อพท.เตรียมขยายผลพื้นที่พิเศษ สู่มาตรฐานเมืองสร้างสรรค์โลก

อพท.เตรียมขยายผลนำแนวคิดด้านแผนงานการพัฒนาสภาพแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐานท้องถิ่น ทรัพยากรที่โดดเด่นของพื้นที่ต่อยอดพัฒนาเมืองในพื้นที่พิเศษมุ่งสู่เมืองสร้างสรรค์

นางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล ประธานกรรมการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ในฐานะผู้ริเริ่มการขับเคลื่อนและผลักดันแนวคิดเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของจังหวัดสุโขทัย เปิดเผยว่า ได้วางแนวทางการพัฒนาจังหวัดสุโขทัย ภายหลังได้รับการประกาศเข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and Folk Art) จากองค์การยูเนสโก โดย อพท.จะร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการรวบรวม ฟื้นฟู พัฒนาและต่อยอดงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านของจังหวัดสุโขทัย

ทั้งนี้ จะใช้ความคิดสร้างสรรรอบละนวัตกรรมเป็นปัจจัยในการขยายโอกาสทั้งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมพื้นถิ่น เพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และการพาณิชย์แก่ผู้ผลิตงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ตลอดจนผู้ประกอบการด้านวัฒนธรรมในพื้นที่ เพื่อสร้างกลไกขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในระดับฐานราก

นางปริศนากล่าวว่า แนวทางการดังกล่าวจะส่งผลต่อการขยายตัวของรายได้จากการท่องเที่ยวของจังหวัดและภาพรวม และเพิ่มขีดความสามารถในการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านงานศิลปหัตถกรรม และความร่วมมือระหว่างจังหวัดสุโขทัยกับสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโกกว่า 246 เมืองจากทั่วโลก โดยอาศัยความร่วมมือจากจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทุกภาคส่วนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนให้การขับเคลื่อนเป็นไปตามเป้าหมายของการเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์

“อพท.และจังหวัดสุโขทัยจะเร่งบูรณาการความร่วมมือพัฒนาและส่งเสริมในการใช้ UNESCO Creative City เป็นโมเดลสำคัญของการพัฒนาเมือง ตามเป้าหมายการพัฒนาตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในปี 2560-2564”

นางปริศนากล่าวและว่าสำหรับในปี 2563 นี้ อพท.จะนำแนวทางการดำเนินงานของเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ มาทำให้เกิดการพัฒนาและบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานทุกระดับในพื้นที่แต่ละจังหวัด

โดยเป้าหมายคือเมืองในพื้นที่พิเศษตามพระราชกฤษฎีกาเดิม ได้แก่ น่าน, สุพรรณบุรี, เชียงราย และเพชรบุรี เพื่อเตรียมพร้อมสู่การยื่นใบสมัครเสนอขอเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO ในปี 2564 และนำประโยชน์จากโมเดลการพัฒนานี้ไปใช้เป็นทางเลือกหนึ่งในการพัฒนาเมืองในพื้นที่พิเศษเพื่อความยั่งยืนต่อไป