ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ เร่งฟื้น บินตรงออสเตรเลีย-เพิ่มเส้นทางสู่ญี่ปุ่น

เครื่องบินแบบแอร์บัสเอ330 ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

“ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” ประกาศความพร้อมทั้งเครื่องบิน-บุคลากร เร่งฟื้นเส้นทางบินเดิมก่อนโควิด ดีเดย์เปิดบินตรง “ซิดนีย์-เมลเบิร์น” 2 เส้นทางสู่ออสเตรเลีย 1 ธันวาคมนี้ พร้อมศึกษาตลาดอินเดีย-รัสเซีย คาดตุลาคมนี้ญี่ปุ่นเปิดประเทศเพิ่มขึ้น

เตรียมเพิ่มเส้นทางบินสู่ “โอซากา-ซัปโปโร”-เพิ่มความถี่เส้นทาง “กรุงเทพฯ-โตเกียว” เป็น 1-2 เที่ยวบินต่อวัน รับดีมานด์ไฮซีซั่นนี้

นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เปิดเผยถึงทิศทางธุรกิจสำหรับปีนี้ว่า สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์

จะเน้นกลับมาให้บริการเส้นทางเดิมที่เคยให้บริการในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงการเพิ่มความถี่ให้สอดรับกับความต้องการของแต่ละตลาด

ฟื้นบินตรงออสเตรเลีย

โดยขณะนี้ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ มีแผนเปิดเที่ยวบินตรงสู่ออสเตรเลีย เนื่องจากเป็นตลาดใหญ่ ก่อนการระบาดของโควิด-19 มีชาวไทยเดินทางไปยังออสเตรเลียราว 100,000 คนต่อปี โดยแบ่งเป็นนักเรียน-นักศึกษาชาวไทยเดินทางไปศึกษาต่อปีละถึง 30,000 คน

ขณะเดียวกันยังพบว่าก่อนการระบาดของโควิด-19 ชาวออสเตรเลียมีพฤติกรรมการออกเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศสูงถึง 21 ล้านคนต่อปี จากประชากรราว 25 ล้านคน

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นสายการบินจะเปิดให้บริการไปยัง 2 เมืองหลัก ประกอบด้วย 1.เส้นทางกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ)-ซิดนีย์ จำนวน 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ บินทุกวันจันทร์ อังคาร ศุกร์ เสาร์ เริ่มตั้งแต่ 2 ธันวาคม 2565

และ 2.เส้นทางกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ)-เมลเบิร์น จำนวน 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ทุกวันพุธ พฤหัสบดี อาทิตย์ เริ่มตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2565 ให้บริการด้วยเครื่องบินใหญ่ แอร์บัส เอ 330 บรรทุกผู้โดยสารได้ถึง 377 ที่นั่ง

นายธรรศพลฐ์กล่าวว่า สายการบินตั้งเป้ามีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารที่ราว 85-90% และมียอดผู้โดยสารแตะหลัก 10,000 คนได้ภายในสิ้นปี 2565 หากได้รับการตอบรับดีในอนาคตอาจเพิ่มความถี่เป็น 2 เที่ยวบินต่อวัน

“เราโฟกัส 2 เมืองนี้เป็นหลัก ยังไม่ทำการบินไปบริสเบน เนื่องจากทั้ง 2 เมืองดังกล่าวนี้เป็นตลาดใหญ่ สามารถทำการตลาดได้ง่าย และเปิดไฟลต์บินเป็นตอนเช้าและเย็น” ธรรศพลฐ์กล่าว

และว่า ขณะเดียวกันสายการบินยังได้รับตารางบินที่เหมาะสม ทำให้หมุนเวียนเครื่องบินได้ง่าย โดยผู้โดยสารที่เดินทางมาจากออสเตรเลีย เมื่อเดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้ว จะสามารถเดินทางกับสายการบินไปยังจุดบินอื่น ๆ ได้ เช่น กระบี่ ภูเก็ต เชียงใหม่

โดยปัจจุบันสายการบินที่ให้ปฏิบัติการบินเส้นทางระหว่างประเทศไทยและออสเตรเลียคือ การบินไทย แควนตัสแอร์เวย์ส และเจ็ทสตาร์แอร์เวย์ส

เร่งศึกษาเส้นทางอินเดีย-รัสเซีย

นายธรรศพลฐ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากเส้นทางสู่ออสเตรเลียแล้ว สายการบินยังพิจารณาเปิดเส้นทางบินกรุงเทพฯ-นิวเดลี (อินเดีย) โดยมองว่าตลาดการบินประเทศอินเดียเป็นอีกตลาดที่มีศักยภาพ แต่ที่ผ่านมาการขยายเที่ยวบินยังมีอุปสรรคเรื่องการขอสิทธิการบิน ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนตุลาคมนี้

รวมทั้งกำลังทำการศึกษาการเปิดเส้นทางบินไปโซนยุโรป รวมถึงประเทศรัสเซีย โดยเบื้องต้นให้ความสนใจใน 2 จุดบิน คือ กรุงมอสโก และเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก อย่างไรก็ตาม ยังต้องศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ทั้งเรื่องการเมือง การประกันภัย ฯลฯ

เพิ่มความถี่ “เกาหลี-ญี่ปุ่น”

