สยามซีเพลน ทุ่ม 100 ล้าน ลงทุน “เครื่องบินน้ำ” เจาะกลุ่มพรีเมี่ยม

สัมภาษณ์

ประกาศเปิดตัวไปแล้วสำหรับ “สยาม ซีเพลน” สายการบินน้องใหม่ ที่จะมาสร้างปรากฏการณ์ “เครื่องบินน้ำ” ที่สามารถขึ้น-ลง จากผิวน้ำได้

โดยข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า บริษัท สยาม ซีเพลน จำกัด จดทะเบียนตั้งเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2562 ด้วยทุนจดทะเบียน 32 ล้านบาท มีกรรมการ 4 ราย คือ นายเดนนิส อิมมานูเอล เคลเลอร์ นายไมเคิล เบลนีย์ เดวิดสัน นางสาววรกัญญา สิริพิเดช และนายโทมาส บอมบ์การ์ดเนอร์

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “วรกัญญา สิริพิเดช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยาม ซีเพลน จำกัด ถึงที่มาที่ไป มุมมองการทำธุรกิจ แผนการลงทุน รวมถึงแผนการตลาดและโอกาสการเติบโตสำหรับเครื่องบินน้ำ ดังนี้

“วรกัญญา” บอกว่า สยามซีเพลน เกิดขึ้นจากหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเป็นนักบินผู้มีความชื่นชอบในเครื่องบินน้ำเป็นอย่างมาก ประกอบกับในไทยยังไม่มีบริษัทใดให้บริการเครื่องบินน้ำ ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย เริ่มมีบริการเครื่องบินน้ำแล้ว

“เรามองเห็นช่องว่างทางการตลาดและศักยภาพที่จะเติบโต เพราะประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพมากมาย รวมถึงเกาะต่าง ๆ จำนวนมาก และรู้สึกแปลกใจที่ประเทศไทยยังไม่มี Seaplane เหมือนประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน”

เตรียมงบลงทุน 100 ล้านบาท

สำหรับในด้านการลงทุนนั้น “วรกัญญา” บอกว่า ในปี 2565-2567 คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 100 ล้านบาท บนการประเมินว่าจะสามารถทำการบินในช่วงปลายปี 2566 และใช้เครื่องบินปฏิบัติการบินทั้งสิ้น 3 ลำ โดยใช้เครื่องบิน Cessna C208B เนื่องจากมีประสิทธิภาพสูง ค่าบำรุงรักษาไม่สูงมาก

ดำเนินการในรูปแบบ Financial Lease และเครื่องบินจะเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทเมื่อครบตามระยะเวลา ปัจจุบัน “สยามซีเพลน” มีเครื่องบินประจำการอยู่แล้วจำนวน 1 ลำ และขยายเป็น 3 ลำภายในปี 2566

โดยที่ผ่านมาได้ยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการค้าขายการเดินอากาศ (AOL) จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ไปแล้วตั้งแต่ปี 2564 ปัจจุบันยังรอการลงนามอนุมัติ ซึ่งคาดว่าจะได้รับใบอนุญาตเร็ว ๆ นี้

รอกฎ “ขึ้น-ลง จากผิวน้ำ”

“วรกัญญา” บอกด้วยว่า สำหรับการขึ้น-ลงจากผิวน้ำจุดใดนั้น สายการบินอยู่ระหว่างรอกฎระเบียบจาก กพท. เมื่อมีกฎระเบียบชัดเจนแล้วจะขออนุญาต กพท. และหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ เช่น กรมเจ้าท่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อประเมินจุดขึ้นลงจอดในน้ำและขอใบอนุญาตต่อไป

ส่วนปัจจัยด้านภูมิอากาศนั้นเชื่อว่าไม่เป็นอุปสรรคของเครื่องบินน้ำ เพราะสายการบินสามารถหันไปทำการบินระหว่างสนามบิน (บกสู่บก) อีกทั้งฤดูมรสุมภาคใต้มีความแตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา จึงสามารถเลือกทำตลาดการบินลงจอดในน้ำโดยหลีกเลี่ยงมรสุมได้

“ความท้าทายในการเปิดสายการบินใหม่คือ การประสานงานแต่ละหน่วยงาน เราจะพยายามทำหน้าที่เป็นคนคอยสนับสนุนให้แต่ละหน่วยงาน ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับประเทศให้ลุล่วงเป้าหมายได้”

คาดลงจอดบนผิวน้ำได้ภายใน 3 ปี

ส่วนแผนทำการบินนั้น “วรกัญญา” บอกว่า ในปีแรกที่เริ่มทำการบิน ซึ่งตามแผนคือไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 นั้น จะให้บริการการบินแบบเช่าเหมาลำ เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับสายการบิน จากนั้นในปีที่ 2 จะเริ่มทยอยให้บริการเที่ยวบินประจำ (Schedule Flight) มากขึ้น

