คำถามต่อสปิริตนักกีฬายุคใหม่ จากเซเรน่า ถึงนักบิดบีบเบรกคู่แข่ง

หลายเดือนก่อนประเทศไทยเคยมีประเด็นเกี่ยวกับคำว่า “สปิริต” ที่ถูกโยนไปแปะติดกับสถานะ “นักกีฬา” ไม่น่าเชื่อว่าหลายเดือนต่อมา ฝั่งตะวันตกมีเหตุการณ์ที่เชื่อมโยงกับคำนี้เกิดขึ้นได้ สำหรับคนที่เชื่อว่าถ้าพูดถึง “สปิริต” อาจต้องนึกถึงนักกีฬา ถ้ามาดูจากเหตุการณ์หลายอย่างที่คนกีฬาสมัยใหม่แสดงออกมา “สปิริต” ที่ถูกถามถึงคงต้องถูกตั้งคำถามกันบ้างแล้ว

“สปิริต” เป็นคำที่กินความหมายกว้างมาก ตั้งแต่จิตวิญญาณ ไปถึงจุดมุ่งหมาย หรือถูกนิยามในทางกีฬาว่า เกี่ยวกับความมุ่งมั่น เชื่อมั่น หรือคนไทยเข้าใจไปถึงความรับผิดชอบ ความกล้า ผูกโยงไปกับ “น้ำใจนักกีฬา” แบบ “รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย” ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ทุกคนคาดหวังให้นักกีฬาไม่ว่าอาชีพหรือสมัครเล่นมีสิ่งนี้อย่างแรงกล้า

ในความเป็นจริงแล้ว วงการกีฬาก็เป็นเหมือนกับวงการอื่น ๆ ที่มีคนหลากหลายแตกต่างกันไป ทุกคนไม่ได้เป็นคนดี และไม่ได้เป็นคนเลวเสมอไป

แต่ไม่รู้เป็นเพราะเหตุใด เรื่อง “สปิริต” หรือ “น้ำใจนักกีฬา” จึงมารวมกันอยู่ที่รอบสัปดาห์ที่ผ่านมากันหมด

เหตุการณ์ที่สนั่นโลกกีฬาต้องยกให้แมตช์ชิงแชมป์เทนนิสหญิงเดี่ยวยูเอส โอเพ่น ซึ่งเซเรน่า วิลเลียมส์ ดีกรีอดีตมือ 1 ของโลก ถูกกรรมการในเกมวินิจฉัยว่า เธอปรึกษากับโค้ชที่อยู่ข้างสนาม ถือเป็นการละเมิดข้อห้ามของรายการแกรนด์สแลมที่ห้ามนักกีฬารับคำปรึกษาจากโค้ชตลอดแมตช์ (รวมถึงวอร์มอัพด้วย) เป็นผลให้เวลาต่อมาเธอถูกตัดแต้ม และยิ่งไปกว่านั้น

เซเรน่าแสดงความไม่พอใจและโวยกรรมการด้วยคำพูดไม่เหมาะสม ใช้คำนิยามพฤติกรรมของกรรมการว่าเป็น “หัวขโมย” ซึ่งทำให้เธอโดนลงโทษขั้นปรับเกม

ภายหลังจบแมตช์ แพทริค มูราโตคลู โค้ชของเซเรน่า ยืดอกยอมรับว่า ท่าทางที่เขาทำระหว่างเกม เป็นการสื่อสารให้คำแนะนำกับนักกีฬาจริง แต่ตอนที่เขาทำ เซเรน่าไม่ได้ตั้งใจมองไปที่เขา ซึ่งเป็นผลให้เซเรน่าไม่เข้าใจว่าทำไมกรรมการถึงเตือนเธอหลายรอบ ทั้งที่เธอไม่ได้มีเจตนารับคำแนะนำจากโค้ช และยืนกรานจุดยืนของตัวเอง แถมมาพร้อมอารมณ์ฉุนเฉียวจนไปโต้เถียงกับกรรมการอย่างรุนแรงในแมตช์

ประเด็นสำคัญอยู่ที่แพทริคมองว่า กรรมการตัดสินอย่างไม่เป็นธรรม เนื่องจากคนวงการเทนนิสรู้ดีว่า แม้จะมีกฎห้ามโค้ชแนะนำนักกีฬาระหว่างแมตช์ แต่ที่ผ่านมานักเทนนิสชายชื่อดังหลายคนรับคำแนะนำจากโค้ชระหว่างเกมใหญ่แบบนี้ และแค่ถูกเตือน แต่ไม่ถึงขั้นลงโทษ ประเด็นแทบกลายเป็นเรื่องพ่วง “เหยียดเพศ” ไปด้วย

