ติดสปีดครึ่งปีหลัง หนุนโมเมนตัม “ท่องเที่ยว” ปี’63

ปี2562 นับเป็นปีที่หนักหนาสาหัสสำหรับวงการธุรกิจท่องเที่ยว เพราะเป็นปีที่มีปัจจัยลบทั้งภายในและภายนอกประเทศรุมเร้าอย่างหนัก ททท.ในฐานะหน่วยงานทำการตลาดท่องเที่ยวของไทยจึงผลักดันแผนควิกวินในทุกตลาด เพื่อดึงนักท่องเที่ยวกลับมาในช่วงโค้งท้ายของปี พร้อมทั้งส่งแรงเหวี่ยงให้ปี 2563 เป็นปีที่ดีของการท่องเที่ยวไทยต่อไป

“ยุโรป” เผชิญศึกทุกด้าน

“ศรีสุดา วนภิญโญศักดิ์” รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บอกว่าปัจจุบันตลาดได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้หลายปัจจัย อาทิ ปัญหาเศรษฐกิจในภูมิภาคยุโรป, การออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ, การบอยคอตชาติอาหรับของสหรัฐ, สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ฯลฯ ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้แนวโน้มตลาดยุโรป ตะวันออกกลาง และอเมริกายังคงติดลบต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ททท.จะเร่งทำงานอย่างเต็มที่ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยจะมุ่งทำแคมเปญ quick win สร้างผลสำเร็จในเวลาอันสั้นด้วยการจับมือกับพันธมิตร อาทิ เอเย่นต์ท่องเที่ยวออนไลน์ (โอทีเอ), บริษัททัวร์ และสายการบิน ร่วมกันทำ joint promotion เพื่อให้ผู้ประกอบการสร้างแคมเปญออกไปกระตุ้นนักท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง โดยหวังว่าจะทำให้เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ในที่สุด

รุกเจาะหาลูกค้าใหม่

สำหรับแผนของปี 2563 นั้น “ศรีสุดา” บอกว่า ตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา จะเน้นการทำงานกับ “จุดอ่อน” หรือ pain point ที่ทำให้เกิดปัญหาการลดลงของนักท่องเที่ยว

ตัวอย่างเช่น “การขาดลูกค้าใหม่” ซึ่งจะแก้ปัญหาโดยการเข้าไปเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ที่มีศักยภาพในการท่องเที่ยว อาทิ กลุ่มมิลเลนเนียลในอเมริกา, กลุ่มประเทศใหม่ ๆ ในยุโรป, กลุ่มอาชีพใหม่ในตะวันออกกลาง รวมถึงกลุ่มที่แบ่งแยกตามพฤติกรรมการท่องเที่ยวอย่างกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มผู้ชอบท่องเที่ยวทางน้ำ เป็นต้น

ศรีสุดา วนภิญโญศักดิ์ – ฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา – กฤษฎา รัตนพฤกษ์

ลบภาพ Mass Tourism

นอกจากนี้ ยังมีแผนลบภาพลักษณ์ “mass tourism” และ “cheap destinations” ด้วยการนำเสนอแง่มุมและประสบการณ์ที่เปี่ยมด้วยสุนทรียภาพแบบไทยที่ไม่สามารถหาได้จากแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ พร้อมทั้งใช้กลยุทธ์ Hub & Hook ในการนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวเมืองรองเชื่อมโยงกับเมืองหลักที่ได้รับความนิยม พานักท่องเที่ยวออกไป go local มากยิ่งขึ้น โดยมีเมืองรองที่พร้อมจะเสนอขายแก่นักท่องเที่ยวแล้วทั้งสิ้น 12 เมือง

พร้อมทั้งผลักดันการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ เพื่อเปิดทางให้นักท่องเที่ยวที่มีจิตสำนึก (conscious travelers) เข้าถึงการท่องเที่ยวไทยได้ง่ายขึ้น พร้อมให้ความรู้แก่กลุ่มเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของไทย

ผนึกพันธมิตรดึง “เอฟไอที”

ด้าน “ฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา” รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ ททท. ยังเชื่อว่าตลอดทั้งปี 2562 นี้ ตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ยังมีจำนวนและรายได้สูงกว่าปี 2561 โดยในช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมาพบว่าตลาดญี่ปุ่น, เกาหลี, มาเลเซีย และอินเดียขยายตัวต่อเนื่องมาตลอด

