“บินไทย” ยันภาระหนี้ยังสูง ไม่พร้อมลงทุนศูนย์ซ่อม MRO อู่ตะเภา

“การบินไทย”
ภาพจาก PIXABAY

“การบินไทย” ยันสถานะวันนี้แบกภาระหนี้สูงลิบ ไม่พร้อมลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยาน MRO ชี้เป็นการลงทุนขนาดใหญ่มูลค่าร่วม 1 หมื่นล้าน แถมใช้เวลานาน รวมถึงต้องมีพันธมิตร-ลูกค้าที่แข็งแกร่ง พร้อมมีข้อมูลการันตีว่าลงทุนไปแล้วจะเกิดกำไร จากที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีแผนนำโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) ซึ่งเป็น 1 ใน 4 โครงการพื้นฐานสำคัญในการพัฒนา EEC กลับมาดำเนินการอีกครั้ง และกันพื้นที่ประมาณ 200 ไร่ ไว้ให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สำหรับลงทุนในโครงการ MRO  นั้น

วันที่ 26 เมษายน 2566 แหล่งข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงประเด็นการลงทุนศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน หรือ MRO ในพื้นที่ EEC (อู่ตะเภา) ว่า ประเด็นดังกล่าวยังไม่เคยมีการพูดคุยกันในที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) เนื่องจากสถานการณ์ของบริษัทการบินไทยขณะนี้ไม่พร้อมสำหรับการลงทุนขนาดใหญ่ และยังอยู่ในกระบวนการของแผนฟื้นฟู และมีภารกิจต้องชำระหนี้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงปี 2567-2568

หากมีการลงทุนใหม่การลงทุนนั้นจะต้องไม่เป็นภาระ มีความคุ้มค่า และเกิดรายได้ทันที เช่น การลงทุนเช่าเครื่องเพื่อนำมาทำการบินเพิ่ม เป็นต้น ส่วนการลงทุนในศูนย์ซ่อมบำรุงนั้นเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ มูลค่าร่วม 1 หมื่นล้านบาท และใช้เวลานาน รวมถึงต้องมีพันธมิตรและลูกค้าที่แข็งแกร่ง ที่สำคัญต้องมีข้อมูลการันตีที่ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าลงทุนไปแล้วจะเกิดกำไร

“สถานะของการบินไทยในวันนี้ยังมีภาระและหนี้สินรออยู่ข้างหน้าอีกเยอะมาก เราอยากทำข้างหน้าให้ได้ตามแผนฟื้นฟูก่อน เช่น เครื่องบินต้องส่งคืนกี่ลำ จะรับใหม่มาเสริมกี่ลำ ฯลฯ ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้อีกราว 6-12 เดือน แต่ถ้าถามว่าการบินไทยควรลงทุนไหม คำตอบก็คือเราน่าจะเหมาะสมที่สุด” แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ตาม หากการบินไทยจะเดินหน้าโครงการดังกล่าวต่อไป จำเป็นต้องใช้เวลาศึกษาข้อมูลใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง  เพราะผลการศึกษาที่ทำไว้เมื่อ 5 ปีก่อนนั้นไม่สอดรับกับสถานการณ์ในวันนี้แล้ว โดยเฉพาะตัวแปรเรื่องของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดและพัฒนาการของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และส่งผลต่อความจำเป็นในการเดินทางด้วย

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน หรือ MRO นั้นนับเป็นโครงการสำคัญของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมีเป้าหมายทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่ทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และสามารถแข่งขันในระดับโลก ซึ่งต้องใช้งบลงทุนมูลค่าสูงถึงกว่า 1 หมื่นล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ให้สัมภาษณ์ว่า แม้ว่าแอร์บัสผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลกจะถอนตัวไม่เข้าร่วมลงทุน บริษัทยังคงมีแผนศึกษาโครงการดังกล่าวอยู่ และไม่ได้เจาะจงเฉพาะในพื้นที่ EEC เท่านั้น ยังศึกษาในพื้นที่สุวรรณภูมิและดอนเมืองด้วย

นอกจากนี้ ยังมองหาพันธมิตรใหม่ ทั้งส่วนที่เป็นผู้ผลิตเครื่องบิน ผู้ประกอบการศูนย์ซ่อมอากาศยาน ฯลฯ รวมถึงพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการตลาด โดยคาดว่าจะมีข้อสรุปของผลการศึกษาไม่เกินไตรมาส 3/2566 นี้