“อพท.”ปลุกรายได้ชุมชน เฟ้นเส้นทางเที่ยวเชื่อมโยงเพื่อนบ้าน ดัน”สุโขทัย”ฮับ “มรดกโลกอาเซียน”

“การท่องเที่ยวชุมชน” กลายเป็นหนึ่งในโจทย์สำคัญของภาคการท่องเที่ยวไทย ที่ต้องการกระตุ้นเม็ดเงินให้สะพัดไกลไปถึงระดับฐานรากโดยตรง ตามนโยบายของรัฐบาลชุดนี้

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสร่วมสัมภาษณ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เกี่ยวกับแนวทางการปั้นรายได้ชุมชนอย่างยั่งยืน ในฐานะที่เป็นหน่วยงานสร้างความแข็งแกร่งให้ชุมชนและสร้างรายได้จากภาคการท่องเที่ยวให้ลงสู่ชุมชนอย่างแท้จริง

“พันเอกนาฬิกอติภัค” เล่าว่า ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ได้มอบนโยบายให้สำนักงานพื้นที่พิเศษศึกษาและพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยง เพื่อให้เกิดเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ ๆ ที่ตอบสนองนโยบายการเปิดเสรีอาเซียน

หลักการเลือกพื้นที่เพื่อพัฒนาเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างประเทศ โดยดูจากหลายปัจจัย เช่น วิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณี ประวัติศาสตร์ ภูมิประเทศ และลักษณะการเชื่อมโยงนั้นจะแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ เชื่อมโยงกันทางกายภาพที่มีพรมแดนติดต่อกัน และเชื่อมโยงทางประเพณีวัฒนธรรม โบราณสถานที่สอดคล้องกัน รูปแบบการดำเนินงานภายหลังศึกษาความเป็นไปได้ และเห็นศักยภาพของพื้นที่

โดย อพท.ได้ใช้หลักการบูรณาการทำงานร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรูปแบบการลงนามข้อตกลงร่วมกัน ในระดับเมือง ระดับจังหวัด ระดับแขวง เป็นต้น

“เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาเส้นทาง เพื่อให้ชุมชนที่อยู่สองฝั่งเส้นทางได้รับการพัฒนาเป็นการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและนักเดินทาง เช่น กิจกรรมการท่องเที่ยว พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว พัฒนาสินค้า และของที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยว”

สำหรับโครงการที่ อพท.ได้เริ่มทยอยศึกษาและพัฒนาแล้ว “พันเอกนาฬิกอติภัค” บอกว่า จะกระจายอยู่ใน 6 พื้นที่พิเศษ ได้แก่ 1.พื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้าง และพื้นที่เชื่อมโยง พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยง ตราด-เกาะกง 2.พื้นที่พิเศษเมืองพัทยา และพื้นที่เชื่อมโยง พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเรือยอชต์เชื่อมเส้นทางพัทยา-เกาะช้าง-เกาะกง

3.พื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเมืองมรดกโลกอาเซียน 4.พื้นที่พิเศษเลย พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวสี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้าง เชื่อมเส้นทางเลย-ไซยะบุรี-หลวงพระบาง-เวียงจันทน์

5.พื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมดินแดนล้านนาตะวันออก ไทย-ลาว และ 6.พื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงวิถีชีวิต อู่ทอง-มะริด-ทวาย-กุยบุรี และเส้นทางท่องเที่ยวเมืองโบราณสถาน อู่ทอง-นครวัด-นครธม-บายอน-ตาพรหม-บันทายศรี ยกตัวอย่างเช่น เมืองพัทยา ถือเป็นจุดหมายที่โดดเด่นเรื่องกิจกรรมท่องเที่ยวทางน้ำอยู่แล้ว อพท.จึงพัฒนาเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเรือยอชต์ รองรับนักท่องเที่ยวระดับสูงเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่พิเศษต่อขยายไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน คือ เกาะกง ประเทศกัมพูชา

ขณะที่เมืองโบราณอู่ทอง กรณีการเชื่อมเส้นทางมะริด และทวาย เป็นการเชื่อมโยงทางกายภาพ และวิถีชีวิต ส่วนการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับประเทศกัมพูชานั้น เพราะเป็นเมืองที่มีโบราณสถานที่เป็นประวัติศาสตร์ยาวนานคล้ายกัน

จากการลงพื้นที่และเริ่มพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชื่อมโยงไปบ้างแล้วในหลายพื้นที่ เห็นได้ชัดเจนคือ ชุมชนเกิดการตื่นตัวที่จะพัฒนาตัวเอง เพื่อรองรับการมาเยือนของนักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวมีกิจกรรมการท่องเที่ยวที่หลากหลาย เกิดการใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้น และเพิ่มวันพักอีกอย่างน้อย 1 คืน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยว พร้อมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และสร้างความเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยวภายในกลุ่มประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกัมพูชา-ลาว-เมียนมา-เวียดนาม-ไทย (CLMVT)เพื่อยกระดับและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของอาเซียนร่วมกัน ภายใต้แนวคิด “หนึ่งจุดหมายปลายทาง” (One Destination)

“การทำงานภายใต้นโยบาย หนึ่งจุดหมายปลายทาง จะมุ่งเน้นการผูกโยงประเพณี วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ด้วยการพัฒนาให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มอาเซียน โดยใช้รูปแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้เป็นจุดขายสำคัญ หวังดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวชุมชนไทย เช่น ที่หลวงพระบางพบว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปจำนวนมาก เราจึงอยากดึงให้มาเที่ยวเชียงคานมากขึ้นด้วย”

“พันเอกนาฬิกอติภัค” ย้ำด้วยว่า ท่องเที่ยวต้องเป็นเครื่องมือรับใช้ชุมชนในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยกิจกรรมของ อพท. จะเน้นที่ “กิจกรรมทางการท่องเที่ยว” (Activity Base) มากกว่าการโปรโมตแหล่งท่องเที่ยว (Attraction Base) เพราะถือว่าการพัฒนากิจกรรมทางการท่องเที่ยวจะช่วยสร้างรายได้โดยตรงถึงชุมชนเลย โดยจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยภายในงานท่องเที่ยวชุมชน ไปกับคน อพท. ประจำปี 2560 ที่งานคอนซูเมอร์แฟร์ด้านท่องเที่ยว “เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลก” ครั้งที่ 21 เมื่อวันที่ 10-13 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา อพท.ได้จัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการท่องเที่ยว จำนวน 30 ราย กับชุมชนกว่า 30 ชุมชนจากทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและชุมชนที่มีการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน มาต่อยอดความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างกัน

ทั้งนี้ เพื่อให้สอดรับกับนโยบายและแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ “CBT Thailand” นั่นเอง