“E-Sport” เกมกีฬาไม่จำกัดเพศ…ที่ให้อะไรมากกว่าความสนุก

เรื่อง จิรายุ วัฒนประภาวิทย์

เมื่อพูดถึง “เกมออนไลน์” ใครหลาย ๆ คน อาจจะคงคิดว่า “เกม” เป็นเรื่องที่ไร้สาระที่เด็กผู้ชายชอบเล่น โดยเฉพาะผู้ปกครอง เพราะพิษภัยที่เกิดขึ้นจากเกมออนไลน์ก็มีมาให้เห็นแล้วนักต่อนัก ซึ่งนี่อาจจะกลายเป็นความคิดที่ล้าหลังไปแล้วก็ได้

วันนี้ “เกมออนไลน์” ได้ถูกพัฒนาขึ้นไปอีกขั้น จากที่เป็น “เกม” ที่เล่นแค่เพื่อความสนุกสนาน คลายเครียด ได้ยกระดับมาสู่การเป็นเกมกีฬาที่มีการแข่งขันในระดับสากล หรือเรียกว่า “กีฬาอิเล็กทรอนิกส์ (E-Sport)” ที่เป็นกลายกีฬายอดฮิตที่กำลังมาแรงในขณะนี้

จากผู้เล่น “ธรรมดา” เปลี่ยนมาเป็น “มืออาชีพ” เป็นผลมาจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของวงการ E-Sport ซึ่งการแข่งขัน E-Sport ก็เหมือนกับกีฬาทั่วไป อย่างฟุตบอล บาสเกตบอล หรือว่ายน้ำ ที่ในปัจจุบันเป็นกีฬาที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับระโลกที่สามารถจัดการแข่งขันเป็น “ทัวร์นาเมนต์” ได้แล้ว

แต่กว่าจะเปลี่ยนจาก “ผู้เล่น” มาเป็น “นักกีฬามืออาชีพ” ได้นั้น จะต้องผ่านการฝึกฝนมาโชกโชน ทั้งในเรื่องเทคนิคการเล่น ที่ต้องมีการฝึกซ้อมให้ชำนาญ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการรู้จักตัวละครที่เล่น หรือเทคนิคการวางแผนการต่อสู้ ซึ่งถ้าเป็นเกมที่ต้องมีเพื่อนร่วมทีมด้วยแล้ว การฝึกซ้อมร่วมกันจะสามารถทำให้ทุกคนในทีมสามารถเล่นเกมได้เข้าขากันมากขึ้น สิ่งเหล่านี้คือเป็นตัวแปรที่เพิ่มโอกาสในการชนะให้กับนักกีฬาในการแข่งขันได้

ในประเทศไทยนั้น นักกีฬา E-Sport มีรายได้เฉลี่ย 15,000– 20,000 บาทต่อเดือน ซึ่งE-Sport เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ไม่แพ้อาชีพอื่น ๆ สำหรับในระดับนักกีฬาที่เป็นแชมป์ในระดับโลก จะมีรายได้เฉลี่ย 30,000 บาทต่อเดือน ซึ่งรายได้เหล่านี้จะมาจากสปอนเซอร์ที่สนับสนุนทีม หรือจากทีมที่นักกีฬาสังกัดอยู่

จากสถิติการเล่นเกมส์ออนไลน์ ในปี 2560 พบว่าค่าเฉลี่ยของคนเล่นเกมทั่วโลกโดยประมาณ จะมีเกมเมอร์เป็นเพศชายที่เล่นเกมอยู่ที่ราว ๆ 59% ในขณะที่เกมเมอร์เพศหญิงเล่นเกมอยู่ที่ 41% โดยมีเกมเมอร์เพศหญิงที่มีอายุเกิน 35 ปีขึ้นไป หันมาเล่นเกมมีสูงถึง 40% จากข้อมูลนี้สามารถบอกได้เลยว่า สมัยนี้เกมไม่จำกัดอยู่แค่เฉพาะเพศชายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ผู้หญิงเขาได้เริ่มหันมาเล่นกันบางแล้วเหมือนกัน

….ทำไมผู้หญิงถึงหันมาเล่นเกมกัน?

“ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” ชวนพูดคุยกับ 3 สาว ที่เล่นเกมและระบุว่าเกมมีอะไรมากกว่าที่คิด

อทิตยา โทมโคกกรวด นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง กล่าวว่า การที่ผู้หญิงเล่นเกมมันไม่ใช่เรื่องที่แปลกอะไร เพราะการเล่นเกมก็เปรียบเสมือนการระบายอารมณ์ความเครียดในรูปแบบหนึ่ง ที่ตนสามารถสวมบทบาทเป็นตัวละครในเกม และสามารถระเบิดอารมณ์ได้เต็มที่

อทิตยา โทมโคกกรวด

ทางด้าน ชุติมน สายทิพย์วดี พนักงานราชการ เจ้าตัวมองว่าการเล่นเกมเป็นการสร้างมิตรภาพใหม่ ๆ กับผู้เล่นคนอื่นในเกมที่ตนสามารถพูดคุยด้วยได้ อีกทั้งการเล่นเกมยังเป็นการฝึกทักษะทางด้านภาษาให้กับตนด้วย นอกจากนี้การเล่นเกมยังเป็นการฝึกสมาธิ ความคิด ทักษะการวางแผนที่เป็นลับดับขั้นตอนอีกด้วย เนื่องจากการเล่นเกมเป็นทีมสมาชิกในทีมจะต้องช่วยกันต่อสู้เพื่อเอาชนะคู่แข่ง ซึ่งการที่จะพาทีมชนะมันต้องผ่านการวางแผนก่อนว่าคนในทีมจะเดินเกมอย่างไรเพื่อที่จะพาทีมไปสู่ชัยชนะ

ชุติมน สายทิพย์วดี

“ซึ่งการเลือกเล่นเกมยังสามารถบ่งบอกถึงอุปนิสัยของแต่ละคนได้ด้วย ว่าคนที่เล่นเกมแบบไหนมีพฤติกรรมอย่างไร ซึ่งถ้าเขาเล่นเกมแล้วเขามีอารมณ์ร้อน เราก็ควรหลีกเลี่ยงการที่จะเล่นเกมนั้น”

ส่วน มินตราภา ฉิมคล้าย พริตตี้ กล่าวว่า ตนเองเล่นเกมมานานมาก ชนิดที่เรียกได้ว่าเล่นมาทั้งชีวิตเลยก็ว่าได้ โดยตนเริ่มเล่นเกมตั้งแต่อายุประมาณ 10 ขวบ ซึ่งเกมที่เล่นจะเป็นเกมออนไลน์ แต่เนื่องในปัจจุบันต้องทำงานไม่ค่อยมีเวลาเหมือนแต่ก่อน จึงได้เปลี่ยนหันมาเล่นเกมมือถือแทน

มินตราภา ฉิมคล้าย

ตนนั้นมองว่าการเล่นเกมนั้นมีทั้งประโยชน์และโทษ ซึ่งขึ้นอยู่กับวิธีการเล่นของแต่ละคน โดยส่วนใหญ่ตนมองว่าการเล่นเกมนั้นมีประโยชน์มากกว่าโทษ เพราะว่าเกมสามารถช่วยการผ่อนคลายความเครียดจากการทำงานได้ รวมถึงการเล่นเกมยังเป็นการฝึกทักษะทางด้านภาษาได้ดีด้วย ซึ่งตนมักจะเล่นเกมในเซิร์ฟเวอร์ที่เป็นของต่างประเทศ ซึ่งเมนูต่าง ๆ ในเกมก็จะไม่มีภาษาไทยจึงทำให้ต้องเปิดพจนานุกรมเพื่อแปลความหมายของคำนั้น ๆ เช่น เกมในเซิร์ฟเวอร์ของญี่ปุ่น เมนูต่าง ๆ ในเกมก็จะเป็นภาษญี่ปุ่น ซึ่งถ้ามีคำศัพท์ตัวไหนไม่รู้ความหมายก็ต้องใช้พจนานุกรมแปลภาษาเอา ซึ่งมันจะทำให้ตนสามารถจำคำศัพท์นั้นได้ด้วย

“การเล่นเกมไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดี อยากให้ลองมาสัมผัส อยากให้ลองมาเล่นดู เพราะการที่จะเป็นผู้เล่นมืออาชีพได้นั้นมันไม่ง่าย เพราะพวกเขาไม่ได้เล่นเก่งมาตั้งแต่เกิด แต่เขาเก่งมาจากการฝึกฝน ซึ่งการเล่นเกมยังเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ด้วย เพราะในปัจจุบันกีฬา E-Sport นั้น มีเงินรางวัลที่สูง ซึ่งการเล่นเกมมันไม่ใช่เรื่องไร้สาระอีกต่อไปแล้ว” มินตราภา กล่าว

จะเห็นได้ว่าการ “เกม” ไม่ใช่เรื่องที่ไร้สาระอีกต่อไป เพราะ “เกม” เป็นทั้งเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการกำจัดความเครียด การฝึกทักษะทางด้านภาษา การค้นหามิตรภาพใหม่ ๆ รวมถึง “เกม” ยังเป็นช่องทางที่สร้างรายได้ให้แก่ผู้เล่นได้มากมาย

อย่างไรก็ตาม การเล่นเกมที่จะทำให้เกิดประโยชน์ได้นั้น ผู้เล่นเกมจะต้องจัดสรรเวลาในการเล่นให้ดีไม่ให้ไปกระทบต่อการเรียน และการพักผ่อนด้วย