ถอดบทเรียน “ทัวร์จีน” โตก้าวกระโดด (แต่) ไร้ทิศทาง 

แฟ้มภาพ
เป็นที่แน่นอนแล้วว่าปีนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยก้าวผ่านหลัก 10 ล้านคนไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา ทำให้คาดการณ์ว่าตัวเลขรวมของนักท่องเที่ยวจีนปีนี้ น่าจะอยู่ที่ประมาณ 10.5 ล้านคนตามคาดการณ์ได้และหนุนให้ตัวเลขภาพรวมของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยปีนี้ทะลุ 38 ล้านคน และสร้างรายได้ที่ 2 ล้านล้านบาทได้ตามที่คาดการณ์ไว้ได้ด้วยเช่นกัน

ทัวร์จีนสะดุด-เอกชนหัวทิ่ม

แหล่งข่าวในธุรกิจท่องเที่ยวรายหนึ่งกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้ว่าตัวเลขรวมจะเป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดที่มีมาร์เก็ตแชร์อันดับ 1 ด้วยสัดส่วนประมาณ30% นั้นพบว่าปีนี้ ผู้ประกอบการทุกภาคส่วนบาดเจ็บกันระนาว โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็ก สายป่านสั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการคนไทย เนื่องจากต้องเผชิญกับภาวะ “วิกฤต” กันมายาวนานถึง 4-5 เดือนโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรม รถนำเที่ยว ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว (man made attraction) ร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก บริษัทนำเที่ยว รวมถึงสถานบันเทิงต่าง ๆ (โชว์) ที่จับตลาดนักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก ที่ประสบปัญหาอย่างหนักจากเกิดเหตุ “เรือล่ม” ที่จังหวัดภูเก็ต และมีจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาหมุนกระแสเงินสดไม่ทัน และรายได้ตกกันระนาว จนต้องดิ้นขอให้รัฐออกมาตรการด้านวีซ่าเข้ามาอุ้มกันอีกระลอก

10 ปีตลาดจีนโต 10 เท่าตัว

พร้อมทั้งวิเคราะห์ว่า ต้นเหตุของปัญหาทั้งหมดนี้ล้วนมีจุดเริ่มต้นจากอัตราการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนถึงกว่า 10 เท่าตัวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กล่าวคือ จากจำนวน7 แสนกว่าคนในปี 2552 เป็นจำนวนกว่า 10 ล้านคนในปี 2561 นี้โดยเฉพาะในช่วงตั้งแต่ปี 2555-2556 ที่โตจาก 2.78 ล้านคน เป็น 4.7 ล้านคน และปี 2558 ที่โตจากปี 2557 ถึงกว่า 70% คือ จากจำนวน 4.6 ล้านคน ในปี 2557เพิ่มเป็น 7.9 ล้านคน ในปี 2558 และเพิ่มเป็น 8.7 ล้านคน ในปี 2559 และ 9.8 ล้านคน ในปี 2560 ตามลำดับ

แห่ลงทุนซัพพลายรองรับ

“การขยายตัวอย่างก้าวกระโดดนี้ ทำให้ผู้ประกอบการด้านซัพพลายต่าง ๆ ทั้งโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร ร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก รถขนส่ง รวมถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต่างมองเห็นโอกาสและโหมลงทุนกันอย่างหนัก บางรายไม่มีเงินทุนก็ไปกู้แบงก์มา พอเกิดปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น นักท่องเที่ยวหยุดการเดินทาง ทุกส่วนล้มกันแบบไม่เป็นท่า”

พร้อมยกกรณีเกิดเหตุเรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวจีนชะลอการเดินทาง สายการบินหลายแห่งหยุดทำการบินทำเอาผู้ประกอบการ “ทัวร์จีน” เกิดภาวะช็อกทันที

