เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม นายดำรงค์ ไวยคณี ประธานสหภาพรัฐวิสาหกิจการบินไทย (สร.กบท.) เปิดเผยถึงกรณีคณะนักบินต้องการนั่งชั้นเฟิร์สต์คลาสเพื่อเดินทางกลับไทย ทำให้ผู้โดยสารคนไทย 2 คน ต้องเสียสละที่นั่งให้ว่า หลังจากนี้จะมีการหารือกับฝ่ายบริหารของการบินไทย เพื่อวางแนวทางปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ เนื่องจากมีขนาดใหญ่โตเกินไป แต่เป็นลักษณะหัวใหญ่ หางลีบ ต้องทำการลดหน่วยงานที่ทำหน้าที่ทับซ้อนกัน ซึ่งมีหลายหน่วยงาน แต่ไม่ได้หมายรวมถึงการปรับลดพนักงาน ซึ่งต้องมาหารือร่วมกัน เพื่อลงรายละเอียดทั้งหมด ในส่วนของการปรับลดสิทธินักบิน เบื้องต้นคาดว่ายังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากสิทธิของพนักงานการบินไทยมีเหมือนกับสายการบินอื่น ไม่ได้มีสิทธิพิเศษมากอย่างที่หลายคนเข้าใจ ซึ่งมีบางส่วนได้น้อยกว่าสายการบินอื่นด้วยซ้ำ เรื่องการสิทธิตั๋วบินฟรี หรือการมีสิทธินั่งในชั้นเฟิร์สต์คลาส มองว่าเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่พนักงานที่ทำงานให้กับองค์กร เพื่อให้จงรักภักดีกับองค์กรนั้นๆ ซึ่งตั๋วบินฟรีที่ให้แก่พนักงานการบินไทย ต้องจองตั๋วเหมือนผู้โดยสารทั่วไป หากมีที่นั่งว่างก็ได้บิน แต่หากไม่มีก็ต้องรอไปก่อน ที่นั่งชั้นเฟิร์สต์คลาสของนักบินก็เช่นกัน หากไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ทำการขึ้นบิน ก็ต้องทำการจองที่นั่งเหมือนผู้โดยสารปกติ รวมถึงการต้องจ่ายค่าธรรมเนียม ค่าภาษีสนามบิน ไม่นับรวมตั๋วลดราคา 10-25% และพนักงานเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งหากมองภาพรวมแล้วพนักงานการบินไทยก็ไม่ได้สิทธิพิเศษมากมายเกินกว่าสายการบินอื่นเลย
ทั้งนี้ เบื้องต้นในวันนี้ได้มีการเรียกคณะนักบินและพนักงานภาคพื้นดินที่ซูริก เพื่อทำการสอบสวนถึงข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งต้องรอผลการสอบสวนก่อนว่าสาเหตุที่แท้จริงเกิดขึ้นจากสาเหตุใด โดยประเด็นที่สหภาพถามทางฝ่ายบริหารการบินไทย ก็เป็นเรื่องสาเหตุของการให้ผู้โดยสารบนเครื่องบินต้องรอนานถึง 2 ชั่วโมง ทำให้เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลต่อภาพลักษณ์ของการบินไทยเป็นอย่างยิ่ง ทำให้ต้องมีการประชุมหารือกับฝ่ายบริหารของการบินไทยต่อไป แต่เบื้องต้นต้องรอผลการสอบสวนสาเหตุข้อเท็จจริงออกมาก่อน ซึ่งประธานของการบินไทยได้กำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน ต้องทราบถึงสาเหตุและต้นตอของปัญหาดังกล่าว
นายดำรงค์ กล่าวว่า ตามระเบียบการบินไทยให้สิทธิที่นั่งนักบินชั้นเฟิร์สต์คลาสกับนักบินที่โดยสารเครื่องบินเดินทาง ไม่ได้ให้เฉพาะนักบินที่ต้องปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น ซึ่งหากนักบินต้องการเดินทางเป็นผู้โดยสารธรรมดาก็ต้องรอที่นั่งว่างจึงจะได้นั่ง แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากข้อมูลพบว่า ผู้โดยสารได้จองตั๋วผ่านอินเตอร์เน็ตมาแล้ว แต่มีคณะนักบินที่ต้องการเดินทางกลับไทย ซึ่งถือว่าอยู่ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่ใช่ทำหน้าที่เป็นนักบิน โดยหากเปรียบเทียบกับสายการบินอื่นทั่วโลกถือว่าทำเหมือนกันหมด เนื่องจากนักบินต้องได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ เพื่อเตรียมความพร้อมในการขึ้นบิน แต่ในกรณีนี้คณะนักบินเพียงเดินทางกลับเท่านั้น จึงไม่ต้องมีเวลาพักผ่อนมากเท่านักบินที่ต้องขึ้นบินเลย รวมถึงโดยปกติแล้วจะมีการให้เวลานักบินพักผ่อนก่อนขึ้นบินครั้งต่อไปเป็นเวลา 24 ชั่วโมงอีกด้วย
นายดำรงค์ กล่าวว่า จากการหารือกันในสหภาพฯ เบื้องต้นคาดว่าปัญหาดังกล่าวเกิดจากบุคคลในองค์กรซึ่งต้องหาทางแก้ไขอีกครั้ง ทั้งนี้ในสหภาพมีสมาชิกที่เป็นนักบินอยู่ประมาณ 200-300 คน ซึ่งก็มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการที่นักบินรักษาสิทธิขอตนเอง จนเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น แต่ก็ยังถือเป็นส่วนน้อยของจำนวนนักบิน 1,200 คน ที่อยู่ในการบินไทย โดยในขณะนี้ยังไม่มีการหารือเพื่อหามาตรการเยียวยาผู้โดยสารทั้ง 2 คน ที่ต้องเสียสละที่นั่งชั้นเฟิร์สต์คลาสให้กับคณะนักบิน เพื่อให้เครื่องบินสามารถขึ้นบินได้ แต่เบื้องต้นได้มีการดูแลผู้โดยสาร 2 คนในระหว่างการเดินทางกลับบนเครื่องบินเป็นพิเศษแล้ว ซึ่งหากจะมีการเยียวยาเพิ่มเติม คงต้องรอหารือร่วมกันอีกครั้ง
“เรื่องที่เกิดขึ้นถามว่านักบินสามารถทำได้ไหม ก็สามารถทำได้ เพราะเป็นสิทธิที่พึงมี แต่ในตอนนั้นควรทำหรือไม่ เพราะนักบินควรมีภาวะผู้นำมากกว่านี้ ควรต้องนึกถึงผู้โดยสารที่สร้างรายได้ให้กับองค์กรมากกว่าสิทธิของตนเอง ซึ่งข่าวนี้ไม่ได้ออกเฉพาะในไทยเท่านั้น แต่ในต่างประเทศก็เล่นข่าวนี้กัน ซึ่งถ้ามองเรื่องสิทธินักบินก็ทำได้ แต่ถามว่ามันต้องทำถึงขนาดนั้นเลยเหรอ เพราะถ้าเป็นตนเอง ตนเองจะยอมอ่อนให้ผู้โดยสาร เพราะอย่างที่บอกว่าผู้โดยสารซื้อตั๋วมาแล้ว เอาเงินให้องค์กรไปแล้ว และเงินที่ได้ก็กลับมาเป็นเงินเดือนของนักบินเอง” นายดำรงค์ กล่าว
ที่มา มติชนออนไลน์