เปิดมุมมองซีอีโอรุ่นใหม่เจ้าของ LockBox : ตู้ล็อกเกอร์รับฝากสัมภาระอัตโนมัติเจ้าแรกของไทย

รายงานโดย นลิศา เตชะศิริประภา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

“…หากแม้ธุรกิจผมจะไม่ทำกำไรหรือเฟล แต่ผมสามารถไปบอกกับใครต่อใครได้ว่า ธุรกิจตู้ล็อกเกอร์รับฝากสัมภาระอัตโนมัติเจ้าแรกของประเทศไทยเป็นฝีมือขององค์กรผมเอง…คือผมได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ ทำอะไรให้กับสังคม มันทำให้ผมภูมิใจมากกว่า”

คำกล่าวสั้นๆ แต่ได้ใจของเจ้าของตู้บริการรับฝากสัมภาระอัตโนมัติสีเหลืองเด่นมองเห็นมาแต่ไกล ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ที่เข้ามาสอดแทรกเป็นส่วนหนึ่งในไลฟ์สไตล์ของคนเมืองกรุง รวมถึงตอบโจทย์ของนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันมีกว่า 20 แห่ง บน 14 สถานีรถไฟฟ้าระบบขนส่งมวลชนของประเทศไทย มาพร้อมกับคอนเซ็ปต์การใช้งานที่ว่า Safe & Easy และยังตั้งโจทย์ให้ตัวเอง.. “ใครทำอะไร ผมจะไม่ทำตาม เราต้องทำอะไรที่มันสนุกกว่า”

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ชวนพูดคุยกับซีอีโอหนุ่มไฟแรง วัย 25 ปี “วิน-อิทธิชัย พูลวรลักษณ์” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัท ลอคค์ บอกซ์ จำกัด ผู้ให้บริการตู้ล็อกเกอร์รับฝากสัมภาระอัตโนมัติตามระบบขนส่งมวลชนรายแรกของประเทศไทย หลังจากที่เขาสั่งสมประสบการณ์การทำงานจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่อย่าง “พฤกษา เรียลเอสเตท” นานกว่า 3 ปี และได้ออกมาโชว์ฝีมือด้วยการเปิดธุรกิจเป็นของตนเอง

เริ่มต้นจากมองเห็นในสิ่งที่ประเทศไทยยังไม่มี และลงมือทำแบบจริงจัง

อิทธิชัย เริ่มเล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของตู้ล็อกเกอร์รับฝากของอัตโนมัตินั้นเกิดจากที่ตนเองเดินทางไปต่างประเทศหลายครั้ง ในแต่ละครั้งก็จะคอยมองหาลิสต์ของตัวเองว่าประเทศไทยยังขาดอะไร และสามารถทำอะไรใหม่ๆได้บ้าง

“ธุรกิจตู้ล็อกเกอร์” จึงเป็นอีกหนึ่งคำตอบที่ซีอีโอหนุ่มคนนี้เลือกที่จะลงมือทำ เพราะไม่ว่าจะเดินทางไปยังประเทศไหน ทั้งญี่ปุ่น สิงคโปร์ อังกฤษ ฝรั่งเศส ฯลฯ ต่างก็มีตู้ล็อกเกอร์ให้บริการทั้งสิ้น แต่ “ประเทศไทย” ที่เป็นประเทศจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลกกลับไม่มีบริการที่คอยอำนวยความสะดวกเหล่านี้

“โดยทั่วไปธุรกิจล็อกเกอร์นั้นคนที่จะลงมือทำส่วนมากจะเป็นแลนด์ลอร์ด แต่บีทีเอส และเอ็มอาร์ทีของไทยนั้นไม่มีนโยบายที่จะทำ ผมจึงเหมือนภาคเอกชนที่เข้ามาเริ่มทำธุรกิจนี้…ใช้เวลาศึกษาการทำธุรกิจล็อกเกอร์ค่อนข้างนาน รวมๆ แล้วเกือบ 2 ปี ซึ่งช่วงแรกได้เทสต์มาร์เก็ตเพื่อหาดีมานด์คนใช้จริงๆ ร่วม 1 ปี ก่อนที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา”

กลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงคือ “คนเมือง”

ถึงแม้ช่วงทดลองตลาดกลุ่มคนที่ใช้บริการตู้ล็อกเกอร์จะเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงคนส่วนใหญ่มักคิดว่าธุรกิจนี้ตอบโจทย์กับนักท่องเที่ยวมากกว่า แต่ซีอีโอคนนี้กลับระบุว่า “คนเมือง” ต่างหากที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่จะทำให้เกิดดีมานด์ และกลับมาใช้ซ้ำอีกครั้ง

“นักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นกลุ่มเป้าหมายระยะสั้น แต่ในระยะยาวนั้นต้องเป็นคนเมืองและท้องถิ่น ยกตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่นที่มีบริการตู้ล็อกเกอร์ตามระบบขนส่งมวลชนทุกสถานี จะมีเพียงสถานีท่องเที่ยวหลักๆ เท่านั้นที่ผู้ใช้บริการเป็นชาวต่างชาติ ส่วนสถานีอื่นคนพื้นที่มากกว่าจะเป็นคนใช้ฝากของสัมภาระ” อิทธิชัยระบุและว่า

