทร์ บอกกับบีบีซีไทยว่า กิจกรรมดังกล่าวใช้เวลาเตรียมการไม่ถึงสัปดาห์ เมื่องานถูกประชาสัมพันธ์ออกไป ก็ได้รับความสนใจอย่างมาก แสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนหลากหลายทางเพศในจังหวัดต้องการอยากจะเห็นกิจกรรมเช่นนี้เหมือนกัน เพียงแต่ว่าไม่ได้มีองค์กร หรือหน่วยงานไหน ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ไหนในพื้นที่ต่างจังหวัดเป็นคนเริ่มต้น

Advertisment

“ผมหวังว่าจะมีงานไพรด์แบบนี้ ทุกปี ให้วันที่ 28 มิ.ย. มีงานไพรด์ของสุรินทร์”

พื้นที่จัดกิจกรรมหลักของงานไพรด์ที่สุรินทร์ อยู่ที่ศาลากลางจังหวัดหลังเก่า

ที่มาของภาพ, ซะเร็นไพรด์ – Surin Pride

เบญจมินทร์ บอกด้วยว่ากลุ่ม LGBTQ+ ที่อยู่ในธุรกิจช่างแต่งหน้า เช่าชุด ทำคลินิกเสริมความงาม ต่างร่วมสนับสนุนงานในกำลังที่สนับสนุนได้ เพราะพวกเธอเห็นจากงานไพรด์ในกรุงเทพฯ และหวังให้มีงานนี้ขึ้นมาในจังหวัดของตัวเองเช่นกัน

“พี่ไม่ค่อยมีเงินทุน แต่ว่าพี่มีร้านเช่าชุด พี่ส่งคนไปรำแทนได้ไหม เอาชุดสวย ๆ ไปรำแทนให้นะ อีกร้านบอกช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ดี งั้นเอาชุดที่เคยตัดไว้เอาไปเดินแบบด้วยนะ” เบญจมินทร์ เล่า

นอกจากงานเดินขบวนและกิจกรรมที่เป็นสีสัน เบญจมินทร์บอกว่า อยากให้งานนี้สร้างความเข้าใจเรื่องร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ว่าให้สิทธิที่แตกต่างกันกับ พ.ร.บ.คู่ชีวิต อย่างไร ขณะที่พื้นที่สำคัญที่ใช้จัดงานคือ ศาลากลางจังหวัดหลังเก่าที่เคยล้อมรั้วเหล็กเอาไว้ ได้รับอนุญาตให้จัดงานของประชาชนได้ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นงานสำคัญ ที่ทุกคนเห็นว่าพื้นที่ศาลากลางกลางเมืองมีประโยชน์และเหมาะสมสำหรับเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคน

“เราพยายามทำให้เห็นว่านี่แหล่ะเป็นบรรยากาศของประชาธิปไตย ถ้าวันหนึ่งเรามีกฎหมายที่เห็นคนเท่ากัน คือภาพที่จะสวยงามที่จะเกิดขึ้นในสุรินทร์”

ซะเร็นไพรด์ - Surin Pride

ที่มาของภาพ, ซะเร็นไพรด์ – Surin Pride

อุบลฯ ไพรด์ เมืองเซฟโซนของ LGBTQ+

“จุดเริ่มต้นของเราคือเห็นที่กรุงเทพฯ จัดงานนั่นแหล่ะครับ ตัวผมเอง เป็นหนึ่งคนที่เป็นแอลจีบีทีด้วย เลยอยากให้มีงานเกิดขึ้นในอุบลฯ” แจ๊ค พิทักษ์ชัย จิตจันทร์ คณะผู้จัดงานอุบลฯ ไพรด์ บอกกับบีบีซีไทย

พิทักษ์ชัย ชาวอุบลราชธานี ซึ่งเป็น ผอ.กองประกวดมิสแกรนด์อุบลฯ ปีนี้ด้วย เห็นถึงศักยภาพของ จ.อุบลฯ ว่าเป็นอีกเมืองหนึ่งที่น่าจะจัดงานได้ยิ่งใหญ่ อีกทั้งหลายภาคส่วนก็ร่วมสนับสนุนเรื่องนี้ ทั้งหอการค้าจังหวัด เอกชนในพื้นที่ และเทศบาลนครอุบลราชธานี และยังมีกลุ่มเยาวชนและผู้ประกอบการ มาร่วมด้วย โดยหลังจากการจัดงานไพรด์ในวันที่ 29 มิ.ย. แล้ว งานแห่เทียนพรรษา ซึ่งเป็นงานใหญ่ประจำปีของอุบลฯ ก็จะมีการผนวกรวมขบวนพาเหรดสีรุ้งของกลุ่มหลากหลายทางเพศในอุบลฯ เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งด้วย