สำหรับในปี 2563 นั้นจะมีการปรับแผนการตลาดตามพฤติกรรมนักท่องเที่ยวเนื่องจากขณะนี้จำนวนนักท่องเที่ยวด้วยตัวเอง (เอฟไอที) ในเอเชียมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่า 75% ของตลาด อาทิ จับมือกับเอเย่นต์ท่องเที่ยวออนไลน์ (โอทีเอ), ร้านอาหาร และห้างสรรพสินค้า

พร้อมทั้งผลักดันให้นักท่องเที่ยวจับจ่ายใช้สอยเร็วขึ้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวตลาดเอเชียมีวันพำนักที่สั้นลงเรื่อย ๆ

นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับตลาดไมซ์มากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยเสริมการทำงานของสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) และอำนวยความสะดวกให้การทำธุรกิจท่องเที่ยวไทยง่ายขึ้น

พยุง “อาเซียน” โต 10%

สำหรับตลาดในภูมิภาคอาเซียนนั้น “กฤษฎา รัตนพฤกษ์” ผู้อำนวยการภูมิภาคอาเซียน เอเชียใต้ และแปซิฟิกใต้ ระบุว่า ในช่วง 5 เดือนแรกที่ผ่านมา รายได้จากตลาดท่องเที่ยวอาเซียนเติบโต 7.8% เนื่องจากเศรษฐกิจในภูมิภาคเติบโต มีเพียงตลาดสิงคโปร์เท่านั้นที่ติดลบราว 3% โดยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 นี้ ททท.ตั้งเป้าออกมาตรการสนับสนุนตลาดอาเซียนเพื่อประคองการท่องเที่ยวทั้งภูมิภาคตลอดทั้งปีเติบโตราว 9.5% พร้อมทั้งคาดว่านักท่องเที่ยวในตลาดอาเซียนปีนี้จะทะลุ 11 ล้านคน

ส่วนปี 2563 นี้ ททท.มีแผนที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวทางบกในอาเซียนให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศลาว, กัมพูชา, เมียนมา, เวียดนาม และมาเลเซีย ผ่านการสนับสนุนการท่องเที่ยวชายแดนด้วยการทำโปรโมชั่นช็อปปิ้งชายแดนร่วมกับห้างร้านต่าง ๆ ในจังหวัดชายแดน อย่างเช่น ตาก อุดรธานี บุรีรัมย์ สุรินทร์ เป็นต้น

โดยคาดหวังว่าจากการผลักดันให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวทั้งทางบกและทางอากาศจะพยุงให้รายได้ทางการท่องเที่ยวเติบโตประมาณ 12% และคาดว่าตลาดที่จะเติบโตดีมากกว่า 10% ต่อปี

หวั่นจบฟรีวีโอเอ “อินเดีย” ซบ

ผู้อำนวยการภูมิภาคอาเซียน เอเชียใต้และแปซิฟิกใต้ ยังพูดถึงตลาดเอเชียใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดใหญ่อย่างอินเดียว่า ตลอด 5 เดือนของปี 2562 ที่ผ่านมา ตลาดอินเดียเติบโตต่อเนื่องมากกว่า 20% จากอานิสงส์ของมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง หรือฟรีวีโอเอ และการทำตลาดด้วยซับเอเย่นต์ที่มีเอเย่นต์รายย่อยกระจายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ของอินเดียราว ๆ 100 กว่าราย

โดยในอีกครึ่งปีหลังนี้ ททท.มีแผนที่จะรักษาการเติบโตเฉลี่ยทั้งปีให้ได้มากกว่า 20% เนื่องจากอินเดียเป็นตลาดสำคัญที่ต้องรักษาเอาไว้ เพราะทั้งมีเสถียรภาพและไม่อ่อนไหวต่อความเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ คาดว่าจบปี 2562 นี้ นักท่องเที่ยวอินเดียอาจทะลุ 2 ล้านคน พร้อมมั่นใจว่าจะสามารถรักษาการเติบโตของรายได้จากนักท่องเที่ยวอินเดียสำหรับปี 2563 ที่ 15% เนื่องจากมาตรการฟรีวีโอเอจะสิ้นสุดในสิ้นเดือนตุลาคมนี้

“กฤษฎา” ยังประเมินด้วยว่า หากไม่ขยายเวลาบังคับใช้มาตรการฟรีวีโอเอ หลังการสิ้นสุดมาตรการจะส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวอินเดียอย่างแน่นอน

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแผนการส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทยเพื่อผลักดันให้ตัวเลขทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ในช่วงสุดท้ายของปีนี้เป็นไปตามเป้าหมาย รวมทั้งช่วยส่งโมเมนตัมที่ดีให้ปี 2563 เป็นปีที่ดีต่อเนื่องอีกด้วย