ตอนนี้กลุ่มผู้ใช้บริการตู้ล็อกเกอร์นั้นมีสัดส่วนคนไทย และชาวต่างชาติเท่ากันคือ 50 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ตั้งเป้าอยากให้คนไทยใช้บริการ 70 เปอร์เซ็นต์

ใช้งานไม่ยาก ใครๆ ก็ใช้ได้ตามคอนเซ็ปต์ Safe&Easy

อิทธิชัย กล่าวต่อว่า สิ่งที่ทำให้คนไม่อยากมาใช้บริการคือ กลัวความยุ่งยาก” จึงได้ออกวีดิโอแนะนำวิธีการใช้งานมาประกอบ ซึ่งขั้นตอนง่ายๆ มีประมาณ 4-5 ขั้นตอน

เริ่มจากกดเลือกฝากของ และเลือกขนาดตู้ตามต้องการ จากนั้นให้เลือกรูปแบบของการใช้บริการ โดยแบ่งเป็น 2 อย่างคือ ฝากเป็นรายวัน หรือ ฝากเป็นรายชั่วโมง

ขั้นตอนต่อไปคือ การใส่เบอร์โทรศัพท์ และพาสเวิร์ดเพื่อใช้ยืนยัน ส่วนขั้นตอนสุดท้ายคือ การชำระเงิน ซึ่งสามารถชำระได้ทั้งเหรียญ และธนบัตร จากนั้นก็นำสิ่งของเข้าไปฝากในตู้ที่เลือกไว้ได้เลย

ขั้นตอนวิธีใช้ : ภาพจากเว็บไซต์ LockBox

5 Security เพิ่มความปลอดภัย แถมมีประกันสัมภาระให้ด้วย

ถึงแม้ว่าขั้นตอนการใช้บริการจะไม่ยุ่งยาก แต่คำถามที่ตามมาคือ “ความปลอดภัย” ที่หลายคนอาจจะเป็นกังวลว่ามีระบบดูและรักษาความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด

“เรื่องนี้เป็นสิ่งที่เราต้องตอบคำถามมาตลอดตั้งแต่เริ่มโครงการนี้ ซึ่งหากเราใช้ระบบเสียบบัตรประชาชน หรือสแกนลายนิ้วมือ ผมก็ต้องเจอคำถามที่ว่าล่วงล้ำความปลอดภัยของผู้ใช้หรือไม่” ซีอีโอลอคค์บอกซ์ระบุและว่า

สิ่งที่เราทำนั้นจึงต้องอยู่บนพื้นฐานและเชื่อว่าสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้ และในอนาคตเป็นสิ่งที่ดีที่สุด โดยจุดเด่นของระบบดูแลรักษาความปลอดภัยลอคค์บอกซ์มี 5 อย่างด้วยกันคือ 1.กล้องวงจรปิด แบบ HD ที่จับภาพการใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง และสามารถเก็บข้อมูลได้นาน 3 เดือน 2.Face Detection หรือระบบตรวจจับใบหน้า ที่จะบันทึกภาพผู้ใช้บริการทุกครั้ง

3.Motion Censor มีการแจ้งเตือนทุกครั้งที่คนเข้ามาใกล้ตู้ตามรัศมีที่กำหนดไว้ 4.Patrol Unit หน่วยรักษาความปลอดภัยที่ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สถานีเดินตรวจตราบริเวณรอบๆ พื้นที่ให้บริการ และ 5.Real Time Locker Status ที่สามารถเช็กสถานะของตู้ได้ตลอดเวลา

นอกจากนี้ยังมีการรับประกันความปลอดภัยให้กับสัมภาระที่นำมาใช้บริการในกรณีที่สูญหายสูงสุดที่ 5,000 บาท ซึ่งจะต้องดูเป็นกรณีไป

ชูจุดเด่นมัดใจลูกค้า “24 ชม.-ความยืดหยุ่น-ราคา-สถานที่”

นอกจากความปลอดภัยที่ลอคค์บอกซ์ให้ความสำคัญมากที่สุดแล้ว จุดเด่นของลอคค์บอกซ์เองมีด้วยกัน 4 อย่างคือ ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งมี Call Center ให้คำแนะนำในระบบ 2 ภาษา, ความยืดหยุ่นในการให้บริการที่สามารถเลือกได้ว่าจะใช้บริการแบบรายวัน หรือรายชั่วโมง ซึ่งเป็นข้อแตกต่างกับประเทศอื่นที่มักจะมีให้เลือกใช้เพียงอย่างเดียว