FACEBOOK/รุ้งมาแล้ว

ที่มาของภาพ, FACEBOOK/รุ้งมาแล้ว

“สิ่งต้องทำ เราอยากให้คนเห็นว่าแอลจีบีทีไม่ใช่สังคมอีกเกรด (ชนชั้น) ไม่ใช่คนอีกเพศหนึ่งที่ถูกมองข้ามไป เราเลยอยากให้งานเรามันเกิดในจังหวัด”

เกี่ยวกับกระแสการสนับสนุนกฎหมายสมรสเท่าเทียม เมื่อถามว่ากิจกรรมอันเป็นพื้นที่แสดงออกถึงความภาคภูมิใจของคนหลากหลายทางเพศสำคัญอย่างไรกับ LGBTQ+ ในต่างจังหวัด พิทักษ์ชัยบอกว่า อย่างน้อย ๆ เพื่อให้สร้างการรับรู้ไปยังสภาผู้แทนราษฎรว่า กลุ่ม LGBTQ+ ต้องการเรื่องนี้จริง ๆ รวมทั้งการส่งเสียงถึงผู้มีอำนาจคนในจังหวัดที่ยังมีความคิดเชิงอนุรักษ์อยู่ด้วยให้เห็นตัวตนของ LGBTQ+

“อย่างน้อยเขาจะได้เห็นคนรอบข้างว่านี่เป็นเด็กที่ออฟฟิศเขา เป็นเลขาเขานะ ที่เป็นแอลจีบีทีที่มางานกับเรา หรือเป็นกลุ่มของเพื่อนลูก ที่เขาจะมองข้ามไม่ได้ เพราะมันคือคนใกล้ตัวเขา”

ทางม้าล้ายที่ถูกเปลี่ยนเป็นสีรุ้งในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี

ที่มาของภาพ, FACEBOOK/รุ้งมาแล้ว

ผู้ริเริ่มจัดงานอุบลฯ ไพรด์ บอกด้วยว่า การจัดงานนี้ท้าทายมาก เพราะผู้ใหญ่ในจังหวัดบางส่วน มีความเข้าใจว่านี่คือการประท้วงเรียกร้องหรือเปล่า ทว่าจริง ๆ แล้ว ต้องการเพียงสื่อสารว่ากลุ่ม LGBTQ+ ก็คือคนที่อยู่ใน จ.อุบลฯ ที่มีพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดได้ด้วย

“อยากให้คนมองว่าบ้านเรา คนใกล้ ๆ ตัวเรามีกลุ่มแอลจีบีทีเยอะมาก และผมอยากให้เห็นพลังว่าอุบลฯ ก็มีคนกลุ่มนี้ และคนกลุ่มนี้แหล่ะ เป็นอีกกลุ่มที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของจังหวัดเติบโตได้”

เร็ว ๆ นี้ พิทักษ์ชัยบอกว่า กำลังจะมีแคมเปญที่ทำให้ จ.อุบลฯ เป็น “เซฟโซน” หรือพื้นที่ปลอดภัยอีกหนึ่งเมืองของประเทศไทยที่รองรับ LGBTQ ทั่วโลกมาเที่ยว ผ่านแคมเปญ ALL FOR YOU ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มโรงแรม ห้างร้าน ร้านอาหาร ร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษ์ว่าเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างต้อนรับ LGBTQ+ ที่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะได้รับการปฏฺิบัติที่ไม่แบ่งแยกและปลอดภัย

“เราจะผลักดันให้อุบลฯ เป็นอีกหนึ่งเมืองที่รองรับ LGBTQ ทั่วโลกมาเที่ยว เพราะเรามีการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่ชัดเจนอย่างงานแห่เทียนพรรษา ที่เที่ยวทางธรรมชาติ และมีพื้นที่สำคัญ ๆ เป็นแลนด์มาร์กหลัก ๆ หลายแห่ง”

FACEBOOK/รุ้งมาแล้ว

ที่มาของภาพ, FACEBOOK/รุ้งมาแล้ว