เซเรน่าอาจยกประเด็นที่พอมีมูลมาพูด และวงการเทนนิสก็ยอมรับว่ามีโค้ชกันประปรายทั้งที่ระเบียบระบุไว้ แต่ถ้ามองแบบแฟร์ ตำรวจไม่สามารถให้ใบสั่งทุกคนที่ขับขี่ผิดกฎหมาย แต่เมื่อผู้ขับขี่รายใดได้รับใบสั่งเพราะทำผิดกฎจริง ก็ควรต้องยอมรับผิดชอบในการกระทำของตัวเอง (แต่กรณีของเซเรน่าอาจพูดยากกว่าทั่วไป เพราะถ้าพิจารณาตามข้อมูล โค้ชกับนักกีฬาอธิบาย/เข้าใจกันคนละอย่าง) ที่สำคัญคือ เธอพลาดที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ จนแสดงกิริยารุนแรงซึ่งกระเทือนถึงภาพลักษณ์แบบสปิริตนักกีฬาที่ล้นเกิน

อีกหนึ่งประเด็นที่พูดกันมาก คือ ภาพนักแข่งมอเตอร์ไซค์ รุ่นโมโตทู ที่บีบเบรกคู่แข่งขณะทำความเร็วมากถึง 140 ไมล์ต่อชั่วโมง นักแข่งมือไวรายนี้ คือ โรมาโน เฟนาติ

นักบิดอิตาเลียนวัย 22 ปี เขายอมรับ และขอโทษกับการกระทำที่อาจทำให้คู่แข่งบาดเจ็บสาหัส หรือเสียชีวิตได้ ภาพที่นักขับจู่โจมใส่คู่แข่งแบบนี้ไม่ค่อยได้เห็นกันบ่อยนัก

ทำให้ทีมต้นสังกัด และว่าที่ทีมต้นสังกัดที่เตรียมย้ายไปร่วมในฤดูกาลหน้าต่างขับเขาพ้นทีม ขณะที่เจ้าตัวก็ต้องประกาศเลิกแข่ง ถอนตัวจากกีฬาบิดสองล้อแบบถาวรทั้งที่อยู่ในวัยหนุ่มแน่น

ต้นเหตุของพฤติกรรมที่เป็นข่าวไปทั่วโลก เฟนาติอธิบายว่า เป็นเพราะคู่กรณีขับจี้เข้ามาหาเขา 3 ครั้ง จนเกือบทำให้เขาไม่รอดเช่นกัน และที่เขาต้องบีบเบรกคู่กรณีก็เพราะเขาวู่วาม คิดว่าต้องแสดงให้เห็นว่าถึงคราวของเขาบ้าง เพียงแต่ไม่มีเจตนาทำให้เป็นอันตรายต่ออีกฝ่ายเลย เรียกได้ว่าเป็นวิธีใช้ไฟสู้ไฟ ที่ไม่เพียงดับยากกว่าเดิม กลับทำให้ปัญหาลุกลามใหญ่โต

กรณีท้ายสุดที่เกิดขึ้นก่อนหน้าเหตุการณ์ของเซเรน่า กับนักบิดอิตาเลียน คือ พฤติกรรมตุกติกของ ราอูล รูเซสคู จากทีมสเตอัว บูคาเรสต์ ที่ถูกจับภาพดึงกระดาษโน้ตแท็กติก

จากมือผู้เล่นราปิด เวียนนา ทีมคู่แข่งในเกมเพลย์ออฟยูโรป้า ลีก แล้วโยนทิ้งอย่างรวดเร็ว หวังทำลายการสื่อสารแผนการเล่นทีมคู่แข่งเพื่อเพิ่มโอกาสเข้ารอบ

พฤติกรรมนี้อาจไม่ได้เข้าข่ายการละเมิดระเบียบข้อใดแบบชัดเจน และไม่มีรายงานบทลงโทษจากการก่อพฤติกรรมนี้ กรณีนี้คือการตุกติกที่ไม่สวยงามสำหรับ “สปิริต” นักกีฬาเท่าไหร่นัก ถึงจะไม่ได้ผิดกฎ แต่พฤติกรรมนี้ผิดแผกไปจากมาตรฐานบรรทัดฐานที่โลกกีฬาให้คุณค่า


บทเรียนจากเหตุการณ์เหล่านี้ไม่เพียงเน้นย้ำเรื่องการรักษาสติและเคารพคู่แข่ง มันยังบอกอีกว่าทุกคนต้องชดใช้และรับผิดชอบกับผลจากการกระทำของตัวเองเสมอ ซึ่งยุคดิจิทัลนี้ก็ย่อมถูกบันทึกประวัติศาสตร์ไปด้วย มันยังบอกอีกว่า ชัยชนะไม่ใช่เป้าหมายเพียงอย่างเดียวของกีฬา แต่เส้นทางเพื่อไปสู่ชัยชนะ ก็พิสูจน์ตัวตนของนักกีฬา และ “สปิริต” ของนักกีฬาได้เช่นกัน