ยื่นดิวตี้ฟรีสนามบินอู่ตะเภา7พ.ย. บิ๊กเนมแห่ซื้อซองประมูล เคาะTORสุวรรณภูมิสิ้นปี

ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาที่กองทัพเรือกำลังเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์

อู่ตะเภาคึก “คิง เพาเวอร์-เซ็นทรัล-เดอะมอลล์-บางกอกแอร์เวย์ส-ล็อตเต้-ไมเนอร์” แห่ซื้อซองดิวตี้ฟรี-ค้าปลีก ยื่น 7 พ.ย. แจกสัมปทาน 10 ปี ส่วน “เทอร์มินอลใหม่” ทอท.ไม่รอเดินหน้าประมูลดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิ ชงบอร์ดเคาะ ธ.ค.นี้

พลเรือตรี ลือชัย ศรีเอี่ยมกูล ผู้อำนวยการท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ระยอง-พัทยา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังกองทัพเรือประกาศขายทีโออาร์จัดหาเอกชนมาบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ในอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ พื้นที่ 2,000 ตร.ม. จำนวน 2 สัญญา 2 กิจกรรม ประกอบด้วย

7 พ.ย.ยื่นซองชิงดิวตี้ฟรี

1.พื้นที่สินค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) มีผู้ซื้อซอง 5 ราย คือ 1.บจ.คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี 2.บจ.เซ็นทรัล ดีเอฟเอส คอนซอร์เตี้ยม กิจการร่วมการงานระหว่างบริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด และดีเอฟเอส เวนเจอร์ สิงคโปร์ 3.บจ.ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี (ประเทศไทย) 4.บจ.บางกอกแอร์เวย์ส โฮลดิ้ง และ 5.บจ.สรรพสินค้าเซ็นทรัล

2.พื้นที่ร้านค้าปลีก มีผู้ซื้อซอง 7 ราย ได้แก่ 1.บจ.คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ 2.บจ.เซ็นทรัล ดีเอฟเอส คอนซอร์เตี้ยม กิจการร่วมการงานระหว่างบริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด และดีเอฟเอส เวนเจอร์ สิงคโปร์ 3.บจ.เดอะมอลล์ กรุ๊ป 4.บจ.ซีเลค เซอร์วิส พาร์ทเนอร์ 5.บจ.บางกอกแอร์เวย์ส โฮลดิ้ง 6.บจ.สรรพสินค้าเซ็นทรัล และ 7.บจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล

“จะเปิดยื่นซอง 7 พ.ย.นี้ คาดว่าสิ้นปีจะได้ผู้ชนะประมูล โดยใช้เวลา 2 เดือนปรับปรุงตกแต่งพื้นที่ พร้อมเปิดใช้อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ปีหน้าเดือน ม.ค.-ก.พ. รองรับผู้โดยสารต่อปีเฉลี่ย 2 ล้านเที่ยวคน”

แจกสัมปทาน 10 ปี

พลเรือตรีลือชัยกล่าวว่า โครงการนี้ประมูลแบบ PPP ให้สัมปทานสัญญาละ 10 ปี เอกชนจะเป็นผู้ลงทุนและจ่ายผลตอบแทนให้กองทัพเรือ ไม่ต่ำกว่า 12% ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายหรือรายได้ขั้นต่ำ (maximum guarantee) ที่ผู้ชนะจะเสนอรายได้ให้มากที่สุด เป็นโมเดลเดียวกับสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง ซึ่งกองทัพเรือไม่เคยให้สัมปทานเอกชนมาก่อน โครงการนี้เป็นโครงการแรก

“จะให้สัมปทานดิวตี้ฟรีเอกชนเพียงรายเดียว ในพื้นที่โซนระหว่างประเทศขาเข้าและขาออก ส่วนพื้นที่ค้าปลีกและบริการอื่น ๆ จะให้เอกชนรายเดียวเช่นกัน หรือเอกชนรายเดียวจะบริหารทั้ง 2 สัญญาก็ได้”

จุดพิกอัพรอปีหน้า

นอกจากนี้ ยังเตรียมเปิดให้บริการพื้นที่เคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าดิวตี้ฟรี (pick up counter) ในสนามบินอู่ตะเภาด้วย โดยกองทัพเรือจะดำเนินการเอง โดยลงทุนระบบซอฟต์แวร์ 10 ล้านบาท จากนั้นจะแชริ่งพื้นที่ให้ผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีมาใช้ แล้วเก็บค่าใช้บริการตามอัตราค่าเช่าพื้นที่และรายได้ที่ขายสินค้า คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในปี 2562

อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ มีพื้นที่ 22,000 ตร.ม. รองรับผู้โดยสาร 3-5 ล้านคนต่อปี คาดว่าอีก 1-2 ปีข้างหน้าจะเต็มขีดความสามารถ จากปัจจุบันมีผู้โดยสารใช้บริการ 35,000-40,000 คนต่อเดือน มีสายการบินของไทยและต่างประเทศใช้บริการ 16 สายการบิน อาทิ บางกอกแอร์เวย์ส, ไทยแอร์เอเชีย, ไทยไลอ้อนแอร์ และนกแอร์

ทอท.เคาะ TOR ธ.ค.

ด้านนายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) กล่าวว่า เดือน ธ.ค.นี้ ทอท.จะนำร่างทีโออาร์ประมูลดิวตี้ฟรีสนามบินสุวรรณภูมิให้คณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.อนุมัติ เพื่อเปิดประมูลสัญญาใหม่ ในพื้นที่อาคารผู้โดยสารที่คิง เพาเวอร์ บริหารอยู่ จะครบกำหนดสัญญาวันที่ 27 ก.ย. 2563 และอาคารเทียบเครื่องบินของหลังที่ 1 ที่กำลังก่อสร้าง สัมปทาน 10 ปี

ส่วนสัญญาประมูลจะเป็นสัญญาเดียวหรือแบ่งสัญญาตามพื้นที่ หรือหมวดหมู่สินค้า ต้องรอข้อสรุปจากบริษัทที่ปรึกษา ขณะที่จุดพิกอัพเคาน์เตอร์จะแยกประมูล เพื่อให้ทุกรายมีสิทธิ์เท่ากัน

อนุมัติ 5 โครงการอีอีซี 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร จ.เชียงราย วันที่ 30 ต.ค. 2561 อนุมัติ 5 โครงการ เป็นโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มูลค่า 652,559 ล้านบาท รวมรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะเปิดยื่นซอง 12 พ.ย.นี้ ส่วน 4 โครงการที่เหลือ มูลค่า 4.7 แสนล้านบาท เดือน พ.ย.จะเปิดขายซองประมูลให้เอกชนร่วมลงทุนรูปแบบ PPP net cost คาดว่าจะได้ผู้ลงทุนและเซ็นสัญญาทุกโครงการในเดือน ก.พ. 2562 ได้แก่ 1.การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา 290,000 ล้านบาท ใน 6 กิจกรรม มีอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ศูนย์ธุรกิจการค้า-การขนส่งภาคพื้น ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ระยะที่ 2 คาร์โก้ ศูนย์ธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์ และศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศ แล้วเสร็จปี 2566

2.ศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา 10,588 ล้านบาท แล้วเสร็จปี 2565 3.ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ลงทุน 114,047 ล้านบาท ประมูลโซน F ก่อน วงเงิน 84,361 ล้านบาท เปิดดำเนินการปี 2566 และ 4.ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ลงทุน 55,400 ล้านบาท ประมูลเฟสแรกโครงการท่าเรือก๊าซ 47,900 ล้านบาท จะเปิดดำเนินการได้ปี 2568

8 ชาติสนใจ

นายมนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวว่า ขณะนี้ทีโออาร์ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 พร้อมเปิดประมูลหลัง ครม.อนุมัติ เป็นโครงการแรกในพื้นที่โซน F วงเงิน 84,361 ล้านบาทกทท.จะลงทุนด้านงานโยธา 50,000 ล้านบาท เอกชนลงทุน 30,000 ล้านบาท สัมปทาน 35 ปี จากการเปิดรับฟังความเห็นมีนักลงทุนต่างชาติสนใจ 8 ประเทศ คือ จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง ยุโรป ดูไบ ญี่ปุ่น และอินเดีย