ยอดจอง “โฮสเทล” ฟื้น ”LUK Hostel” ขยับราคารับต้นทุนเพิ่ม

วิภาวี กิตติเธียร
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

ข้อมูลจากสมาคมโรงแรมไทย (THA) ระบุว่า ดัชนีเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องทุกเดือน แม้ว่ารายได้ในภาพรวมจะยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับก่อนโควิด แต่ก็มีทิศทางการฟื้นตัวที่ชัดเจน โรงแรมเกือบครึ่งหนึ่งที่เปิดให้บริการมีรายได้เกิน 50% เมื่อเทียบกับปี 2562 แล้ว

โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากทั้งจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้น และราคาห้องพักที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น และเป็นการฟื้นตัวดีขึ้นทุกภูมิภาคของประเทศ และในทุกกลุ่มโรงแรม ไม่ใช่เพียงแค่โรงแรมตั้งแต่ระดับ 5 ดาวขึ้นไปเท่านั้น

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “วิภาวี กิตติเธียร” กรรมการบริหาร บริษัท มหาชุมชน จำกัด และผู้บริหาร ลุก โฮสเทล (LUK Hostel) ถึงทิศทางของโรงแรม ที่พัก ในกลุ่มของโรงแรมขนาดเล็ก หรือ โฮสเทล ไว้ดังนี้

“วิภาวี” บอกว่าหลังประเทศไทยก้าวเข้าสู่ฤดูหนาว พบว่าตลาดการท่องเที่ยวไทยเริ่มฟื้นตัว โดยในกลุ่มของที่พักประเภท “โฮสเทล” นั้นเริ่มเห็นการสำรองที่พักเพิ่มขึ้น และอัตราการจองเริ่มกลับมาคล้ายคลึงกับก่อนการระบาดของโควิด-19

โดยเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2565 มีนักท่องเที่ยวจองที่พักทั้งผ่านการจองตรงกับโรงแรม และผ่านตัวแทนออนไลน์ (OTA) เข้ามาเป็นจำนวนมาก พร้อมประเมินว่าในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้จะเป็นช่วงที่คึกคักมากที่สุดนั้น เริ่มเห็นสัญญาณการออกเดินทางของนักท่องเที่ยวแล้ว

“ยุโรป-อเมริกา” ลูกค้าหลัก

ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลพบว่านักท่องเที่ยวที่เข้าพักโฮสเทล เป็นนักเดินทางจากชาติยุโรปและอเมริกาเป็นส่วนใหญ่ ขณะเดียวกัน เริ่มเห็นสัญญาณการเติบโตของนักท่องเที่ยววัยรุ่นจากประเทศอินเดียเพิ่มมากขึ้น

“เราค่อนข้างแปลกใจพอสมควร เพราะเดิมเคยมองว่านักท่องเที่ยวอินเดียอาจเข้าพักในโรงแรมขนาดใหญ่เป็นหลัก”

นอกจากนี้ ยังพบว่าโฮสเทลยังมีนักท่องเที่ยวกลุ่ม digital nomad หรือนักท่องเที่ยวทำงานจากที่ไหนก็ได้ผ่านระบบออนไลน์เพิ่มมากขึ้น โดยเข้าพักยาวนานตั้งแต่สัปดาห์ไปจนถึงเป็นเดือน

ปรับขึ้นราคารับต้นทุนพุ่ง

“วิภาวี” บอกด้วยว่า ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมาได้ปรับราคาโฮสเทลเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าก่อนการระบาดของโควิด-19 แม้ว่าต้นทุนจากค่าใช้จ่ายและค่าแรงของพนักงานจะปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าราคาห้องพักจะกลับมาเทียบเท่าก่อนยุคโควิด-19 ได้ในเดือนมกราคมปี 2566

“ตอนโควิดเราขาดทุนไปเยอะ ตอนนี้เหมือนเป็นช่วงจ่ายค่ายา รักษาแผลเก่าที่เคยขาดทุนอยู่ และแผลยังค่อนข้างลึก แต่ตอนนี้เริ่มมีกำลังใจมากขึ้น มองว่าปี 2566 ราวไตรมาส 2 รายได้น่าจะกลับมาเป็นปกติ”

โดยปัจจุบันพฤติกรรมนักท่องเที่ยวใช้เวลาพำนักอยู่ราว 3-4 คืน และอาจเดินทางไปท่องเที่ยวต่อในพื้นที่อื่น ๆ ของไทย จากนั้นก็กลับมาใช้บริการอีกครั้งก่อนที่จะเดินทางไปยังประเทศอื่น รวมทั้งหมดประมาณ 5-6 คืน ใกล้เคียงกับก่อนการระบาดของโควิด-19

ซึ่งการที่สถานที่ท่องเที่ยวเริ่มกลับมาให้บริการอย่างเต็มที่ ส่งผลดีต่อนักท่องเที่ยวกลุ่มแบ็กแพ็กเกอร์ ให้สามารถสัมผัสประสบการณ์ที่หลากหลาย อีกทั้งการที่ภาครัฐอย่างกรุงเทพฯ จัดกิจกรรมต่าง ๆ ยังส่งผลให้นักท่องเที่ยวพักในโรงแรมนานขึ้น

“เงินเฟ้อ-ค่าเงิน” ไม่กระทบ

พร้อมทั้งวิเคราะห์ว่า ปัญหาเงินเฟ้อ สถานการณ์ค่าเงินผันผวนที่เกิดขึ้นทั่วโลกนั้น กระทบนักท่องเที่ยวกลุ่มแบ็กแพ็กเกอร์ไม่มากนัก เนื่องจากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เก็บเงินเพื่อเตรียมตัวออกใช้จ่ายมานาน พร้อมทั้งควบคุมการใช้จ่ายตลอดการเดินทาง และเป็นวัยที่มีพลังอยากออกเดินทาง

ส่วนปัญหาด้านแรงงานนี้ หลังจากกลับมาให้บริการก็มีความต้องการพนักงานจำนวนมากเช่นเดียวกับธุรกิจบริการอื่น ๆ ซึ่งพบว่ามีผู้สนใจสมัครเข้าทำงานน้อยลง ทั้งในส่วนที่พักและส่วนอาหารและเครื่องดื่ม ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากค่าแรงที่ต่ำ ไม่ดึงดูดแรงงาน

“เราพยายามปรับขึ้นค่าแรงให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ และขยับให้มากกว่าฐานเล็กน้อย เพื่อให้ลูกน้องอยู่ได้ แม้ว่าค่าใช้จ่ายภาพรวมจะเพิ่มขึ้น ราคาที่พักที่เก็บจากลูกค้าจะยังไม่เท่าเดิม และมาร์จิ้นจะลดลงไปบ้าง แต่ทั้งหมดจะช่วยรักษาบรรยากาศของการทำงานให้เดินต่อไปได้”

ชู “Soft Power” ดึง นทท.

อย่างไรก็ตาม แม้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะมุ่งสื่อสารว่าต้องการเจาะกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวใช้จ่ายสูงมากขึ้น แต่ส่วนตัวเชื่อว่านักท่องเที่ยวกลุ่มแบ็กแพ็กเกอร์ยังคงเดินทางมาประเทศไทยอยู่

และอยากเสนอให้ภาครัฐผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อเจาะตลาดร่วมด้วย เนื่องจากตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่ม “แบ็กแพ็กเกอร์” ถือว่ามีขนาดใหญ่ และเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ

“ถ้านักท่องเที่ยวเขาจะมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขาก็ยังมาไทย แต่เขาจะอยู่นานหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสถานที่ท่องเที่ยว กิจกรรมว่าน่าดึงดูดหรือเปล่า ซึ่งไทยยังเป็นจุดหมายในฝันของพวกเขาอยู่”

ขอโอกาส “โฮสเทล” ได้เกิดใหม่

ผู้บริหาร “ลุก โฮสเทล” ยังบอกด้วยว่า ก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการ “โฮสเทล” หลายแห่งได้มีการหารือกันเพื่อผลักดันให้เกิดการจดทะเบียนโฮสเทลแบบพิเศษ เนื่องจากยังไม่สามารถจดทะเบียนตามระเบียบปกติได้ และทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” หรือโครงการอื่น ๆ ของภาครัฐได้ เนื่องจากติดปัญหาการลงทะเบียนระบบ SHA ดังนั้น จึงมีแผนว่าจะกลับมาหารือกันอีกครั้งเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น

“ปัจจุบันผู้ประกอบการหลายรายยังคงให้ความสำคัญกับการพยุงฐานะทางการเงินให้ผ่านได้ก่อน”

โดยประเด็นดังกล่าวนี้ อยากฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดรับการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ๆ ด้วย ซึ่งกลุ่มโรงแรม ที่พัก ในกลุ่ม “โฮสเทล” ก็เป็นจุดต้อนรับนักท่องเที่ยวเช่นกัน โดยเฉพาะแบ็กแพ็กเกอร์

ที่สำคัญที่พักกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นคู่แข่งกับโรงแรม 4-5 ดาวแน่นอน หากสามารถแก้ไขข้อกฎหมายได้ก็น่าจะช่วยผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ มีโอกาสกลับมาฟื้นอีกครั้งได้