ไขปริศนา! ดุสิตธานี รุกธุรกิจอาหารบาลานซ์ความเสี่ยง

ขยับลงทุนนอก “ธุรกิจโรงแรม” อย่างชัดเจนแล้วสำหรับกลุ่ม “ดุสิตธานี”

โดยประกาศตัวรุกสู่ธุรกิจอาหารเต็มรูปแบบ พร้อมจัดตั้งบริษัท ดุสิต ฟู้ดส์ จำกัด สำหรับขยายการลงทุนไปยังธุรกิจอาหารไปเมื่อ 2 มีนาคมที่ผ่านมา

หนุนการเติบโต-ลดความเสี่ยง

พร้อมระบุว่า หลังจากการจัดตั้ง “ดุสิต ฟู้ดส์” แล้วเสร็จในเดือนมีนาคมนี้ก็จะเข้าซื้อหุ้นของ “เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์” หรือ NRIP ในสัดส่วน ประมาณ 26% คิดเป็นมูลค่าลงทุนราว 660 ล้านบาท

“ศุภจี สุธรรมพันธุ์” ซีอีโอ กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DTC ระบุว่า การลงทุนในธุรกิจอาหารครั้งนี้เป็นการลงทุนนอกธุรกิจโรงแรมเป็นครั้งแรกของดุสิตธานี และเป็นการตอกย้ำกลยุทธ์ทั้ง 3 ด้านที่วางไว้ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น คือ การขยายการเติบโต การกระจายความเสี่ยง และสร้างความสมดุล เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับบริษัทในระยะยาว

Advertisment

ทั้งนี้ NRIP เป็นบริษัทผลิตและจำหน่ายสินค้าที่เป็นอาหารแห้ง ส่วนผสมของอาหาร และเครื่องปรุงรสแบบต่าง ๆ ให้กับลูกค้าทั้งในประเทศ และลูกค้าทั้งในยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย และประเทศอื่น ๆ ตลอดจนผลิตและจำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์ของตนเอง อาทิ พ่อขวัญ, Lee, Thai Delight, DEDE และ Shanggie

“ศุภจี” ย้ำว่า ธุรกิจอาหารเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโต จึงมั่นใจสร้างความแข็งแกร่งให้กับพอร์ตการลงทุนของดุสิตธานีอย่างยั่งยืนในอนาคตได้เป็นอย่างดี

เพราะนอกจากจะสร้างรายได้เพิ่มเติมในอนาคตแล้ว ยังสามารถต่อยอดในการผลิตสินค้าและอาหารที่ได้คุณภาพและมาตรฐานภายใต้แบรนด์ดุสิตให้ออกสู่ตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ และอาจจะดำเนินการพัฒนาแบรนด์ร่วมกันอีกด้วย

ชี้ทุกค่ายโตจากธุรกิจอาหาร

Advertisment

แหล่งข่าวในธุรกิจโรงแรมรายหนึ่งกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โรงแรมเป็นธุรกิจที่แข่งขันกันรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยจะพบว่ามีโรงแรมทั้งที่เป็นเชนอินเตอร์และเชนโลว์คอลเกิดใหม่มากมาย ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยวหลัก ๆ

จากการแข่งขันที่รุนแรงนี้ส่งผลให้ผู้ประกอบการโรงแรมทั้งหลายไม่สามารถปรับขึ้นอัตราค่าห้องพักได้มากนัก ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ผลประกอบการของธุรกิจแต่ละแห่งอยู่ในภาวะที่ต้องประคับประคองธุรกิจกันมาหลายปี

ปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวแปรหนึ่งที่หนุนให้กลุ่มทุนโรงแรมรายใหญ่หันไปขยายฐานธุรกิจไปยังธุรกิจอาหาร ซึ่งเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน ที่สำคัญธุรกิจอาหารเป็นธุรกิจที่ยังมีช่องว่างทางการตลาดให้เติบโตได้สูง ขณะที่ต้นทุนการขยายธุรกิจไม่ได้สูงนักเมื่อเทียบกับธุรกิจโรงแรม

ทั้งนี้ หากดูตัวเลขรายได้และกำไรของกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมรายใหญ่ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์จะพบว่า รายได้จากธุรกิจโรงแรมของแต่ละค่ายไม่ได้สูงมากนัก ในทางกลับกันยังเป็นธุรกิจที่ต้องเงินลงทุนเป็นจำนวนมากอีกด้วย

ส่วนผู้ประกอบการที่มีตัวเลขรายได้และกำไรในอัตราที่สูงนั้น หากวิเคราะห์ลงไปลึก ๆ จะเป็นว่าธุรกิจที่เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของบริษัทนั้นล้วมาจากธุรกิจอาหารแทบทั้งสิ้น

อาทิ กลุ่มบริษัทโรงแรมเซ็นทรัลพลาซ่า หรือ เซ็นเทล ปี 2560 ที่ผ่านมามีรายได้รวม 20,345 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.2% เมื่อเทียบกับปี 2559 แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจโรงแรม 9,357 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 46% ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.5% และธุรกิจอาหาร 10,987 ล้านบาท คิดเป็น 54% ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.7%

และหากโฟกัสในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งเป็นไฮซีซั่นของธุรกิจหลาย ๆ กลุ่ม รวมถึงโรงแรมก็ยังพบว่า ธุรกิจอาหารมีอัตราการขยายตัวที่ 9.7% ขณะที่ธุรกิจโรงแรมขยายตัวที่ 4.4% เท่านั้น

หรือกลุ่มไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ในปี 2560 ที่ผ่านมามีตัวเลขรายได้รวมจากการดำเนินงาน 58,644 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับปีก่อน แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจโรงแรม 30,970 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 53% ขยายตัว 12% ธุรกิจอาหาร 23,582 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 40% ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2% และธุรกิจจัดจำหน่ายและรับจ้างผลิต 4,091 ล้านบาท มีสัดส่วน 7% ขยายตัวเพิ่มขึ้น 17%

และหากโฟกัสเฉพาะในช่วงไตรมาส 4 ก็พบว่า ธุรกิจอาหารมีอัตราการขยายตัวถึง 20% ขณะที่ธุรกิจโรงแรมขยายตัว 3% เท่านั้น

แต่เมื่อดูตัวเลขกำไรจากการดำเนินงาน (ก่อนหักภาษี) รวม 12,274 ล้านบาท พบว่า ธุรกิจโรงแรมมีอัตราการขยายตัวของกำไรที่ 8% ส่วนธุรกิจอาหารมีอัตราการขยายของกำไรที่ 12% ส่วนธุรกิจจัดจำหน่ายและผลิตมีอัตราการขยายตัวของกำไรที่ 14%

ติดหล่ม “ห้องพัก” อัพราคาไม่ได้

สอดรับกับความเห็นของ “ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ” นายกสมาคมโรงแรมไทย หรือ THA ที่บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันในเมืองท่องเที่ยวหลัก ๆ ของไทยนั้นธุรกิจโรงแรมได้ก้าวสู่ภาวะโอเวอร์ซัพพลายไปเรียบร้อยแล้ว และถ้าหากกางแผนที่ดูแทบจะไม่เห็นโรงแรมใหม่ หรือโรงแรมขนาดใหญ่เกิดขึ้นแล้ว

ขณะที่นักลงทุนเองก็เริ่มปรับรูปแบบการลงทุนด้วยการหันมาลงทุนโรงแรมขนาดเล็กแทน เพราะเทรนด์ของนักท่องเที่ยวในปัจจุบันไม่ได้มาเป็นกรุ๊ปขนาดใหญ่ และไม่นิยมบริการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกในโรงแรม

ที่สำคัญการลงทุนโรงแรมขนาดใหญ่นั้นเป็นการลงทุนที่สูงมาก ขณะที่ราคาห้องพักโรงแรมของประเทศไทยนั้นแทบจะต่ำที่สุดในภูมิภาค บวกกับภาพของการแข่งขันที่รุนแรงทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับขึ้นค่าห้องพักได้มากนัก ยกเว้นในบางซีซั่นเท่านั้น ส่งผลให้นักลงทุนต้องใช้เวลาในการคืนทุนที่นานขึ้น

ชี้ “ธุรกิจอาหาร” มาร์จิ้นสูง

เช่นเดียวกับแหล่งข่าวระดับสูงในธุรกิจโรงแรมอีกรายหนึ่งที่วิเคราะห์ว่า ภายใต้ภาวะการแข่งขันที่รุนแรงนี้ ทำให้บริษัทที่ประกอบธุรกิจโรงแรงเพียงอย่างเดียวนั้นมีความเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากไม่สามารถบริหารผลตอบแทนในแต่ละปีได้เพิ่มขึ้นมากนัก ที่สำคัญ หากเกิดเหตุการณ์ที่กระทบกับภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศก็จะยิ่งทำให้ได้รับผลกระทบมากยิ่งขึ้นไปอีก

และเชื่อว่าทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้กลุ่มดุสิตธานี ซึ่งมีเพียงธุรกิจโรงแรมเพียงอย่างเดียวต้องหันมาปรับแผนยุทธศาสตร์กันใหม่หมด เพื่อบาลานซ์ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจในอนาคตซึ่งการตั้งธงรุกหนักธุรกิจอาหารก็น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด เนื่องจากธุรกิจอาหารเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการสร้างมาร์จิ้นที่สูง

ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้พอร์ตการลงทุนของดุสิตธานีในอนาคตมีความแข็งแกร่งขึ้น…