มิชลิน ไกด์ปี 3 ปั้นเชียงใหม่ สู่เป้าหมาย Gastronomy Tourism

โครงการ Michelin Guide Thailand ความร่วมมือระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และมิชลิน ไกด์ ประเทศไทย ซึ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศไทยมาตั้งแต่ปลายปี 2560 ที่ผ่านมา

โดยเริ่มจากการเปิดตัว “มิชลิน ไกด์ กรุงเทพฯ” หรือ MICHELIN Guide Bangkok 2018 คู่มือแนะนำร้านอาหารระดับโลก ฉบับปฐมฤกษ์ของประเทศไทย และทำให้ไทยเป็นประเทศที่ 2 ในภูมิภาคเอเชียต่อจากสิงคโปร์ที่มีคู่มือ “มิชลิน ไกด์บุ๊ก”

โครงการดังกล่าว ททท.ได้ขออนุมัติงบฯจากรัฐบาลกว่า 140 ล้านบาท สำหรับดำเนินงานในระยะเวลา 5 ปี (2560-2564) เพื่อจัดทำ “มิชลิน ไกด์” แนะนำร้านอาหารในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายผลักดันให้ไทยเป็น “เมืองหลวงอาหารแห่งเอเชีย” หรือ gastronomy capital of Asia และใช้การท่องเที่ยวเชิงอาหาร หรือ gastronomy tourism เป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อน

“กฤษณะ แก้วธำรงค์” ผู้อำนวยการฝ่ายโฆษณาและประชาสัมพันธ์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้ข้อมูลว่า ปีแรกของโครงการมิชลินไกด์นั้น ได้เริ่มต้นที่กรุงเทพฯ คือ

“มิชลิน ไกด์ กรุงเทพฯ” ถัดมาปีที่ 2 หรือมิชลิน ไกด์ ฉบับปี 2562 ได้ขยายพื้นที่ไปที่จังหวัดภูเก็ตและพังงา ภายใต้ชื่อ “มิชลิน ไกด์ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต และพังงา”

ล่าสุด ททท.และมิชลิน ไกด์ ได้แถลงข่าวประกาศความพร้อมในการจัดทำคู่มือ “มิชลิน ไกด์” ฉบับปี 2563 ในประเทศไทย ซึ่งมีกำหนดเปิดตัวในช่วงปลายปีนี้ โดยรุกขยายขอบเขตการคัดสรรแนะนำร้านอาหารและที่พักไปยังจังหวัดเชียงใหม่ หรือ “มิชลิน ไกด์ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ภูเก็ต และพังงา” (The MICHELIN Guide Bangkok, Chiang Mai, Phuket & Phang-Nga 2020)

ทั้งนี้ เพื่อสะท้อนถึงเอกลักษณ์ที่แตกต่างหลากหลายของวัฒนธรรมอาหารใน 3 ภูมิภาคของไทย ทั้งภาคกลาง ภาคใต้ และภาคเหนือ

“กฤษณะ” บอกด้วยว่า จังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นจุดหมายปลายทางด้านอาหาร ทั้งอาหารพื้นเมืองและอาหารนานาชาติ อีกทั้งยังเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่สามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวได้อีกด้วย

ทั้งนี้ 2 ปีที่ได้ดำเนินโครงการแล้วนั้น พบว่าได้รับการตอบรับที่ดีมาก และเข้าถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกกว่า 260 ล้านคน และเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น และช่วยยกระดับอาหารไทยเข้าไปในระดับสากลด้วย

จึงมั่นใจว่าการขยายร้านอาหารมิชลินไปยังเชียงใหม่ในปีนี้จะช่วยทำให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นเดสติเนชั่นด้านอาหารของไทยสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อย่างชัดเจน ขณะเดียวกันเชียงใหม่ยังเป็นจังหวัดที่มีอาหารถิ่นที่สะท้อนความเป็นเอกลักษณ์และเป็นเสน่ห์ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเยือนได้อีกด้วย

“กฤษณะ” ยังบอกด้วยว่า สำหรับเนื้อหาของ “มิชลิน ไกด์” ฉบับปี 2563 นั้น

นอกเหนือจากจังหวัดที่มีอยู่เดิม คือ กรุงเทพฯ ภูเก็ต และพังงาแล้ว ยังรวมถึงเชียงใหม่ ซึ่งจะเป็นการช่วยสร้างความหลากหลายของอาหารไทยในแต่ละภูมิภาคที่มีความแตกต่างกันไปตามสภาพอากาศ ภูมิประเทศ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และการผสมผสานของเชื้อชาติต่าง ๆ และจะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารอย่างชัดเจนต่อไป

ด้าน “วิรุฬ พรรณเทวี” รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เสริมว่า ปัจจุบันเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีอาหารที่หลากหลาย และมีตั้งแต่ระดับหรูดูดีไปจนถึงสตรีตฟู้ด โดยเฉพาะอาหารพื้นเมืองที่เป็นเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ซึ่งที่ผ่านมาทางจังหวัดพยายามมุ่งเน้นในเรื่องของความสะอาด และความเหมาะสมด้านราคา ทำให้อาหารของเชียงใหม่มีความโดดเด่นอย่างชัดเจน

ที่สำคัญ จังหวัดเชียงใหม่ยังเป็นแหล่งวัตถุดิบด้านอาหารที่สดใหม่ โดยเฉพาะจากโครงการหลวงที่มีถึง 27 แห่งในเขตภาคเหนือตอนบน ร้านอาหารในจังหวัดเชียงใหม่จึงได้เปรียบในแง่การเข้าถึงวัตถุดิบที่สดใหม่ สามารถนำเสนออาหารเทรนด์สุขภาพได้อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ทางจังหวัดเชียงใหม่ก็มีแผนที่จะนำคู่มือ “มิชลิน ไกด์” ไปต่อยอดและส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารไว้แล้วเช่นกัน

และเชื่อว่าจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยสร้างกระแสให้เชียงใหม่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวในเชิงลึกมากขึ้น และกลายเป็นแม่เหล็กด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารของไทยต่อไปในอนาคต333333333