ชี้การเติบโตไม่ควรเกินปีละ 10%

“สุรวัช อัครวรมาศ” อุปนายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ยอมรับว่า ปัญหาที่ผ่านมาของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย โดยเฉพาะตลาดจีนในช่วงที่ผ่านมานั้นเป็นผลจากการเติบโตแบบก้าวกระโดดติดต่อกันมาหลายปี นับตั้งแต่ปี 2555 ที่มีจำนวน 2.7 ล้านคน เป็น4.7 ล้านคน และเพิ่มเป็นเกือบ 8 ล้านคนในปี 2558 ล่าสุดเพิ่มมาเกือบ 10 ล้านคนในปี 2560 ที่ผ่านมา

“การเติบโตแบบนี้ถือว่าผิดปกติ และโตแบบก้าวกระโดด ข้ามขั้นตอน ข้ามสเต็ป และทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาผมเองทำบริษัททัวร์แต่การเติบโตอย่างรวดเร็วแบบนี้ ผมก็ไม่ได้โอเคเท่าไหร่ เพราะไกด์ก็หาไม่ได้ และต้องทำทัวร์ในราคาที่ตลาดกำหนดด้วย”

“สุรวัช” ย้ำว่า ธุรกิจการท่องเที่ยวนั้นไม่ควรขยับตัวเกินปีละ 10% หรือเฉลี่ยควรจะอยู่ในระดับ 5-10% น่าจะเหมาะสมและสอดรับกับการปรับตัวของตลาดอย่างมาก เพราะการท่องเที่ยวต้องแก้ปัญหาไปเรื่อย ๆ แล้วจะมีทางออกในการแก้ไขปัญหาเองที่สำคัญ ยังจะทำให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศเติบโตได้อย่างยั่งยืน และไม่เกิดปัญหา

วิกฤตรอบนี้คือ “บทเรียน”

เช่นเดียวกับ “ชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร”ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ที่ยอมรับว่า จำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตที่ก้าวกระโดดเร็วมาก ที่สำคัญ ยังโตแบบกระจุก ไม่กระจาย เน้นทำตลาดอยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยวไม่กี่แห่งทำให้บางพื้นที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากเกินศักยภาพในการรองรับ ซึ่งนำมาซึ่งปัญหาในหลาย ๆ ส่วน

“ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวที่เข้ามาส่วนใหญ่มาเป็นกลุ่มขนาดใหญ่และผ่านเอเย่นต์ เอเย่นต์ก็จะวางกฎ กติกา ไว้ในกรอบและวงจรธุรกิจของเขา ทำให้บริหารจัดการในภาพรวมลำบากไปด้วย และเมื่อนักท่องเที่ยวมากันแบบกระจุก ต่อให้หน่วยงานที่ดูแลบริหารจัดการดีแค่ไหนก็มีปัญหา”

“ชัยรัตน์” ย้ำว่า วิกฤต “ตลาดจีน” ที่เกิดขึ้นรอบนี้ต้องถือเป็น “บทเรียน” ที่ดีของกลุ่มผู้ประกอบการทุกภาคส่วนที่ทำธุรกิจแบบคิดแค่มุมเดียว มองแต่โอกาสและเร่งลงทุนรองรับ ไม่เผื่อวิกฤต เวลาเกิดปัญหา ตลาดชะลอตัว ทุกคนจึงต้องเจ็บหนักนิดหนึ่งดังนั้น นับจากนี้เป็นต้นไป สทท.ในฐานะตัวแทนภาคเอกชน จะหันมาให้ความสำคัญกับการให้ความรู้กับผู้ประกอบการให้มากขึ้นว่า นอกจากการวางแผนการลงทุนแล้ว ยังต้องคิดเผื่อว่าหากเกิดวิกฤตขึ้นจะรับมืออย่างไร และควรวางแผนกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจอย่างไร เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถอยู่รอดได้ในทุกวิกฤต และมองเห็น “โอกาส” ท่ามกลาง “วิกฤต” ในแต่ละเรื่องได้ด้วย

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!