จี้ปลุกพลัง Soft Power “ขุมทรัพย์“ ต่อยอดท่องเที่ยวไทย

การขับเคลื่อนปีท่องเที่ยว 2566 นี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มุ่งเน้นสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวที่มีคุณค่าและความหมาย ภายใต้แนวคิด Amazing 5F and more นำเสนอ Soft Power of Thailand

ประกอบด้วย food-อาหาร, film-ภาพยนตร์, fashion-แฟชั่น, fight-ศิลปะการต่อสู้ และ festival-งานเทศกาล ควบคู่กับการยกระดับสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG economy

และจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว โดยสนับสนุนการจัดงาน “The Soft Power Tourism 2023” เวทีฟอรั่มที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญในทุกแขนงของพลัง soft power มาร่วมต่อยอดไอเดีย พลิกความคิด พิชิตกลยุทธ์ใหม่ในการทำธุรกิจท่องเที่ยว

ดันไทยสู่ High Value Tourism

“ศ.ดร.เทิดชาย ช่วยบำรุง” ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต คณะการจัดการการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า การท่องเที่ยวของประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มตลาดการท่องเที่ยวสำคัญระดับโลก เห็นได้จากประเทศไทย ติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนมากที่สุดในโลก

อย่างไรก็ดี เพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทยสู่ความยั่งยืน ประเทศไทยต้องผลักดันให้การท่องเที่ยวที่สร้างมูลค่าและคุณค่า (high value tourism) ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เกิดการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น เกิดความเข้าใจในวัฒนธรรมทั้งฝั่งเจ้าบ้านและนักท่องเที่ยวที่มาเยือน รวมถึงเกิดคุณค่าทางใจของทั้ง 2 ฝ่าย

“ซอฟต์พาวเวอร์” พลานุภาพสูง

พร้อมทั้งมองว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” มีส่วนสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมให้ก้าวสู่การท่องเที่ยวที่สร้างมูลค่าและความยั่งยืน เป็นตัวกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย เช่น มาชิมอาหาร เที่ยวตามรอยซีรีส์วาย ฯลฯ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีพลานุภาพอย่างสูง

จากข้อมูลของ Global Soft Power Index 2022 จัดทำโดย Brand Finance ระบุว่า 5 อันดับประเทศแรกของโลกที่ใช้ประโยชน์จากซอฟต์พาวเวอร์ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี จีน ญี่ปุ่น ตามลำดับ

ขณะที่ประเทศไทยใช้ประโยชน์จากซอฟต์พาวเวอร์อยู่ในลำดับที่ 35 ของโลก สะท้อนว่าประเทศไทยต้องขับเคลื่อนด้านซอฟต์พาวเวอร์มากขึ้นจากเดิม

มุ่ง “อัตลักษณ์” ท้องถิ่น

ด้าน “ผศ.ดร.พันธุมดี เกตะวันดี” รองผู้อำนวยการหลักสูตรการจัดการทางวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า กลยุทธ์การผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องวางแผนโดยใช้ทุนทรัพย์จำนวนมากเป็นที่ตั้ง แต่สามารถใช้เอกลักษณ์ท้องถิ่นนำเสนอผ่านผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวของตนได้

นอกจากนี้ ยังสามารถออกแบบการนำเสนอผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวให้แตกต่างจากเดิม พร้อมคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้น ๆ ไม่สอดแทรกเนื้อหามากเกินไป หรือทำให้กลุ่มเป้าหมายรู้สึกว่าผลิตภัณฑ์ถูกปรุงแต่งมากจนเกินไป

ขณะที่ “ดร.ไพบูลย์ ปีตะเสน” ประธานศูนย์เกาหลีศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า จากกรณีศึกษาการเกิดขึ้นของซอฟต์พาวเวอร์จากประเทศเกาหลีใต้ พบว่าเกาหลีใต้ต้องการใช้ซอฟต์พาวเวอร์ของตนแข่งขันกับประเทศมหาอำนาจรอบข้าง เช่น ญี่ปุ่น จีน

การเกิดขึ้นของซอฟต์พาวเวอร์ของเกาหลีใต้จึงเกิดขึ้นด้วยความร่วมมือของภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคเอกชน

สำหรับประเทศไทยแม้จะมีข้อจำกัดด้านวัฒธรรมบางประการที่แตกต่างจากประเทศเกาหลีใต้ แต่ประเทศไทยยังมีข้อได้เปรียบที่ไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม มีความหลากหลายในตนเอง

กุญแจสำคัญต่อไปคือ ทำอย่างไรให้คนไทยมีความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของเราเอง ขณะเดียวกัน ภาครัฐควรเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการ ในการวางแผนด้านการสื่อสาร กำหนดกรอบการทำงานระยะยาว และสร้างสรรค์เนื้อหาให้แก่ชาวต่างชาติรู้จักประเทศไทยมากขึ้น

ใช้ “ออนไลน์-อินฟลูฯ” บอกต่อ

สอดคล้องกับ “ภัทรพงศ์ วงศ์เที่ยง” ผู้ร่วมก่อตั้งเพจ OKWeGo ที่ระบุว่า ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยไม่ได้ถูกจำกัดภายใต้กรอบแนวคิดแบบเดิมเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วสามารถตีความได้อย่างหลากหลาย อาจเป็นแหล่งท่องเที่ยว อาหารการกินที่วัยรุ่นในประเทศไทยใช้ชีวิต

ในฐานะที่ตนเป็นผู้ผลิตเนื้อหาผ่านช่องทางออนไลน์ และมีรายการที่ต้องออกเดินทางท่องเที่ยว พบว่าประเทศไทยมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ มีความสวยงามอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ยังขาดการโปรโมตอย่างเหมาะสม

จึงเสนอว่าผู้ประกอบการการท่องเที่ยวที่สนใจนำเสนอผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวของตนเอง สามารถใช้แพลตฟอร์มอันเป็นที่นิยมอย่างติ๊กต๊อก (TikTok) หรืออาจใช้อินฟลูเอนเซอร์ เพื่อสร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวที่มีอยู่ได้

แนะหนุนซอฟต์พาวเวอร์จริงจัง

“บรรจง ปิสัญธนะกูล” โปรดิวเซอร์และผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยบอกว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยอาจไม่ได้แข็งแกร่งนักเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมเดียวกันในประเทศเกาหลีใต้ แต่ตนเชื่อว่าการนำเสนอ “ซอฟต์พาวเวอร์” ของประเทศไทยสามารถสื่อสารได้หลากหลายรูปแบบ หลากหลายประเภท แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสร้างสรรค์เนื้อหาให้ตรงใจกับผู้ชม

การสร้างสรรค์เนื้อหาในแง่มุมของภาพยนตร์นั้น สิ่งที่สำคัญคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้คนดูรู้สึกแนบเนียนที่สุด ดูแล้วต้องไม่รู้สึกว่าองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ปรากฏไม่โจ่งแจ้งเกินไป เพราะหากการนำเสนอไม่แนบเนียนผู้ชมอาจมีท่าทีเชิงลบได้

“ในต่างประเทศแต่ละเมืองจะมีแหล่งงบประมาณสนับสนุนการถ่ายทำภาพยนตร์ให้ผู้สร้างภาพยนตร์ เมื่อผู้ชมได้ชมผลงานที่สร้างขึ้นอยากเดินทางไปตามรอยภาพยนตร์”

จึงมองว่ารัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับกระแสแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้น รัฐต้องเข้ามาสนับสนุนการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์อย่างต่อเนื่องและจริงจัง พร้อมทั้งให้อิสระในการสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อให้ผู้ผลิตชาวไทยมีศักยภาพในการแข่งขันบนเวทีนานาชาติ

“เรามีโมเดลการสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ให้ศึกษามากมาย เช่น การให้เงินทุน การให้อิสระในการสร้างสรรค์ ฯลฯ เช่น ประเทศเกาหลีใต้ที่เขาเก่งขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเนื้อหาเขาโดนใจ ทุนสร้างก็มากขึ้น ค่าตัวมากขึ้น แต่ของไทยตลาดบีบมาก ๆ”

พร้อมย้ำว่า นโยบายในการผลักดัน “ซอฟต์พาวเวอร์” ให้ประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน พร้อมกับสร้างสรรค์เนื้อหาให้แข็งแรง เพราะประเทศไทยเรามีของดีเยอะมากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว