ภาคท่องเที่ยวลงนามร่วมมือ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้วยงานวิจัย

ภูเก็ต นักท่องเที่ยว
PHOTO : Mladen ANTONOV / AFP

ภาคท่องเที่ยวลงนามร่วมมือใช้งานวิจัยในการพัฒนาการท่องเที่ยว กูรูแนะรัฐให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา นำความรู้ที่ได้กำหนดทิศทางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ผู้ประกอบการเสี่ยงน้อยลง

วันที่ 12 ตุลาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.)

ร่วมด้วย สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย (PGAT) สมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย (สปข.) สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) (TICA) สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย-ญี่ปุ่น สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย และสมาคมโรงแรมไทย (THA) ลงนามบันทึกการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ด้วยงานวิจัยการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

นายนภินทร ศรีสรรภางค์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า การท่องเที่ยวในหลังการระบาดของโควิด-19 จะเป็นการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ โดยคำนึงถึงความยั่งยืนทั้งฝั่งอุปสงค์และอุปทานการท่องเที่ยว มุ่งเน้นการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียม ชุมชนได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยว

จากแนวคิดดังกล่าว นำไปสู่การที่ผู้มีส่วนได้เสียในอุตสาหกรรมต้องร่วมกันปรับแนวคิดการดำเนินงานใหม่ การลงนามความร่วมมือในวันนี้ถือเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญในการพัฒนาและร่วมหาแนวทางการดำเนินธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนร่วมกัน

ในการเสวนาการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยด้วยงานวิจัยการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) เปิดเผยว่า ปัจจัยความสำเร็จในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน ส่วนหนึ่งต้องใช้องค์ความรู้จากงานวิจัย

งานวิจัยที่คำนึงถึงตัวแปรที่หลากหลายและมีขอบเขตการศึกษาที่กว้าง จะช่วยให้ผู้ประกอบการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สามารถวางแผน กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานได้อย่างถูกต้อง ช่วยลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบ

“ในต่างประเทศ หลายประเทศให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาอย่างมาก แต่ประเทศไทยยังไม่เป็นเช่นนั้น ถ้าหากมีตัดสินใจลงทุนในเรื่องดังกล่าวแล้ว องค์ความรู้ที่ได้จะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการฟื้นฟูและพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจประเทศไทย” ดร.อดิษฐ์กล่าว