นายธรรศพลฐ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับตลาดเกาหลีและญี่ปุ่นที่สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เปิดทำการบินไปก่อนหน้านี้แล้วนั้น ล่าสุดรัฐบาลญี่ปุ่นได้เตรียมผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมากขึ้น

ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ก็มีความพร้อมในการขยายเส้นทางและเพิ่มเที่ยวบินไปยังญี่ปุ่นเช่นกัน โดยสายการบินมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและเครื่องบินที่ให้บริการ

“ปัจจุบันจะยังไม่สามารถเพิ่มความถี่เที่ยวบินได้เต็มที่ เนื่องจากประเทศปลายทางยังมีมาตรการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศ แต่ส่วนตัวมองว่าญี่ปุ่นจะเริ่มเปิดประเทศมากขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมนี้ เพราะทางการญี่ปุ่นเจอแรงกดดันจากตัวเลขจีดีพี รวมถึงจากภาคธุรกิจเช่นกัน” ธรรศพลฐ์กล่าว

และว่า ก่อนการระบาดของโควิด-19 ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ทำการบินเส้นทางกรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-โตเกียว (นาริตะ) จำนวน 3 เที่ยวบินต่อวัน, กรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-โอซากา จำนวน 2 เที่ยวบินต่อวัน, กรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-ซัปโปโร จำนวน 1 เที่ยวบินต่อวัน

แต่ปัจจุบันสายการบินยังทำการบินเส้นทางบินญี่ปุ่นเพียงเส้นทางเดียวคือ กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ)-โตเกียว นาริตะ จำนวน 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ราว 60-70%

ส่วนเส้นทางกรุงเทพฯ-โซล (เกาหลี) เดิมสายการบินให้บริการเที่ยวบินจำนวน 3 เที่ยวบินต่อวัน แต่ปัจจุบันให้บริการเที่ยวบินอยู่ที่ 1 เที่ยวบินต่อวัน โดยมีอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (load factor) อยู่ที่ราว 80-90% และในอนาคตสายการบินเตรียมพิจารณาความถี่เป็น 2 เที่ยวบินต่อวัน

“เราอยากกลับไปบินญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ให้เร็วที่สุด หากสามารถเพิ่มเส้นทางบินและเพิ่มความถี่เที่ยวบินเส้นทางญี่ปุ่นได้อีกจะช่วยเพิ่มการใช้เครื่องบินที่มีเป็น 6 ลำ ตามเป้าหมายของปีนี้” นายธรรศพลฐ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า มีรายงานจากสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ระบุว่า ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์มีแผนเปิดให้บริการเส้นทางกรุงเทพฯ-โอซากา

โดยจะเริ่มให้บริการจำนวน 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ในเดือนตุลาคมนี้ และเพิ่มขึ้นเป็น 1 เที่ยวบินต่อวันในเดือนธันวาคม 2565 และเปิดเส้นทางกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ)-ซัปโปโร จำนวน 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ในเดือนธันวาคมเช่นกัน

รวมทั้งมีแผนเพิ่มความถี่เส้นทางกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ)-โตเกียว (นาริตะ) จากจำนวน 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ในปัจจุบันเป็น 1-2 เที่ยวบินต่อวัน

“ราคาน้ำมัน” ปัจจัยเสี่ยง

นายธรรศพลฐ์กล่าวต่อไปอีกว่า ก่อนช่วงการระบาดของโควิด-19 ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ มีเครื่องบินจำนวน 15 ลำ ปัจจุบันเหลืออยู่ 8 ลำ โดยเครื่องบินที่พร้อมทำการบินในขณะนี้มีอยู่ทั้งสิ้น 3 ลำ และตั้งเป้าว่า

เมื่อมีการเปิดเส้นทางหรือเพิ่มความถี่เที่ยวบินจะทำให้ใช้เครื่องบินเพิ่มเป็น 6 ลำภายในสิ้นปีนี้ ส่วนการจะนำเข้าเครื่องบินเพิ่มเติมหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาแผนของปี 2566 อีกครั้ง

“ตลอด 2 ปีกว่าที่ผ่านมา ผู้ประกอบการสายการบินขาดทุนกันหมด แถมภาครัฐแทบไม่ได้ช่วยเหลือ ประเมินว่าหลังจากนี้แต่ละสายการบินน่าจะแข่งขันกันอย่างฉลาดขึ้น โปรโมตกันด้วยภาพลักษณ์ การตลาด ไม่ใช่ด้วยสงครามราคา เพราะแต่ละรายแทบไม่มีทุนทรัพย์แล้ว” นายธรรศพลฐ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าสถานการณ์ภาพรวมสำหรับปีนี้สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จะยังคงขาดทุนอยู่ เนื่องจากปัญหาเรื่องราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงและกระทบต่อต้นทุนของสายการบินในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

“เราเคยแบกต้นทุนน้ำมันสูงถึงราว 40% แต่ปัจจุบันเมื่อราคาน้ำมันปรับตัวลง ทำให้ต้นทุนน้ำมันดังกล่าวลดลงมาเหลือราว 30% ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ส่งผลให้สายการบินได้รับผลกระทบหนัก ทั้งนี้ เชื่อว่าจะขาดทุนน้อยลงกว่าเดิมมาก โดยตั้งเป้าว่าปี 2565 จะมีผู้โดยสารใช้บริการจำนวน 300,000 คน” นายธรรศพลฐ์กล่าว