ททท.รุกยุทธศาสตร์เชิงลึก จุดติดเมืองรอง-กระจายรายได้

สัมภาษณ์

เข้าสู่กลางปี 2561 แม้เป็นช่วงนอกฤดูท่องเที่ยวของไทย แต่ภาพรวมของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังคงคึกคัก “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ถึงยุทธศาสตร์เชิงลึกการทำตลาดในครึ่งปีหลัง มีหลายประเด็นน่าสนใจ

มุ่งยุทธศาสตร์เชิงลึก

ภาพรวมจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยปีนี้ คาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 30 ล้านคน มีรายได้รวม 3 ล้านล้านบาท จากจำนวน 35.8 ล้านคน รายได้รวม 2.8 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมา ที่ไม่ตั้งเป้าจำนวน ส่วนหนึ่งมาจากข้อจำกัดของโครงสร้างพื้นฐานและขีดความสามารถด้านสนามบิน สถานที่ยอดนิยมซึ่งต้องเร่งจัดการให้เดินทางได้สะดวก

ที่สำคัญ จากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว 55 เมืองรอง ปัจจุบันประสบความสำเร็จ นักท่องเที่ยวเริ่มกระจายไปทุกภาค เช่น ภาคใต้ที่นครศรีธรรมราชคึกคักขึ้นมาก ภาคอีสาน ทั้งบุรีรัมย์ สุรินทร์ อุดรธานี เพิ่มขึ้นชัดเจน โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์มีนักท่องเที่ยวกระจายไปเมืองรองแล้วถึง 20% ตามแผน

อัดอีเวนต์ลงฐานราก

“ยุทธศักดิ์” บอกอีกว่า โจทย์ ททท.ปีนี้ คือการกระจายรายได้ท่องเที่ยวและสร้างอิมแพ็กต์ เพื่อให้รายได้ลงไปสู่ระดับชุมชนจริง ๆ ททท.จึงเตรียมจัดงานคอนซูเมอร์แฟร์ 2 งานใหม่ ได้แก่ 1.งานเทศกาลท่องเที่ยวชุมชนและเมืองรอง คาดว่าจะจัดสัปดาห์ที่ 3 เดือนกันยายนนี้ เบื้องต้น

จะจัดเหมือนเทศกาลเที่ยวเมืองไทย แต่จะโฟกัสชุมชนและเมืองรอง และ 2.เทศกาลสินค้า OTOP for Tourist ปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งเป็นช่วงฤดูการท่องเที่ยว โดยร่วมมือกับกรมพัฒนาชุมชนคัดสรรสินค้าโอท็อปสำหรับนักท่องเที่ยว

“เรารับนโยบายนี้มาจาก ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ว่าอยากให้สร้างโอกาสดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้าถึงสินค้าโอท็อป ถ้านักท่องเที่ยว 1 คนซื้อสินค้าโอท็อป 1 ชิ้น ปีหนึ่งมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 35-36 ล้านคน ก็ช่วยสร้างรายได้แก่ผู้ประกอบการในชุมชนได้มาก”

ส่วนแนวทางกระตุ้นการท่องเที่ยวนอกฤดูกาล (กรีนซีซั่น) ยังทำต่อเนื่อง เช่น โครงการอร่อยทุกไร่ ชิมไปทุกสวน, โครงการวันธรรมดาน่าเที่ยว, โครงการช้อปปิ้งแอนด์ไดนิ่ง (ชื่อเดิมไทยแลนด์ แกรนด์ เซล) เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม เป็นต้น

ทั้งปีบรรยากาศไร้ปัจจัยลบ

ต่อคำถามที่ว่า ช่วงครึ่งปีหลังประเมินว่า จะมีปัจจัยอะไรน่าวิตก “ยุทธศักดิ์” มองว่า สถานการณ์ท่องเที่ยว ณ เวลานี้ดีมาก ไม่มีปัจจัยน่าห่วง ทั้งค่าเงินผันผวน เพราะการท่องเที่ยว

เป็นสินค้าที่มีความยืดหยุ่นต่ำ ทุกอย่างเป็นเรื่องของความต้องการและอารมณ์ ส่วนประเด็นราคาน้ำมันที่เคยกังวลว่าราคาน้ำมันโลกจะดีดกลับจาก 60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเป็น 70 เหรียญนั้น ตอนนี้เริ่มคงที่ และผู้เล่นในฝั่งซัพพลายเชนก็มีจำนวนมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือก

หนุน “ควอลิตี้เดสติเนชั่น”

สิ่งที่ ททท.มุ่งกระตุ้นให้เกิดการเดินทางจริงตามแคมเปญ Open to the New Shades จากสินค้าท่องเที่ยวหลากหลาย พวกอาหารถิ่น การท่องเที่ยวในชุมชน การรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แค่สร้างการรับรู้เท่านั้น แต่ผลักดันให้ไทยเป็น “ควอลิตี้เลเชอร์เดสติเนชั่น”

การกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายมากขึ้นนั้น ททท.มองโจทย์เป็นเรื่องของคุณภาพในเชิงสิ่งแวดล้อมด้วย โดยวันที่ 15 มิถุนายนนี้ จะเปิดตัวโครงการ “ลดโลกเลอะ” รณรงค์ให้นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการลดใช้พลาสติก 50% ภายในปี 2563 และอาจใช้รูปแบบการให้อินเซนทีฟกระตุ้นให้เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลาสติกและไม่ผลิตขยะเพิ่ม

พร้อมสร้างภาพลักษณ์ประเทศไทยใหม่ สร้างนักท่องเที่ยวพันธุ์ใหม่ (less waste traveler) ให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเป็น less waste industry หลังจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยด้านความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมอยู่ในอันดับที่น่าตกใจ เราอยู่ในอันดับที่ 122 จาก 136 ประเทศ

เพิ่มบทบาทด้านซัพพลายไซด์

ล่าสุด ททท.เตรียมทำแผนกลยุทธ์ปี 2562 ในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยเน้นทิศทางการทำตลาดทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติและไทยเที่ยวไทยต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน วิถีถิ่น และสิ่งแวดล้อม โดย ททท.ต้องเพิ่มบทบาทด้านซัพพลายไซด์มากขึ้น ตามนโยบายของ “วีระศักดิ์ โควสุรัตน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ

แนวทางจะมุ่งเน้นโครงการขนาดใหญ่ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลและคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ททช.) โครงการไทยแลนด์ ริเวียร่า หรืออื่น ๆ ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการพัฒนาให้สอดคล้องกับการสร้างแม่เหล็กทางการท่องเที่ยวระดับโลก

ทั้งนี้ ททท.พร้อมเข้าไปพัฒนาในแง่ซัพพลายไซด์ ตั้งแต่ขั้นตอนออกแบบแผนงาน ระบบนิเวศด้านการท่องเที่ยว การชี้เป้าชี้แนะให้เป็นแม่เหล็กโลกตามยุทธศาสตร์ 20 ปี

ฉลุยจีนพุ่งล้านคน/เดือน

สำหรับภาพรวมท่องเที่ยวไทยช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมานั้น “ยุทธศักดิ์” บอกว่าเป็นไปตามเป้าหมาย ดูสถิติวันที่ 1 มกราคม-16 พฤษภาคม พบว่า มียอดนักท่องเที่ยวต่างชาติเติบโต 13.4% เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว หรือเพิ่มจาก 13.3 ล้านคน เป็น 15.1 ล้านคนในจำนวนนี้นักท่องเที่ยวจีนยังครองสัดส่วนเป็นอันดับ 1 อย่างเหนียวแน่น ในช่วงเวลานี้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มพรวดจาก 3.5 ล้านคนเป็น 4.6 ล้านคน หรือโตมากกว่า 30% ซึ่งตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา มีนักท่องเที่ยวจีนมาไทยเกิน 1 ล้านคนทุก ๆ เดือน (มกราคม-เมษายน) โดยเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์ที่ตรงกับเทศกาลตรุษจีนมีมากถึง 1.2 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 50% สะท้อนให้เห็นว่า ผลกระทบปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญได้หมดไปแล้ว แนวโน้มตลาดจีนจะมีนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (เอฟไอที) เพิ่มขึ้น และกระจายตัวเดินทางเข้าสู่เมืองรองมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ขณะที่นักท่องเที่ยวฝั่งยุโรป คาดว่าช่วงครึ่งปีแรกได้รับผลกระทบบ้างจากมหกรรมฟุตบอลโลก ที่จะจัดขึ้นที่รัสเซีย วันที่ 14 มิถุนายน-15 กรกฎาคมนี้ ทำให้นักท่องเที่ยวยุโรปเลือกเดินทางภายในยุโรป อีกส่วนหนึ่งไปชมฟุตบอลที่ประเทศรัสเซีย

นอกจากนี้ สถานการณ์ภายในประเทศอียิปต์และตุรกีก็ผ่อนคลายลง ทำให้นักท่องเที่ยวยุโรปที่นิยมจุดหมายใกล้และค่าใช้จ่ายถูกเลือกเดินทางไปเที่ยว 2 ประเทศนี้มากขึ้น ทางสำนักงาน ททท.ในยุโรปจึงเริ่มเจาะแบ่งกลุ่มลูกค้าให้ชัดเจนขึ้น เพื่อรับมือการแข่งขันที่กำลังเกิดขึ้น แต่เชื่อมั่นได้ว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยปีนี้เป็นไปตามเป้าทั้งจำนวนและรายได้

แต่ประเด็นที่เป็นโจทย์สำคัญในเวลานี้คือ ต้องทำให้เกิดอิมแพ็กต์เรื่องการกระจายรายได้ไปยังระดับฐานรากให้เร็วที่สุด