โนสน-โนแคร์ “โกจง-ชำนาญ ศรีสวัสดิ์” ขอเดินหน้าทำงานต่ออีก 1 ปี 6 เดือน

ชำนาญ ศรีสวัสดิ์
ชำนาญ ศรีสวัสดิ์

จากประเด็นการยกทีมลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) หรือสภาท่องเที่ยว ของ 7 สมาคมท่องเที่ยวรายใหญ่ แล้วรวมตัวกันก่อตั้ง “สมาพันธ์สมาคมท่องเที่ยว” หรือ FETTA

“โกจง-ชำนาญ ศรีสวัสดิ์” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ส่วนตัวไม่สามารถตอบได้ว่าเหตุผลของการลาออกจากสภาท่องเที่ยวของ 7 สมาคมดังกล่าวคืออะไร เพราะไม่รู้จริง ๆ ใครอยากรู้ต้องไปถามนายกสมาคมทั้ง 7 สมาคมเอาเอง

แต่ยืนยันว่า สทท.จะยังคงเป็น “ร่มใหญ่” ที่จะต้องดูแลผู้ประกอบการและองค์กรผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวทุกคน ไม่ว่าจะเป็นรายเล็กหรือรายใหญ่ จะให้ความสำคัญทั้งหมด

เรียกว่า ฟังทุกคน และร่วมผลักดันนโยบายให้เกิดขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน

“ที่ผ่านมาสภาท่องเที่ยวก็ได้ขับเคลื่อนไปแล้วหลายประเด็น ยกตัวอย่าง เช่น ไปให้ข้อมูลกับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าที่ผ่านมา 3 ปีมัคคุเทศก์ไม่มีงาน ไม่มีรายได้ ขอต่อบัตรไกด์ฟรี รัฐบาลก็ให้มา หรือประเด็นการปลดล็อกโรงแรมขนาดเล็ก ซึ่งรัฐบาลก็ให้มาเหมือนกัน อันนี้คือหน้าที่เรา”

และบอกว่า ปัจจุบันสภาท่องเที่ยวดูแลสมาชิกกว่า 180 สมาคม หากนับจำนวนสมาชิกรวมกันก็น่าจะมีมากกว่า 1 แสนราย กระจายอยู่ทุกภาคของประเทศ ดูแลแรงงานในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรวมไม่ต่ำกว่า 4.5 ล้านคน

“อันนี้คือมิชชั่นหลักของเรา ส่วนกรณีที่มีสมาคมใหญ่ลาออกนั้น เราก็เสียดายนะครับ แต่ก็ต้องให้ความเคารพต่อความคิดเห็นซึ่งกันและกันของเขา และก็ขอให้พวกเขาโชคดี ประสบสำเร็จในการผลักดันนโยบาย และขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของไทย”

อย่างไรก็ตาม สภาท่องเที่ยวจะยินดีอย่างมากหากจะได้ร่วมทำงานกับสมาพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย หรือ เฟตต้า หรือสมาคมที่ลาออกไปแล้วจะกลับมาเป็นสมาชิก สทท.ใหม่อีกครั้ง

ต่อคำถามว่า ส่วนตัวมองว่าการที่ 7 สมาคมใหญ่ลาออกพร้อมกันนั้นกระทบกับภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของสภาท่องเที่ยวหรือไม่ “ชำนาญ” ยืนยันว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่กระทบต่อภาพลักษณ์สภาท่องเที่ยวแน่นอน

พร้อมให้ข้อมูลว่า ในความเป็นจริงนั้น คณะกรรมการชุดปัจจุบันในกลุ่ม 7 สมาคมนี้เป็นกรรมการ สทท.อยู่ 3 สมาคม คือ 1.สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว หรือ ATTA คือ คุณศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร 2.สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว หรือ TTAA คือ คุณเจริญ วังอนานนท์ และ 3.สมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย หรือ สปข. คือ ดร.วสุเชษฐ์ โสภณเสถียร

กรรมการ 3 คนจาก 3 สมาคมใหญ่นี้เข้าประชุมคณะกรรมการครั้งแรกครั้งเดียวหลังจากเลือกตั้ง หลังจากนั้นก็ไม่ได้ร่วมประชุมอีกเลย ไม่เคยให้ความร่วมมือ และไม่เคยเสนอความคิดเห็นอะไรผ่านที่ประชุมกรรมการเลย จะด้วยเหตุผลอะไรนั้น ตนไม่รู้จริง ๆ

“7 สมาคมนั้นเขาขอลาออกเอง ผมไม่ได้ไล่ออก และอยากบอกว่าเราเป็นสภา เราไม่สามารถดูแลแค่สมาคมใหญ่ได้ เราต้องดูแลผู้ประกอบการตัวเล็กตัวน้อยทั้งประเทศ”

“ชำนาญ” ย้ำด้วยว่า หลังจากนี้ตัวเองก็จะยังเดินหน้าทำงานต่อตามมิชชั่นของสภาท่องเที่ยวในกรอบเวลาที่เหลืออยู่ 1 ปี 6 เดือน ต่อไปให้ดีที่สุด โดยเฉพาะในเรื่องของการดูแลด้านซัพพลายไซด์

และยังเชื่อมั่นในกลยุทธ์ 4 เติม ได้แก่ 1.เติมทุน โดยเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนเพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินและโครงการต่าง ๆ ของรัฐ 2.เติมความรู้ ซึ่งจะมุ่งเน้นเรื่องการอัพสกิล-รีสกิลให้กับบุคลากรในภาคการท่องเที่ยว

3.เติมลูกค้า เพื่อให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียงพอที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการในฝั่งซัพพลายไซด์กลับมาฟื้นได้ และ 4.เติมนวัตกรรม โดยให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาสร้างโอกาสในการขายให้ผู้ประกอบการ

“ตอนนี้เราก็เริ่มแอ็กชั่นสู่ภาคปฏิบัติแล้ว เช่น ในแง่ของการเติมความรู้และเติมนวัตกรรม ตอนนี้เรามีโครงการ SMEs Restart ที่กำลังเดินสายอยู่ 10 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อสอนให้สมาชิกรู้เท่าทันเทคโนโลยี และสามารถประคองตัวอยู่ได้ในอนาคต”

นอกจากนั้นยังมุ่งการพัฒนาท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ ด้วยการ re-design สินค้าท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์อนาคต

พร้อมทิ้งท้ายว่า หน้าที่ของสภาท่องเที่ยวคือ เป็นตัวแทนภาคเอกชน และทำงานภายใต้พระราชบัญญัติ มีระเบียบปฏิบัติและมีข้อบังคับที่ชัดเจน ทุกเรื่อง ทุกประเด็น ตนไม่มีอำนาจตัดสินใจ แต่เรียกร้องแทนผู้ประกอบการทุกระดับ เพื่อประโยชน์ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยรวม