“แอร์บีแอนด์บี” เปลี่ยนโฉม รูปแบบการจอง “ที่พัก” นักท่องเที่ยว

ปัจจุบันภาคการท่องเที่ยวสำคัญขนาดไหนสำหรับเศรษฐกิจโลกและไทย สะท้อนได้อย่างชัดเจนจากตัวเลขรายได้ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ที่มีสัดส่วนมากถึง 10% ของจีดีพีโลกแล้ว ขณะที่ประเทศไทยมีสัดส่วนมากถึง 20% ของจีดีพีประเทศ

“มิช โคห์” หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอร์บีแอนด์บี ให้ข้อมูลว่า แม้การท่องเที่ยวจะทำให้เศรษฐกิจเติบโต แต่ต้องยอมรับว่ายังเป็น “ดาบสองคม” หากมีปริมาณการท่องเที่ยวที่มากเกินไป

“แอร์บีแอนด์บี” จึงได้รวบรวมข้อมูลจากจุดหมายหลัก 8 เมืองทั่วโลก ทั้งอัมสเตอร์ดัม, บาร์เซโลนา, เวนิซ, มายอร์กา, บาหลี, เกียวโต, ควีนส์ทาวน์ และกรุงเทพฯ พบว่า ในจุดหมายปลายทางหลักดังกล่าวนี้ “แอร์บีแอนด์บี” ได้เข้าไปเปลี่ยนปรากฏการณ์สำคัญถึง 4 ด้านหลัก ๆ

ประกอบด้วย 1.เปลี่ยนแปลงวิธีการเดินทางของผู้คน เพราะกว่า 79% ของผู้เข้าพักระบุว่า ต้องการที่จะพักอาศัยแบบคนท้องถิ่น, ผู้เข้าพักกว่า 75% ต้องการเดินทางเยือนย่านใดย่านหนึ่งโดยเฉพาะ และกว่า 49% ของผู้เข้าพักระบุว่าต้องการพบปะกับผู้คนใหม่ ๆ ทั้ง 3 เหตุผลนี้คือปัจจัยสำคัญที่ให้พวกเขาเลือกจองที่พักผ่านช่องทางของ “แอร์บีแอนด์บี”

2.เปลี่ยนแปลงสถานที่ในการเดินทางของผู้คน โดยในแต่ละกรณีศึกษาทั้ง 8 แห่ง ผู้เข้าพักอย่างน้อย 2 ใน 3 เดินทางเยือนจุดหมายที่อยู่นอกเหนือจากแหล่งท่องเที่ยวทั่วไป 3.เปลี่ยนแปลงบุคคลที่ได้รับประโยชน์จากการเดินทาง เจ้าของที่พักแอร์บีแอนด์บีได้รับรายได้สูงสุด 97% จากราคาที่พวกเขากำหนด แอร์บีแอนด์บีรับที่เหลืออีก 3%

โดยจากมุมมองของนักเดินทางระบุว่า ในทุก 1 ดอลลาร์สหรัฐ 13 เซนต์ จะเป็นของแอร์บีแอนด์บี ขณะที่ 87 เซนต์ จะเป็นของเจ้าของที่พักโดยตรง โดยในจำนวนนี้เจ้าของที่พักจะมีค่าใช้จ่ายด้านชำระค่าทำความสะอาด 9 เซนต์ ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและค่าเช่าหรือค่าสินเชื่อที่อยู่อาศัย 35 เซนต์ ปรับปรุงและฟื้นฟูที่พักอาศัย 13 เซนต์ เก็บเพื่อออม 5 เซนต์ ลงทุนด้านการศึกษา

2 เซนต์ ดูแลสุขภาพ 1 เซนต์ อีกกว่า 1 เซนต์โดยเฉลี่ยถูกใช้สำหรับการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ของเจ้าของที่พัก และอีก 21 เซนต์ที่เหลือถูกใช้สำหรับสินค้าอื่น ๆ และการพักผ่อนท่องเที่ยวและ 4.การเดินทางของลูกค้าแอร์บีแอนด์บีขับเคลื่อนโดยเจ้าของที่พัก เพราะจากข้อมูลที่เก็บรวบรวมมา ระบุว่า 99% ของเจ้าของที่พักแนะนำข้อมูลท้องถิ่นให้แก่ผู้เข้าพัก, 78% แนะนำกิจกรรมเชิงวัฒนธรรม, 89% แนะนำร้านอาหารและคาเฟ่, 50% แนะนำทั้งหมดโดยเจ้าของที่พัก

“มิช” เล่าเพิ่มเติมว่า สำหรับกรณีศึกษาในกรุงเทพฯ ถือเป็นเมืองที่มีความสง่างามและยุ่งเหยิง ผสมผสานความเป็นเมืองใหญ่และชนบทเข้าไว้ด้วยกัน จึงดึงดูดให้นักเดินทางมาเยือนเมืองแห่งนี้ด้วยความอิ่มเอมของอาหารการกิน วิถีชีวิตยามค่ำคืนที่น่าตื่นตาตื่นใจ ความสับสนอลหม่านของตลาด ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

โดยแอร์บีแอนด์บีพบว่าในปี 2560 ที่ผ่านมา จำนวนผู้เข้าพักค้างคืนต่อ 1 ที่พักอยู่ที่ 2.8 คน ค่าเฉลี่ยจำนวนผู้เข้าพักที่จองคือ 2.5 คน ค่าเฉลี่ยจำนวนผู้เข้าพักที่จองในแอร์บีแอนด์บีคือ 2.5 คน ค่าเฉลี่ยระยะเวลาของการเดินทางคือ 4.3 คืน และเรตติ้งเฉลี่ยที่ประเมินโดยผู้เข้าพักคือ 4.9 คะแนนจากเต็ม 5 คะแนน

และในปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวมากกว่า 150 ประเทศเดินทางเข้าพักในกรุงเทพฯ โดยในแง่ของค่าใช้จ่าย พบว่ากว่า 1.7 พันล้านบาทเป็นค่าใช้จ่ายของผู้เข้าพักในร้านอาหาร ด้านค่าใช้จ่ายในร้านค้าสะดวกซื้อ 800 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการช็อปปิ้ง 1.4 พันล้านล้านบาท ค่าใช้จ่ายด้านกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมอยู่ที่ 710 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจคือ 790 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในด้านการเดินทางในท้องถิ่นอยู่ที่ 800 ล้านบาท

ทั้งนี้ เชื่อว่าโมเดลของ “แอร์บีแอนด์บี” ยังสร้างความเชื่อมั่นว่าการใช้จ่ายด้านที่พักจะให้ประโยชน์แก่เศรษฐกิจท้องถิ่น เมื่อเจ้าของที่พักใช้จ่ายรายได้ในชุมชน โดยรายได้ที่เจ้าของที่พักนำมาใช้จ่ายในการปรับปรุงที่พักคือ 100 ล้านบาท ขณะที่รายได้ที่เจ้าของที่พักนำมาใช้จ่ายในการเริ่มต้นธุรกิจใหม่คือ 75 ล้านบาท และเจ้าของที่พักกว่า 2,000 ราย ใช้รายได้จากแอร์บีแอนด์บีในการพักอาศัยในบ้านของตนเองและด้วยการมีเจ้าของที่พักในท้องถิ่น ผู้เข้าพักกับ “แอร์บีแอนด์บี” ได้กระจายการเดินทางไปในหลายพื้นที่อย่างทั่วถึง และไม่จำกัดเฉพาะในพื้นที่แหล่ง

ท่องเที่ยวที่จำเจเท่านั้น !