และหลังจาก กพท. ประกาศบังคับใช้กฎระเบียบในการขึ้น-ลงจากผิวน้ำเรียบร้อย ซึ่งประเมินว่าอยู่ภายในปีที่ 3 ที่บริษัททำการบิน จะเริ่มทำการบินไปยังเกาะต่าง ๆ เช่น เกาะหลีเป๊ะ เกาะตะรุเตา และในปีที่ 5 มีแผนขยายเที่ยวบินให้ครอบคลุมท่าอากาศยานอื่น ๆ ในประเทศไทย รวมถึงกาลงจอดในอ่างเก็บน้ำด้วย

“ถ้ากฎการลงจอดในน้ำยังไม่ชัดเจน เราจะทำการบินจากบกสู่บกไปก่อน เช่น เส้นทางหัวหิน-อู่ตะเภา ปราณบุรี-อู่ตะเภา”

ตั้งเป้า 5 ปี รายได้ 200 ล้าน

ทั้งนี้ บริษัทจะไม่เน้นเจาะตลาดจากประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่จะวางกลยุทธ์ผันแปรไปตามช่วงเวลา เน้นไปยังกลุ่มลูกค้าลักเซอรี่ โดยวางสัดส่วนผู้โดยสารสายการบินเป็นลูกค้าชาวไทยและต่างชาติในสัดส่วนเท่า ๆ กัน

ส่วนรายได้หลักจะมาจากลูกค้าของพันธมิตรทางธุรกิจ โดยคาดว่าจะมีสัดส่วนรายได้ที่ราว 60-70% ขณะที่ลูกค้าอิสระที่ทำการสำรองที่นั่งเองมีสัดส่วนราว 30-40%

“จุดสำคัญคือต้องจับลูกค้าให้ถูกกลุ่ม วางจุดหมายว่าเป็น Premium for Luxury ลูกค้าต้องการสัมผัสประสบการณ์จากจุด A ไปยังจุด B ต้องการโพสต์ภาพลงสื่อสังคมออนไลน์ เชื่อว่าผู้คนยอมจ่ายเพื่อซื้อประสบการณ์ที่มากขึ้น”

“วรกัญญา” บอกด้วยว่า จากการประเมินพบว่า ตลาดหลักที่มีความต้องการเดินทางสูง หลายแห่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เช่น หัวหิน อู่ตะเภา เขาใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมาได้เผยแพร่ราคาแพ็กเกจบนเว็บไซต์แล้ว เช่น กรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-หัวหิน 111,000 บาท/ลูกค้า 8 ราย กรุงเทพฯ-เขาใหญ่ 119,000 บาท/ลูกค้า 8 ราย เป็นต้น

ในด้านกลยุทธ์การตลาดจะใช้กลยุทธ์ให้พันธมิตรเป็นผู้แนะนำบริการ เช่น ลูกค้าสามารถเลือกซื้อแพ็กเกจที่พักโรงแรม + สายการบิน รวมถึงสื่อสารผ่านสื่อ หน่วยงานภาครัฐ เช่น ททท. โดยปีนี้ได้เตรียมขยายความร่วมมือกับพันธมิตรให้มากขึ้น จากที่มีอยู่ราว 40 ราย โดยการจับมือกับโรงแรม ตัวแทนการท่องเที่ยว OTA ฯลฯ

โดยประเมินว่า หากสามารถเริ่มทำการบินได้ภายในปลายปี 2566 “สยามซีเพลน” จะมีรายได้ปีแรกประมาณ 21 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 111 ล้านบาท ในปี 2567 และ 200 ล้านบาท ในปี 2570

และคาดว่าจะสามารถเริ่มทำกำไรได้ในปีที่ 3 ของการทำการบิน หรือในปี 2568 และมีกำไรราว 30-40 ล้านบาท ในปีที่ 5

ดีมานด์ล้น-ซัพพลายไม่พอ

ผู้บริหารสาวยังวิเคราะห์ด้วยว่า ปัจจุบันนักเดินทางทั้งในและจากต่างประเทศต้องการมาประเทศไทยจำนวนมาก สวนทางกับอุปทาน (ซัพพลาย) ด้านการบินที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่มีผู้ให้บริการน้อย และไม่สามารถเติมเต็มความต้องการของผู้โดยสารได้

เช่น ไม่มีเที่ยวบินเดินทางจากหัวหิน-อู่ตะเภา จึงเป็นโอกาสของเครื่องบินขนาดเล็กที่จะมาเติมเต็มช่องว่างในห่วงโซ่โลจิสติกส์นี้

พร้อมย้ำว่า ตลาดนักท่องเที่ยวลักเซอรี่กำลังเติบโตมากขึ้น หากไม่ทำก็เสียโอกาส ที่สำคัญตลาดนี้ไม่มีคู่แข่งด้วย