“เรายังปรับตู้ล็อกเกอร์ให้เข้ากับผู้ใช้ ทำให้แต่ละที่มีจำนวน และขนาดของตู้ล็อกเกอร์มีไม่เหมือนกัน อย่างเช่นที่สวนจตุจักรที่เป็นจุดเชื่อมต่อเดินทางไปสนามบินได้ เราก็จะมีตู้ล็อกเกอร์ขนาดใหญ่มากกว่า ส่วนที่สามย่านกลุ่มผู้ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษาเราก็จะมีตู้ขนาดเล็กคอยให้บริการ” 

ส่วนด้านราคานั้นอิทธิชัยกล่าวว่า ได้ปรับราคาให้เหมาะกับคนไทยให้สามารถจับต้องได้ และกลับมาใช้ซ้ำอีกเรื่อยๆ โดยเริ่มต้นที่ 20 บาท/ชั่วโมง ขั้นต่ำต้องใช้บริการ 2 ชั่วโมง

“ตอนแรกก็ได้รับฟีดแบกเรื่องราคารายวันมาเหมือนกัน เราก็กลับมาคิดและปรับปรุง ซึ่งปัญหาอย่างหนึ่งของคนไทยเองคือ เมื่อตั้งราคาถูกไปแล้ว พอจะขึ้นราคา 5 บาท 10 บาทจะโดนต่อว่าทันที” อิทธิชัยกล่าวและว่า

เรายังให้ความสำคัญของสถานที่ และภาพลักษณ์ของแบรนด์ด้วย โดยจะตั้งตู้ล็อกเกอร์รับฝากสัมภาระนี้ไว้ในจุดที่มีคนพลุกพล่านตามระบบขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้า และต้องการสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้เป็นที่จดจำ พร้อมทั้งมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า

“ไมมีตู้ล็อกเกอร์ที่ไหนในโลกมีแบรนด์แอมบาสเดอร์หรอก เพราะมันไม่ใช่ธุรกิจที่ต้องทำ แต่เราทำเพราะเราเป็นธุรกิจใหม่ อยากให้เป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว และเพราะผมไม่ได้ทำเพื่อเงินขนาดนั้น เราทำให้มันอยู่ได้ เพราะถ้าทำเรื่องเงินธุรกิจนี้ยากมาก…และเพราะเราให้โจทย์ไปว่า ใครทำอะไร ผมจะไม่ทำตาม เราต้องทำอะไรที่มันสนุกกว่า ซึ่งถ้าผมทำบริษัทใหญ่ ผมอาจจะไม่มีโอกาสในการทำแบบนี้”

มองอนาคตตลาดยังโตอีกเยอะ ตั้งเป้าปลายปีขยายเป็น 30 แห่ง

ซีอีโอลอคค์บอกซ์ระบุต่อว่า ถึงแม้ตอนนี้ยังไม่สามารถบอกมูลค่าของตลาดเมื่อเทียบกับตลาดต่างประเทศได้ เพราะยังเป็นธุรกิจที่ใหม่มากในประเทศไทย แต่เชื่อว่าถ้าทำสำเร็จแล้วธุรกิจนี้ไปในแนวเดียวกับอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะมีมูลค่ามหาศาลเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ปลายปี’60 ตั้งเป้าขยายพื้นที่ให้บริการเป็น 30 แห่ง และในปีหน้าคาดว่าจะขยายไปยังต่างจังหวัดอย่างแน่นอน

“อนาคตเราจะต้องไปห้าง สถานที่ท่องเที่ยวบ้าง เพราะฉะนั้นมันจะไปได้อีกไกล เราจะต้องพัฒนาและปรับปรุง รวมทั้งร่วมทำงานกับดีเวลลอปเปอร์ที่เป็นอสังหาฯ รีเทล ธีมปาร์ค ออฟฟิศต่างๆ ซึ่งก็ต้องดูความพร้อมของทีมงานด้วย เพราะต้องขยายไปแล้วดูแลบริการลูกค้าได้อย่างทั่วถึง”

คู่แข่งที่ไม่ใช่คู่แข่ง…

ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจแบบไหนสิ่งที่ตามมาเป็นของคู่กันนั้นก็คือ “คู่แข่งทางธุรกิจ” ที่จะคอยมาแชร์ส่วนแบ่งในตลาด อิทธิชัย มองเรื่องนี้ว่า สำหรับธุรกิจตู้ล็อกเกอร์รับฝากสัมภาระนั้นจะมองว่าเป็นคู่แข่งหรือไม่เป็นคู่แข่งก็ได้ เพราะเราไม่ได้มองแค่ในประเทศ แต่เรามองไปถึงต่างประเทศแล้ว ซึ่งการมีคู่แข่งทางธุรกิจก็เป็นสิ่งดีที่จะกระตุ้นให้ตลาดตื่นตัวว่าในประเทศไทยก็มีธุรกิจตู้ล็อกเกอร์รับฝากสัมภาระด้วยเช่นกัน

“ความกล้า ความบ้า และแพสชั่น” ของซีอีโอหนุ่มคนนี้ ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของธุรกิจที่พร้อมจะเริ่มต้น ลงมือทำ และเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า พร้อมที่จะพัฒนาให้ประเทศไทยก้าวหน้าไปอีกขั้น…ถูกจริตยุค 4.0